นัดพบแพทย์

การเกิดแผลของผู้ป่วยเบาหวาน

28 Aug 2016 เปิดอ่าน 1964

  ในปัจจุบันผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและอ้วน แม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอายุยืนขึ้น แต่ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องทำให้ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล

           การเกิดแผล (ulceration) การติดเชื้อภาวะเนื้อตายเน่า (gangrene) และภาวะเท้าผิดรูปจากความผิดปกติของเส้นประสาทในผู้ป่วยเบาหวาน (Charcot foot) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยต้องถูกตัดขา เพราะฉะนั้นการป้องกันการเกิดแผลจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งดีกว่ารอให้เกิดแผลแล้วค่อยทำการรักษา

         การเกิดแผล (ulceration) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน การเกิดแผลก่อให้เกิดพยาธิภาวะหรือความพิการ (amputated) รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยถูกตัดขา เท้าหรือนิ้วเท้า และอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิต

         สาเหตุของการเกิดแผลที่เกิดขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าผู้ป่วยเบาหวานมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งมักทำงานร่วมกัน โดยมี

3 สาเหตุหลัก ได้แก่

- ภาวะโรคเส้นประสาท (neuropathy) เป็นสาเหตุของการเกิดแผลที่พบได้บ่อยที่สุด ภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการชา ไม่มีความรู้สึกที่เท้าและขาส่วนล่าง ผลก็คือเมื่อผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวไปเหยียบเศษแก้ว เศษไม้ อาจไม่รู้สึกอะไร จึงไม่รู้ว่าตนเองได้มีแผลแล้ว

- ภาวะขาดเลือด (ischemia) พบในผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดแผลถึงร้อยละ 38-52 ภาวะนี้จะทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ตามมา ซึ่งการดำเนินของโรคนี้ในผู้ป่วยเบาหวานจะเร็วกว่าผู้ไม่ได้เป็น

- ภาวะติดเชื้อ (infection) ทั้งภาวะโรคเส้นประสาท (neuropathy) และภาวะขาดเลือด (ischemia)  เป็นสาเหตุส่งเสริมให้มีการติดเชื้อ การติดเชื้ออาจทำให้แผลลุกลามกลายเป็นแผลมีหนอง กระดูกอักเสบและเป็นหนองในระยะเวลาอันสั้น แผลติดเชื้ออาจไม่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานรู้สึกปวดแผลเนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการชา จึงเพียงแค่เห็นเท้าบวมแดงและอาจมีไข้ ฉะนั้นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเท้าจึงมีความสำคัญมาก

สำหรับลักษณะเท้าที่อาจก่อให้เกิดแผล ได้แก่

การมีผิวหนังเท้าแห้ง แตกเป็นร่อง เท้าที่มีตาปลา หูด ปุ่มปม หนังหนา เท้าที่มีเล็บเท้าผิดรูป เล็บเท้าขบ เท้าที่มีเล็บติดเชื้อรา เท้าที่มีแผลรองเท้ากัด เท้าที่มีนิ้วเท้าผิดรูป มีแง่งกระดูก

การรักษาแผลเบาหวาน

ตัวผู้ป่วยเบาหวานนอกจากเองที่จะต้องให้ความร่วมมือกับการรักษาของแพทย์แล้ว

แพทย์ ในด้านการรักษาโดยยังต้องอาศัยแพทย์จากหลายฝ่าย เช่น ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์กระดูก อายุรแพทย์หัวใจ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ วิสัญญีแพทย์ เป็นต้น แพทย์ในแต่ละสาขาจะมีแนวทางการรักษาตามสาเหตุที่เกิดแผลอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วยเบาหวานแต่ละราย โดยตัวอย่างวิธีการรักษาแผลเบาหวานที่สำคัญ ได้แก่ การใช้ยา การใช้ยาร่วมกับการตัดแต่งแผล การผ่าตัด การใช้หนอนแมลงวัน เป็นต้น

             การดูแลเท้าเพื่อป้องกันการเกิดแผล สามารถทำได้โดยการทำความสะอาดเท้าอย่างสม่ำเสมอ การตัดเล็บอย่างถูกต้อง ซึ่งในบางรายอาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ผู้ป่วยที่พบว่าตัวเองมีอาการหรือมีสัญญาณของโรคควรมาพบแพทย์เพื่อป้องกันอาการมากขึ้นของแผล หมั่นดูแลความผิดปกติของเท้า ควรใส่รองเท้าที่ไม่คับมากไปเพื่อป้องกันการกัดส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า และหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันสิ่งกีดขวางอันอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

อย่าลืมว่าหากผู้ป่วยเบาหวานมีแผลจะหายยาก แผลเกิดได้ทุกที่ ทั้งศีรษะ มือ แขน ไม่เฉพาะขา เท้า หรือนิ้วเท้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นการดูแลและปฏิบัติที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาการจะลุกลามได้.

 

 

ศ.นพ.จุมพล วิลาศรัศมี
อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

* ขอบคุณข้อมุลจาก : http://www.thaidiabetes.com