นัดพบแพทย์

ตรวจตาหาต้อ ป้องกันโรคต้อหิน

11 Aug 2016 เปิดอ่าน 1990

โรคต้อหิน แบ่งได้เป็น 2 กล่มหลักๆ คือ โรคต้อหินที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ และโรคต้อหินที่มีสาเหตุมาจากโรคตา หรือโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อกระจก อุบัติเหตุ นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ จีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหินได้มากขึ้น ได้รับเกียรติ ผศ.พญ.อนิตา มนัสสากร อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอัพเดตข้อมูลโรคต้อหินให้เราได้ทราบกัน

 โรคต้อหินเกิดจากการอุดตันของทางระบายน้ำภายในลูกตา ทำให้การไหลเวียนของเหลวภายในลูกตาติดขัด ไม่สามารถระบายผ่านไปได้จนเกิดความดันตาสูงขึ้น มาทำลายเส้นประสาทตา และเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็น ยิ่งความดันในลูกตาสูงขึ้นมากเท่าไหร่ เส้นประสาทตาก็ยิ่งเสื่อมเร็วมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความดันตาสูง แต่ลักษณะของขั้วประสาทตาไม่เป็นต้อหิน เราเรียกว่า กลุ่มความดันภายในลูกตาสูง และผู้ที่ความดันตาไม่สูงแต่เป็นต้อหิน เรียกว่าต้อหินชนิดความดันตามปกติ ดังนั้น จึงต้องตรวจตาอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น สำหรับโรคต้อหินแบบไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีอาการ ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น

 การรักษาโรคต้อหินแบบไม่ทราบสาเหตุระยะต้น ในกรณีผู้สูงอายุ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาหยอดเพื่อลดความดันลูกตา โดยใช้ยาที่ผู้ป่วยไม่มีข้อห้าม และไม่เคยแพ้ยา และหลีกเลี่ยงการให้ยาหลายชนิด เนื่องจากยาส่วนใหญ่เป็นยาหยอด ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการหยอดยาและผู้ดูแล ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อย การควบคุมความดันภายในลูกตาให้ต่ำลงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ป่วยอาจจะได้รับยามากกว่า เนื่องจากต้องควบคุมความดันตาเป็นระยะเวลานาน หากไม่ควบคุมให้ดีอาจประสบปัญหาตาบอดได้ ส่วนการรักษาในระยะกลางและระยะปลาย แพทย์จะเน้นที่การควบคุมความดันภายในลูกตาให้ต่ำเข้าไว้ ร่วมกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว เป็นต้น และตรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังอาการที่อาจเพิ่มมากขึ้น โดยการตรวจขั้วประสาทตาและลานสายตา

 รักษาต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การใช้ยา เลเซอร์ และการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและความรุนแรง ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการใช้ยาหยอด ซึ่งมีทั้งหมด 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป โดยแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยาแต่ละตัวอาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ ลักษณะอาการแพ้ที่ควรมาพบแพทย์ คือ ตาแดงและมีอาการคันร่วมด้วย ยาบางกลุ่มเมื่อใช้แล้วอาจทำให้ตาแดงเรื่อๆ กรณีนี้ถือว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา ไม่ใช่การแพ้ยา ผลข้างเคียงจากการใช้ยานอกจากตาแดง จะมีขมคอ คอแห้ง ง่วงนอนมากขึ้น เป็นต้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยา นอกจากยาหยอดแล้ว ยังมียาชนิดรับประทานด้วย ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ต้องการลดความดันภายในลูกตาอย่างรวดเร็ว เป็นการใช้เพียงชั่วคราวในผู้ที่เป็นต้อหินเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานเป็นเวลานาน เพราะยาจะมีผลข้างเคียง ทำให้เกลือแร่ต่ำ มึนงง ชา และซึมได้

 กรณีที่รักษาด้วยการยิงเลเซอร์ มี 2 ชนิด คือ เลเซอร์ป้องกันต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน และเลเซอร์ลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินมุมเปิด แพทย์จะพิจารณารักษาตามความจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยควรพาญาติมาด้วย เพื่อช่วยดูแลขณะเดินทางกลับบ้าน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัว ที่โรงพยาบาลหลังการยิงเลเซอร์ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย

ส่วนการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่การใช้ยาและยิงเลเซอร์ไม่ได้ผล ความดันภายในลูกตาไม่ลดลง เป็นการผ่าตัดเพื่อเจาะทางระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา โดยทั่วไปจะประสบความสำเร็จ 40%-70% ในเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม รูระบายที่เจาะขึ้นนี้ก็เปรียบเสมือนแผล ร่างกายจึงพยายามสร้างเนื้อเยื่อมาปิด ในอนาคตจึงมีโอกาสตันได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคตาอย่างอื่นที่ทำให้เกิดการอักเสบมาก่อน ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดตามาก่อน และผู้ป่วยที่อายุน้อยจะมีโอกาสตันค่อนข้างง่าย หากเกิดกรณีนี้ขึ้นก็ต้องมาเริ่มการรักษากันใหม่อีกครั้ง นอกจากการผ่าตัดเจาะทำทางระบายแบบปกติแล้ว ยังมีการผ่าตัดทำทางระบายของเหลวแบบใส่ท่อ เพื่อให้อยู่ได้นานขึ้น แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือผู้ป่วยบางรายมีเยื่อบุตาบาง อาจเกิดแผลแยกได้

ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดแบบปกติจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ในระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องมาตรวจติดตามผลการผ่าตัดประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าสามารถควบคุมความดันภายในลูกตาได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือมีการอักเสบเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการตามัวลงอย่างรวดเร็ว หลังการผ่าตัด ให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยด่วน หลังการผ่าตัดควรใส่แว่นตาและครอบตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้มีอะไรไปกดกระทบดวงตา เพราะอาจทำให้แผลรั่ว

 ปัญหาหรือความเข้าใจผิดที่พบบ่อย

การหยอดยา การหยอดยาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน ต้องหยอดเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะผู้ป่วยบางรายต้องหยอดยาหลายชนิด ทั้งเช้า เย็น กลางคืน และต้องคอยดูแลให้การหยอดยาเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ดังนั้น ปัญหาแรกที่พบคือการลืมหยอดยา โดยเฉพาะยาที่ต้องหยอดช่วงเช้าถึงเย็น เป็นปัญหาที่พบบ่อยในคนทำงาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการหยอดยาผิดวิธี โดยพบว่าบางรายจะหยอดลงดวงตา บ้างก็หยอดบริเวณหัวตา ซึ่งเป็นตำแหน่งของท่อน้ำตา ทำให้ยาหายไปทางท่อน้ำตา วิธีการหยอดที่ถูกต้องคือ ให้เปิดเปลือกตาล่างแล้วหยอดยาลงไปในอุ้งตาล่าง และหลับตาประมาณ 3-5 นาที

 ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมารับการตรวจดวงตาเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพระจำปี เนื่องจากต้อหินเป็นโรคที่ไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจึงไม่รู้ตัวเลยว่า เริ่มมีจุดที่มองไม่เห็นแล้ว จากนั้นจุดที่มองไม่เห็นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากด้านนอกเข้ามาด้านใน ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกและเริ่มรักษาตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆ ก็จะช่วยถนอมสายตาเราให้ดีไปตลอดชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นโรคต้อหิน นับว่ามีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจเป็นประจำจะดีที่สุด

 

 ผศ.พญ.อนิตา มนัสสากร

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://health.haijai.com/3727/