Make Appointment

เรื่องต้องรู้ของเด็กคลอดก่อนกำหนด (modernmom)

22 Sep 2016 เปิดอ่าน 1981

สำหรับพ่อแม่ 32 คือตัวเลขที่พ่อแม่หวังสำหรับลูกน้อยเมื่อเกิดมาให้ครบ 32 แต่สำหรับคุณหมอแล้ว 38 เป็นเลขที่อยากให้สำหรับหนูในท้องคุณแม่ เพราะคืออายุครรภ์ที่คุณแม่ควรจะอุ้มท้องเจ้าหนูให้ถึง 38 สัปดาห์ เพราะหากเด็กคลอดก่อน 38 สัปดาห์นั้น ย่อมมีปัญหาสุขภาพตามมา แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้การเข้าใจในภาวะของเด็กคลอดก่อนกำหนด ก็จะช่วยให้พ่อแม่รับมือได้ดีขึ้น

สาเหตุคลอดก่อนกำหนด

          ทารกเกิดก่อนกำหนด คือทารกที่เกิดมาในขณะที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถสรุปได้แน่ชัดว่าสาเหตุโดยตรงของการคลอดก่อนกำหนดคืออะไร ข้อมูลทางวิชาการพบปัจจัยมากมายที่ร่วมกันเป็นความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจแบ่งกลุ่มดังนี้

         ปัจจัยจากคุณแม่ คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด อาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยปกติบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และทวารหนักของผู้หญิงมีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอาศัยอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเมื่อคุณแม่มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เชื้อเหล่านี้อาจฉวยโอกาสเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ เกิดการติดเชื้อในครรภ์แล้วกระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนดได้

         นอกจากนี้มีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ชอบไปอาศัยอยู่ในช่องคลอดหรือทวารหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ บางครั้งเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบในช่องคลอด กระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนด หรือกระตุ้นให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตกแล้วคลอดก่อนกำหนดตามมาได้เหมือนกัน และมักมีคนถามว่า ความเครียดของคุณแม่อาจเป็นสาเหตุได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งผลสรุปได้เพียงแต่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมักพบปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น คุณแม่ที่มีฐานะทางครอบครัวยากจน คุณแม่ที่ทำงานหนัก คุณแม่ที่สูญบุหรี่ หรือแม้กระทั่งติดยาเสพติด แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญระดับชาติคือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แม้จะมีการรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดอย่างแพร่หลาย แต่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลับยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เห็นตัวเลขจากข้อมูลสาธารณสุขแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ในจำนวนการเกิดทารกมีชีพทั้งประเทศ มีถึงร้อยละ 15 ที่เกิดจากแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และในทารกกลุ่มนี้ ร้อยละ 14 เป็นทารกเกิดก่อนกำหนด

          ปัจจัยจากตัวทารกเอง ทารกที่มีความพิการบางอย่าง หรือมีโรคทางพันธุกรรมบางชนิดก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ ทารกบางรายเจริญเติบโตช้าในครรภ์ อาจเป็นเพราะสุขภาพแม่ไม่แข็งแรง โภชนาการไม่ดี หรือรกเสื่อมสภาพ มีโอกาสเกิดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดเองหรือเกิดจากการที่แพทย์จำเป็นต้องยุติการคลอดเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่หรือชีวิตทารกไว้ก็ได้

         ปัจจัยไฮเทค ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือผลพวงจากการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการช่วยเหลือทางการแพทย์ในคู่สมรสที่มีบุตรยากที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์การตั้งครรภ์แฝดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในกระบวนการการผสมเทียมนั้น จำเป็นต้องมีการใส่ตัวอ่อนที่ผสมแล้วเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง และเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จสูติแพทย์มักใส่ตัวอ่อนประมาณ 2-4 ฟอง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ แฝดได้สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ประมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของหญิงที่ตั้งครรภ์แฝดมักคลอดทารกเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และมีถึงร้อยละ 13-14 ที่คลอดทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์

ปัญหาสุขภาพที่พบ

         คราวนี้เรามาดูกันว่าเมื่อทารกเกิดมาก่อนกำหนด จะต้องเผชิญปัญหาอะไรบ้าง ถ้าจะพูดกันไป อยากตอบว่ามีปัญหาได้ทุกระบบเลย ปัญหาทางระบบหายใจ ปัญหาหลักของทารกในสัปดาห์แรกของชีวิต คือเรื่องการหายใจ ยิ่งอายุครรภ์น้อยเท่าใด ทารกก็จะเสี่ยงต่อการหายใจลำบากหลังคลอด และรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์มีโอกาสหายใจลำบากรุนแรงจนส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังคลอด กว่าจะสมบูรณ์พอที่แพทย์สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้ บางรายกินเวลาหลายสัปดาห์เลยทีเดียว

          ปัญหาการรักษาสมดุลด้านต่าง ๆ ของร่างกาย ทารกกลุ่มนี้จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตนเองได้ดี เปลี่ยนแปลงได้ง่ายมากตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม จึงเห็นกันเสมอ ๆ ว่าทารกต้องอยู่ในตู้อบตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้น้ำตาล เกลือแร่บางอย่างในเลือดมักต่ำจากที่ร่างกายมี เนื่องจากมีเวลาสะสมระหว่างอยู่ในครรภ์คุณแม่ได้น้อย แม้กระทั่งการรักษาสมดุลน้ำก็ไม่ดี ได้สารน้ำมากเกินก็มีปัญหาบวม น้อยเกินก็อาจทำให้ไตล้มเหลว

          ปัญหาระบบหัวใจ ทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบและทิศทางการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดได้ตั้งแต่ระยะแรก ทำให้หัวใจอาจทำงานหนักกว่าปกติ มีภาวะปอดขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้หายใจลำบากเพิ่มขึ้นอีก ถ้ามีอาการมากอาจต้องให้ยาหรือทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไข ผลกระทบของการไหลเวียนเลือดที่ไม่พอ ก็อาจทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไปด้วย เช่น ไตทำหน้าที่น้อยลงทางเดินอาหารเคลื่อนไหวหรือดูดซึมอาหารน้อยลง

          ปัญหาทางระบบประสาท ใน 2-3 วันแรกของชีวิต ทารกที่มีอาการหายใจลำบากรุนแรง หรือมีปัญหาของหัวใจหรือระบบไหลเวียนเลือด อาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในโพรงสมอง ซึ่งอุบัติการณ์จะสูงในทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกที่เกิดภาวะนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการระบบประสาทระยะยาวได้

          ปัญหาการติดเชื้อ ทารกเกิดก่อนกำหนดมีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันด้านต่างๆ เกราะป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย ได้แก่ ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ทั้งในทางเดินหายใจและทางเดินอาหารก็ไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อโรคที่สำคัญที่สุด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทารกได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายมากที่สุดคือการสัมผัสกับคนรอบข้าง เป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคนที่จะมีเชื้อสะสมตามมือและตามร่างกาย โดยไม่ได้ก่อเรื่องอะไร แต่เมื่อมาสัมผัสกับทารกโดยไม่ได้ล้างมือ ไม่ว่าจะโดยตรง หรือผ่านทางอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเกราะธรรมชาติของร่างกายมีช่องทางเข้าได้ง่าย เช่น ผิวหนังที่บางหลุดลอกเป็นแผล หรือบริเวณให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดหรือที่สะดือของทารก เชื้อก็จะเข้าไปเพิ่มจำนวนแล้วก่อโรคได้

         ปัญหาการมองเห็น ทารกเกิดก่อนกำหนด มีการเจริญพัฒนาของเส้นเลือดที่จอประสาทตายังไม่เต็มที่ เมื่อมีปัญหาของระบบอื่น ๆ ข้างต้น โดยเฉพาะระบบหายใจ ทำให้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ด้วยการให้ออกซิเจนเพื่อรักษาชีวิตให้รอดการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนในเลือดมีผลต่อการตึงตัวของเส้นเลือดที่จอประสาทตา โดยระดับออกซิเจนที่สูงขึ้นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เกิดการขาดเลือดของจอประสาทตาบริเวณที่เส้นเลือดยังงอกไปไม่ถึง เส้นเลือดใหม่ที่งอกใหม่จะมีลักษณะที่ผิดปกติ และมีเยื่อพังผิดดึงรั้งทำให้จอประสาทตาหลุดลอกได้ ยิ่งน้ำหนักน้อยยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติทางการมองเห็นซึ่งความรุนแรงน้อยกว่า ได้แก่ สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ตาเหล่หรือตาส่าย

พัฒนาการเด็กคลอดก่อนกำหนด

         เมื่อทารกเหล่านี้รอดชีวิตจนกลับบ้านได้แล้ว สิ่งที่พ่อแม่มักเป็นกังวล ก็คือลูกจะมีพัฒนาการอย่างไร บางคนถามว่าลูกจะเรียนหนังสือได้หรือไม่ จะปัญญาอ่อนหรือเปล่า คงต้องตอบว่าทารกเกิดก่อนกำหนดเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการทางระบบประสาทระยะยาวไม่มากก็น้อย ที่มักพบได้แก่ ภาวะสติปัญญาบกพร่อง สมองพิการ ชัก ความบกพร่องของทักษะการเรียนรู้โรคซนจากสมาธิสั้น เป็นต้น แต่พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยที่เกิดก่อนกำหนดได้ไม่ยากค่ะ

         อ้อมกอดของพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกิดก่อนกำหนดควรพยายามทำตัวไม่ให้เครียดหรือเครียดกังวล ท่านที่ยังปรับตัวไม่ได้ หรือกลัวที่จะเข้ามาเยี่ยม ยิ่งทำให้ลูกขาดปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว สถานพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่งยินดีให้คุณพ่อคุณแม่มาเยี่ยมลูกได้อย่างสม่ำเสมอ บางแห่งมีห้องให้คุณแม่นอนค้างคืนได้ เพื่อให้คุณแม่ได้เรียนรู้และฝึกการดูแลลูกด้วยตนเองแม้ขณะที่ลูกอยู่ในตู้อบ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสัมผัสลูกได้ด้วยการลูบไล้ลูกที่ลำตัวหรือแขนขา สัมผัสรักจากพ่อแม่จะเป็นการถ่ายทอดความรักความอบอุ่นให้ลูกรับรู้ได้ ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางร่างกายและพฤติกรรมอารมณ์ระยะยาวได้ดีอีกด้วย

         นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้เรียนรู้ คือพฤติกรรมของลูก สังเกตและเข้าใจภาษากายของลูก ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้น กังวล เครียดน้อยลง หากลูกสามารถออกจากตู้อบได้ แพทย์และพยาบาลมักส่งเสริมให้คุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ให้นั่งเก้าอี้โยกและอุ้มลูกไว้แนบอก ให้ผิวกายของลูกนอนแนบชิดกับผิวกายส่วนหน้าอกของคุณแม่ โดยตรงปราศจากเสื้อผ้าหรือสิ่งเกิดขวางอื่น ๆ ใส่เฉพาะหมวกกับผ้าอ้อมเท่านั้น แล้วห่มแล้วลูกพร้อมกับอกแม่ด้วยผ้าห่มที่หนาพอเหมาะหันศีรษะลูกไปด้านข้างเพื่อให้ใบหูแนบกับเสียงหัวใจแม่ อาจพูดคุยหรือร้องเพลงกล่อมลูกเบา ๆ วิธีนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า Kangaroo Care ซึ่งไม่ว่าจะทำโดยคุณพ่อหรือคุณแม่ ทำให้ลูกน้อยอบอุ่น หลับได้นานขึ้น หายใจสม่ำเสมอ รับนมได้ดี น้ำหนักตัวเพิ่มเร็ว เป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางระบบประสาทและพฤติกรรมอารมณ์ของลูกได้ดียิ่ง นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อคุณแม่ทำให้คลายกังวล น้ำนมไหลดีขึ้นอีกด้วย

          หลับดีสุขภาพดี เวลาลูกอยู่ที่บ้านต้องระวังเรื่องอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม อากาศเย็นเกินไปก็ทำให้ลูกตัวเย็น อากาศร้อนหรือห่มผ้าหนาเกินไปก็ทำให้ลูกมีใช้ได้ ถ้าบ้านอยู่ในตัวเมืองหรือคอนโดมิเนียมติดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิไว้ระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส อาจให้ลูกใส่เสื้อผ้าเด็กแขนสั้นหรือแขนยาวที่เนื้อผ้าไม่ต้องหนามากใส่หมวก ถุงมือถุงเท้าขณะนอนหลับ แล้วห่มผ้าสำลีทับอีกหนึ่งชั้นก็พอ สำหรับบ้านที่ที่อยู่ในที่โล่ง เปิดหน้าต่าง ช่วงกลางคืนอากาศมักเย็นลงอีก ควรห่มผ้าให้ลูกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั้น ต้องระวังไม่วางที่นอนลูกไว้ใกล้หน้าต่าง หรือพัดลมที่เป่าลมโดนตัวลูก

         ลูกที่เกิดก่อนกำหนดจะมีพฤติกรรมการนอนที่ต่างจากทารกครบกำหนดบ้างในช่วง 1-2 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกว่า ในวันหนึ่ง ๆ ลูกจะใช้เวลากับการนอนค่อนข้างมากกว่าช่วงตื่น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเห็นว่าการนอนแต่ละครั้งของลูกก็จะไม่นาน เช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถทนกับสิ่งเร้าต่อประสาทสัมผัสพร้อมกันหลาย ๆ ด้านที่มากเกินไปได้ แสงและเสียงรบกวนมีผลต่อการหลับของลูกค่อนข้างมาก การกอดลูกในอ้อมอก ลูบตัวเบา ๆ เปิดเสียงเพลงในจังหวะช้า ๆ และเบา ๆ น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้สนิท หากให้นอนบนเตียงอาจใช้ผ้าห่มผืนใหญ่ม้วนตามยาวโอบล้อมตัวลูก โดยให้แขนขาของลูกงอเข้ามาชิดลำตัวจะช่วยทำให้ลูกสงบและหลับได้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรับรู้การเปลี่ยนแปลงของกลางวันและกลางคืน โดยเปิดม่านให้แสงเข้าพอควร พูดคุยหรือร้องเพลงเบา ๆ กับลูก เท่าที่ลูกจะรับได้ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนควรใช้ไฟสลัว ๆ พยายามจัดให้ลูกนอนในที่ที่มีเสียงรบกวนน้อยที่สุด อาจมีเสียงเพลงกล่อมได้เบา ๆ ต้องระวังเป็นพิเศษอย่าให้ลูกนอนบนหมอนหรือที่นอนที่นุ่มและยวบตัวง่าย เพราะจะเสี่ยงต่อการกดใบหน้าลูกขัดขวางการหายใจได้

โดย : รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://baby.kapook.com/view34897.html