Make Appointment

โรคของมือที่พบบ่อย นิ้วล็อก มือชา นิ้วงอไม่ได้เหยียดไม่ออก

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 2547

  แพทย์จุฬาฯ เผยโรคของมือที่พบบ่อย พบตั้งแต่โรคมือชา นิ้วล็อก แนะสตรีวัยกลางคน อย่าหิ้วของหนัก อย่าหักโหมงานบ้าน ซักผ้า บิดผ้า รวมทั้งตีกอล์ฟ คนเป็นเบาหวาน รูมาตอยด์เสี่ยงนิ้วล็อกได้มากกว่า หากพบอาการนิ้วสะดุด นิ้วงอไม่ได้ เหยียดไม่ออก ให้รีบพบแพทย์รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ปัจจุบันนิ้วล็อกรักษาได้ด้วยการรับประทานยา กายภาพบำบัดและผ่าตัด
       

       รศ.นพ.ประวิทย์ กิติดำรงค์สุข หน่วยศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวบรรยายเพื่อประชาชนเรื่องโรคมือที่พบบ่อย จัดโดยชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า โรคของมือที่พบบ่อยมีตั้งแต่มือชา นิ้วเหยียดงอผิดปกติ นิ้วล็อก โรคเหล่านี้ไม่ทำให้เสียชีวิตแต่รบกวนการใช้ชีวิต เนื่องจากมีอาการปวด ก่อความรำคาญ บางคนตื่นมากลางดึกเพราะความปวดแล้วก็นอนไม่หลับ ประกอบกิจวัตรประจำวันไม่ได้ สูญเสียคุณภาพชีวิต
       
       รศ.นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า โรคมือชาเกิดจากเส้นประสาทมีเดียน บริเวณอุโมงค์มือหรือที่หมอดูเรียกว่า บริเวณเส้นชีวิตถูกปลอกเส้นประสาทรัด หรือเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ ทำให้มือชา นิ้วมือเหยียดงอไม่ได้ การรักษาทำได้ตั้งแต่เฝ้าดูอาการ รับประทานยา ทำกายภาพบำบัดหรือถึงขั้นผ่าตัด แล้วแต่ความรุนแรงของโรค ส่วนโรคนิ้วล็อกเป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมือ โรคนี้พบในผู้หญิงร้อยละ 80 พบในผู้ชายร้อยละ 20 โดยพบในผู้หญิงวัยกลางคนมากที่สุด ในกลุ่มอายุ 50-60 ปี ส่วนในผู้ชายพบในกลุ่มอายุ 40-70 ปี สาเหตุของโรคนิ้วล็อกเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะผู้หญิงให้มือทำงานที่ซ้ำ ๆ มากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้ชายใช้มือทำงานออกแรงรุนแรงแต่ไม่ซ้ำซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ถ้าต้อง หิ้วถุงหนัก ๆ การบิดผ้า ซักผ้า การกวาดบ้าน ถูบ้าน สับหมู สับไก่ ใช้กรรไกรตัดผ้า เกิดนิ้วมือล็อกคลายไม่ออกจนต้องมาพบแพทย์ คนที่มีอาชีพเจาะขุดถนน มีความเสี่ยงต่อโรคนิ้วล็อกอย่างมาก การทำงานเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน ทำให้เอ็นนิ้วมือเสียดสีกับปลอกรัดเอ็นทำให้เกิดการหนาตัวขึ้นของเส้นเอ็น หรือการหนาตัวขึ้นของปลอกรัดเอ็น เกิดการเสียสัดส่วนของอุโมงค์เส้นประสาท ทำให้เอ็นไม่สามารถลอดผ่านได้ ส่งผลให้เกิด การฝืด การตึง สะดุด กระเด้ง จนถึงนิ้วล็อกในที่สุด นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น
       
       “ผู้ที่เป็นโรคมือชาหรือโรคนิ้วล็อกควรพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษามีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค การรักษานิ้วล็อกในระยะแรกคือการพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง การรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด การทำกายภาพบำบัด เช่น การแช่พาราฟิน การทำอัลตราซาวด์ก็อาจช่วยลดการอักเสบและการติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกรัดเอ็น แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอาจจะให้การรักษาด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณปลอกเอ็น ซึ่งสเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็นและปลอกเอ็นทำให้อาการดีขึ้นได้แต่การฉีดยาอาจทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ในระยะเวลาไม่นานประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายจากอาการนิ้วล็อก ส่วนอีกร้อยละ 25 จะหายหลังจากการฉีดยาเข็มที่ 2 ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง เพราะครั้งต่อไปจะไม่ได้ผล บางคนแพ้สเตียรอยด์มีจุดฝ้าที่ใบหน้า แต่ไม่นานจะจางไปเอง แต่หากนิ้วล็อกติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาก็ไม่ได้ผล ต้องผ่าตัด เพราะเปิดลงไปตัดเส้นเอ็นและปลอกรัดเอ็นที่ติดยึดขวางทางผ่านของเอ็นให้ผ่านไปได้” รศ.นพ.ประวิทย์ กล่าว
       
       รศ.นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันแพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน พัฒนาการผ่าตัดแบบเจาะ ใช้เข็มหรือเครื่องมือทำฟันเจาะสะกิดบริเวณปลอกรัดเอ็นที่รัดตึงให้เอ็นทำงานได้สะดวก ซึ่งศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ทำการผ่าตัดแบบเจาะแล้วเช่นกัน แต่หากไม่มีความชำนาญอาจทำอันตรายต่อเส้นประสาท เส้นเอ็นบริเวณข้างเคียงได้ วิธีนี้จะใช้ในรายที่พบปลอกรัดเอ็นหนา มีพยาธิสภาพอย่างชัดเจนเท่านั้น

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000025790