นัดพบแพทย์

นิ้วล็อก-นิ้วติด โรคฮิตของคนทำงาน รักษาอย่างไร???

15 Sep 2016 เปิดอ่าน 1073

มีปัญหาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับทั้งนักกีฬาและคนธรรมดาบ่อยๆ นั่นคือ อาการ “นิ้วล็อก”และ “ โรคนิ้วติด” เป็นโรคของความเสื่อม เกิดจากปลอกเอ็นนิ้วเสื่อม หรืออักเสบ พบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะพบมากในเพศหญิง แต่ไม่เป็นกันทุกคนและไม่เป็นทุกนิ้ว

อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุ…

สิ่งใดก็ตามที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการบวม และการระคายเคืองของเยื่อบุข้อที่อยู่รอบๆ เส้นเอ็น ทำให้เส้นประสาทถูกกด เช่น เกิดการกระแทกที่บริเวณข้อมืออยู่เป็นประจำ เช่นใช้เครื่องตัดหญ้า เครื่องเจาะสกรู กำไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ กระดูกข้อมือหัก หรือการหลุดเคลื่อนของข้อ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ไขข้ออักเสบ) คนที่เป็นเบาหวาน ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และคนที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากการหมดประจำเดือน

ในชาวเอเชียหรือในชาวไทย พบมากที่นิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือ นิ้วนางและนิ้วก้อยพบน้อย แต่ในชาวตะวันตก(พวกฝรั่ง) จะพบที่นิ้วชี้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้นิ้วในชีวิตประจำวันของแต่ละคน คนไทยมักจะใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางในการบีบ บี้ หิ้วถือของ เช่น หยิบของ หิ้วของที่มีที่หิ้วค่อนข้างเล็ก กำสากตำของ ถือกรรไกรตัดของ จับมีดสับหั่นพืช หรือจับกระสวย ทอผ้า เป็นต้น

สำหรับความเสื่อมในผู้สูงอายุ มักจะไม่เท่ากันตามสภาพของสุขภาพของผู้นั้น ดังนั้น โรคนิ้วติด จึงไม่เกิดกับผู้สูงอายุทุกคน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ปลอกเอ็นเสื่อม และอักเสบ มากกว่าปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคของต่อมไทรอยด์ และโรคในกลุ่มรูมาติซึ่ม เป็นต้น

วิธีสังเกตุอาการ

โดยทั่วไปคนเป็นโรคนิ้วติดมักจะรู้สึกว่าติดที่ข้อนิ้ว แต่โดยความเป็นจริงแล้วพยาธิสภาพส่วนที่เสื่อมอยู่ที่ปลอกเอ็นบริเวณอุ้งมือ ประมาณ 2 เซนติเมตร ต่ำกว่าโคนนิ้ว ถ้าแบมือและกางนิ้วให้เต็มที่แล้ว กดบริเวณนั้น จะพบว่า เจ็บหรือเป็นก้อนนูน โดยมากอาการนิ้วตัดมักจะเป็นในเวลาเช้าๆ ตอนตื่นนอน หรือหลังจากพักอาการใช้มือและนิ้วมากๆ

 ถ้ามีอาการเบื้องต้นต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 * มีอาการชา และรู้สึกซ่าในบริเวณมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการมักจะเกิดในตอนกลางคืน ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับท่าทางในการนอน และหลังจากการใช้มือข้างนั้นๆ

 * การรับความรู้สึกที่บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนางลดลง ทำให้หยิบจับของไม่ถนัด

 * มีอาการรู้สึกแปล๊บๆ หรือคล้ายกับไฟฟ้าช็อตเมื่อทำการเคาะลงตรงข้อมือในบริเวณที่มีเส้นประสาททอดผ่าน อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นในคนที่งอมือเข้าหาท้องแขนเป็นเวลา 1 นาที ถ้าเส้นประสาทนี้ถูกกดทับเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มือแฟบลง

การรักษา

โดยทั่วๆ ไปขึ้นอยู่กับ แต่ความรุนแรงของอาการและความเรื้อรังของโรค ถ้าเป็นน้อยเป็นครั้งแรก คือติดบ้างไม่ติดบ้าง และกดไม่เจ็บ อาจรักษาโดยใช้วิธีการกายภาพบำบัด เช่น แช่พาราฟีนร้อน หรือนวดด้วยไฟฟ้า ถ้าแบบชาวบ้านก็อาจให้กำไข่ต้มสุกใหม่ๆ จนเย็น หรือแช่น้ำร้อน

ถ้ามีอาการเจ็บหรือเป็นบ่อยอาจต้องให้ยาแก้ปวด หรือยาลดอักเสบร่วมด้วย บางรายหมออาจฉีดยาลดอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ให้ ซึ่งจะช่วยได้ระยะหนึ่งแล้วเป็นอีก แต่ฉีดครั้งต่อไปมักจะไม่ค่อยได้ผล เพราะปลอกเอ็นจะแข็งตัว ถ้าได้เป็นก้อนนูนแข็ง นิ้วติดแล้วยืดไม่ออกก็อาจจะต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด เพื่อตัดปลอกเอ็นให้ขาดจากกัน จะไม่ได้ไม่ขัดขวางการยืดหดของเอ็นอีกต่อไป แต่ก็มีความเสี่ยง และมีข้อเสียคือ ทำให้นิ้วนั้นอ่อนแอลงไปบ้าง และอาจลามไปเป็นนิ้วอื่นหรือมืออีกข้างหนึ่งได้

ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยอาจจะใช้วิธีการรักษาโดยวิธีดังต่อไปนี้

* ใส่เครื่องพยุงข้อมือในช่วงเวลากลางคืน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมืองอเวลานอน และช่วยให้เยื่อบุข้อมือและเส้นเอ็นที่อักเสบยุบจากอาการบวม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ

* รับประทานยาลดการอักเสบ

* ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าไปในบริเวณที่เส้นประสาททอดผ่าน ซึ่งยานี้จะแพร่กระจายไปยังบริเวณเยื่อบุผิวข้อ และเส้นเอ็นที่มีการอักเสบ และบวม ทำให้อาการบวมยุบลง การกดเส้นประสาทก็น้อยลง ปริมาณของยาที่ใช้ฉีดไม่มากนักและไม่มีอันตรายที่รุนแรง การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้จะได้ผลดีในกรณีที่เส้นประสาทไม่ถูกกดทับมากนัก ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัดเอาส่วนของพังผืด เส้นเอ็นในส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก หลังผ่าตัดอาการก็จะดีขึ้น อาการปวดลดลง อาการชาลดลง แต่อาจไม่ถึงกับหายสนิทยังจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

วิธีป้องกันโรคนิ้วล้อค

วิธีที่ดีที่สุด คือ รักษาตั้งแต่เมื่อเป็นใหม่ๆ และป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ หรือลามไปที่อื่น เช่นหยุดการใช้นิ้วนั้นชั่วคราว

สำหรับวิธีการที่เหมาะสมคือ เริ่มจากการรักษาทางกายภาพบำบัดและบริหารมือ บริหารนิ้วอยู่เสมอ หรือถ้าเจ็บหรือเรื้อรังก็ต้องปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและตรวจรักษาโรคร่วม อย่าปล่อยทิ้งไว้นานนะครับ อันตราย

นพ. อติเรก จิวะพงศ์, ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์, ศิริราชพยาบาล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.oknation.net/blog/DIVING/2013/12/03/entry-1