นัดพบแพทย์

คู่มือพิทักษ์กระดูกและข้อ

07 Sep 2016 เปิดอ่าน 1572

ลองถามตัวเองไหมว่า แต่ละวันคุณนั่งอยู่กับที่กี่ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่นั่งรถไปทำงาน หรือไปโรงเรียน นั่งเรียนหนังสือ นั่งทำงาน นั่งกินข้าว นั่งดูทีวี บางทีคุณอาจพบว่า ชีวิตตลอดทั้งวันรวมแล้วนั่งมากกว่า ยืน เดิน และนอนรวมกันเสียอีก

ยังไม่นับท่านั่งที่ถูกต้อง และการนอนที่ถูกสรีระ ซึ่งอิริยาบถอากัปกิริยาของร่างกายตลอดทั้งวันมีผลต่อกระดูกและข้อต่างๆ ในร่างกาย ไม่เฉพาะแต่วิถีแบบคนเมือง เคยมีรายงานวิจัยโดยแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีศึกษาพบว่า วิถีชีวิตแบบไทยอย่างเช่นนั่งกินข้าวกับพื้นก็มีผลต่อกระดูกหลัง และปัญหาปวดหลัง ปวดเอว เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยมาจากชีวิตวิถีเมือง หรือวิถีไทย ผลกระทบเริ่มปรากฏภาพให้เห็นชัดขึ้นจากการศึกษาที่พบข่าวร้ายว่า โรคเกี่ยวเนื่องกับกระดูกขึ้นแท่นเป็นแชมป์อันดับหนึ่งของกลุ่มศัลยกรรมต่อยอด

ข้อมูลข้างต้นมาจากคำให้การของ ศ.เกียรติคุณ นพ.เจริญ โชติกวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

ปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อเพิ่มมากขึ้นมาจากปัจจัยพื้นฐานอย่างอายุ,พฤติกรรม, วิถีชีวิต รวมถึงอุบัติเหตุ 

อายุขัยของมนุษย์ที่ขยับเพิ่มเกณฑ์เฉลี่ยจาก 75-77 ปี ก็เพิ่มมาเป็น 80 ปี และยังพบอีกว่า เริ่มมีผู้ที่อายุมากกว่า 100 ปีในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทว่า ยิ่งอายุมาก ความเสื่อมของร่างกายก็ยิ่งมากขึ้น รวมถึงกระดูกและข้อด้วย และในส่วนของพฤติกรรม

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ การนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่เราใช้เวลาอยู่กับมันมากขึ้นทุกวันทำให้ปวดหลังปวดคอ รวมถึงการนอนดูทีวี ที่ทำให้ปวดคอได้

ส่วนปัจจัยด้านวิถีชีวิตยังเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน โดยเฉพาะการกินที่มากจนเกินไปหรือกินแต่อาหารจานด่วนส่งผลต่อน้ำหนักตัว ยิ่งอ้วน กระดูกและข้อต่อก็จะยิ่งทำงานหนัก ทั้งการซื้อยากินเองก็เสี่ยงทำร้ายกระดูกและข้อ โดยเฉพาะยาลูกกลอนที่มักผสมสเตียรอยด์ หรือยาต้านการอักเสบที่ส่งผลต่อตับ ไต และกระดูก และปัจจัยสุดท้ายคือ อุบัติเหตุ ทั้งจากการเล่นกีฬา และอุบัติเหตุบนท้องถนน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าสนใจ นั่นคือ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย ซึ่ง นพ.เจริญ ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เพราะโรคกระดูกและข้อสามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก อาจจะอยู่ในรูปเท้าแป ขาโก่ง หากเป็นวัยรุ่น คนทำงาน ก็มีทั้งกระดูกหัก ข้อเคลื่อนจากอุบัติเหตุ เอ็นข้อฉีกขาดจากการเล่นกีฬา

แต่หากอายุมาก กระดูกและข้อก็เกิดการเสื่อมสภาพ กระดูกพรุน โปร่งบาง กระดูกสันหลังยุบตัว หรืออาจจะเป็นภาวะเนื้องอก กระดูกงอก มะเร็งกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังโก่งงอเป็นต้น

การรักษาโรคกระดูกและข้อ มีตั้งแต่การผ่าตัดรักษา ซึ่งมีนวัตกรรมการรักษาที่ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟูได้เร็ว เช่น การผ่าตัดส่องกล้องที่ให้แผลเล็ก การพักฟื้นสั้น รวมถึงการรักษาด้วยการผ่านคลื่นความร้อน เพื่อรักษาอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ทำให้ไม่ต้องผ่าตัด ใช้เวลารักษาเพียง 30 นาทีก็สามารถกลับบ้านได้เลย

ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น และยังมีเวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างธาราบำบัด ที่เหมาะต่อการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อโดยเฉพาะ

แต่สำหรับปีกระต่ายตื่นตัว ใครอยากจะหาวิธีป้องกันกระดูกและข้อของตนเองให้แข็งแรง ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ แนะว่า ควรเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ ควรปลูกฝังให้เด็ก ๆ เล่นกีฬา โดยเลือกให้เหมาะกับวัยและสภาพร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินแล้วนอน งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์ แม้บางคนอาจจะต้องกินเพื่อเข้าสังคม ซึ่งทำได้ แต่อย่ากินจนเป็นกิจวัตร เพราะเท่ากับทำลายตัวเอง

เพียงเท่านี้ ชีวิตก็จะเป็นสุข เพราะใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องปวดข้อหรือกังวลกับกระดูกตัวเองจนไม่เป็นอันทำอะไร

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://kucoop.blogspot.com/2012/06/blog-post_8175.html