ประจำเดือน’แบบไหนมีบุตรยาก

04 Aug 2016 เปิดอ่าน 7982

สาวๆ รู้หรือไม่ ประจำเดือนถือเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของผู้หญิงได้อย่างหนึ่ง และสามารถบอกได้ว่าประจำเดือนแบบไหนที่บ่งบอกถึงภาวะการมีบุตรยาก ในเรื่องนี้ นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์ สูตินรีแพทย์ มาให้ข้อมูลสาวๆ ได้รู้กัน

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการที่ผู้หญิงมีประจำเดือนตามปกติต้องอาศัยการ ทำงานประสานกันระหว่างต่อมใต้สมองส่วนหน้ากับอวัยวะสืบพันธุ์ โดยที่ต่อมใต้สมองจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน FSH ให้สูงขึ้น เพื่อมากระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ และผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง ภาวะใดก็ตามที่ทำให้ระดับฮอร์โมน FSH เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายเปลี่ยนไปจากภาวะปกติ เช่น ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง รังไข่สร้างฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ เยื่อบุโพรงมดลูกบางหรือหนาผิดปกติ จะส่งผลให้รอบเดือนมาผิดปกติ และบางครั้งอาจส่งให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ในอนาคต

ดังนั้น ประจำเดือนที่ปกติมีลักษณะอย่างไร สังเกตดังนี้

          ความถี่ของการมีประจำเดือน ปกติควรมาทุก 21-35วัน จะสามารถตกไข่ตามปกติ 80%ถ้ามีประจำเดือนถี่หรือห่างกว่านี้ มักจะไม่ตกไข่เรื้อรัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาห่างและมีบุตรยาก เนื่องจากไม่มีไข่ไปปฏิสนธิกับอสุจิ เช่น ผู้ป่วย PCOS หรือ PCO มักเป็นผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจมีอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายเด่น เช่น สิว หน้ามัน ขนดก เมื่ออัลตราซาวด์ดูรังไข่จะพบฟองไข่ใบเล็กๆ จำนวนมากที่ไม่สามารถเจริญเติบโตจนสามารถตกออกมาได้สะสมอยู่ภายในรังไข่ จึงเป็นที่มาของโรค Polycystic Ovarian Syndrome กรณีนี้ผู้ป่วยจะมีประจำเดือนทุก 2-3เดือน ผนังโพรงมดลูกที่หนาตัวอยู่เป็นเวลานานเพราะไม่มีการตกไข่ เมื่อหลุดลอกออกเป็นประจำเดือนอาจมีเลือดที่มากกว่าคนปกติ หรือมีลักษณะเป็นลิ่มๆ อีกทั้งถ้าผนังโพรงมดลูกหนาตัวนานหลายปี อาจมีโอกาสตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น

          ปริมาณและระยะเวลาของเลือดประจำเดือนที่ออก ปกติแล้วควรมีระยะอยู่ที่ 2-7วัน และปริมาณที่ออกวัดจากจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ ขนาดปกติไม่เกิน 3-4แผ่นต่อวัน และไม่ควรมีลิ่มเลือดขนาดเกินปลายนิ้วก้อยปนออกมาร่วมด้วย ไม่ควรมีเลือดออกกะปริดกะปรอยหลังจากประจำเดือนหยุดแล้ว ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก และเป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก เพราะตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวและเจริญเติบโตต่อในโพรงมดลูกที่มีความผิดปกติ ได้

          อาการปวดประจำเดือนมีความผิดปกติ เช่น มีอาการปวดท้องน้อยเกือบทุกครั้ง มีอาการปวดหน่วงลงช่องคลอดหรือทวารหนัก ปวดหลัง ที่เกิดขึ้นได้ทั้งก่อน-หลัง หรือระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งมักมีความรุนแรงมากขึ้น การรักษาตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันจะใช้ยาบรรเทาอาการปวด ทั้งยากินและยาฉีดเพื่อลดอาการปวด ซึ่งปริมาณยาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ อาการเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยากเช่นกัน เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่รังไข่ หรือช็อกโกแลตซีสต์

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/knowledge/9601