นัดพบแพทย์

ผ่าข้อสะโพก...ไม่ตัดกล้ามเนื้อ เจ็บปวดน้อย-ฟื้นตัวไว-เคลื่อนไหวสะดวก

23 Feb 2016 เปิดอ่าน 4342

 

แม้โรคข้อสะโพกเสื่อมจะเป็นโรคที่พบได้น้อยที่สุดในบรรดาความเสื่อมของกระดูก เช่น กระดูกสันหลังหรือข้อเข่า แต่ถ้าเทียบความเจ็บปวดที่เกิดจากภาวะการเสื่อมแล้ว ต้องถือว่า ข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดและทรมานมากกว่าโรคกระดูกเสื่อมอื่นๆ

โรคข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่พบบ่อยในคนที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะมากกว่า 60 ปี ส่วนหนึ่งเป็นความเสื่อมจากการที่ผิวข้อ เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ มีการเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดอาการปวด ทั้งเวลาที่เคลื่อนไหวหรือแม้แต่เวลาลุกหรือนั่ง

นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ภาวะข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากการที่ผิวข้อสะโพกเริ่มสึกหรอ กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกมีความแข็งแรงน้อยลง กระดูกบริเวณข้อสะโพก และรอบๆข้อบางลง ซึ่งมักพบในผู้ที่อายุมากหรือผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบว่าคนวัยกลางคนมีภาวะของ กระดูกสะโพกตาย มากขึ้น ทำให้มีอาการปวดสะโพกเรื้อรัง เวลาลุกนั่งจะรู้สึกเจ็บ

“ในต่างประเทศจะพบผู้ป่วยกระดูกสะโพกเสื่อมมากกว่าประเทศไทยที่ขณะนี้พบว่าคนในวัยแค่ 40 กว่าๆ ก็มีอาการของกระดูกสะโพกตาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ การได้รับยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานทำให้เกิดการสะสมในปริมาณมากในร่างกาย”

นพ.พนธกร บอกด้วยว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดสะโพกเรื้อรัง เวลาเคลื่อนไหว เดิน นั่ง หรือเหยียดและงอข้อสะโพกจะมีอาการปวดขัดในข้อ มีเสียงลั่นในข้อ ในรายที่เป็นมากๆ แม้แต่นั่งเฉยๆ ก็มีอาการปวด ถ้าเป็นมากกระดูกจะยุบตัวลงทำให้ขาสองข้างไม่เท่ากัน

“การรักษาข้อสะโพกเสื่อมหรือกระดูกสะโพกตาย ในระยะเริ่มแรก อาจใช้วิธีการรักษาด้วยยา เช่น ให้ยาลดอาการอักเสบ ลดการปวด ร่วมกับทำกายภาพเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อข้อสะโพก แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด” คุณหมอพนธกรบอก

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดข้อสะโพกด้วยวิธีดั้งเดิมหรือแบบเดิมๆ จะทำการผ่าตัดโดยวิธีหลักๆ 2 วิธี คือ การผ่าตัดโดยเปิดแผลเข้าทางด้านหลัง (Posterior approach) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีกล้ามเนื้อเยอะ ในการผ่าตัดจำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อออก เพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไปแล้วจึงเย็บกล้ามเนื้อกลับเข้าไปอีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดใหญ่ยาวถึงประมาณ 10-12 นิ้ว การฟื้นตัวค่อนข้างช้าเพราะเป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อถึงกระดูก อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 8-16 สัปดาห์ ที่สำคัญคือ โอกาสที่ผ่าตัดไปแล้วจะเกิดข้อสะโพกหลุดมีตั้งแต่ 0.5-2% และ การผ่าตัดเข้าทางด้านข้าง (Lateral approach) ซึ่งก็เป็นการผ่าตัดที่ต้องทำการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพกออกเช่นเดียวกัน และการผ่าตัดโดยเข้าทางด้านข้างนี้ แพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากมีกล้ามเนื้อสำคัญค่อนข้างมากในบริเวณดังกล่าว

“การตัดกล้ามเนื้อระหว่างการผ่าตัด จะส่งผลให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดของคนไข้ช้าลง บางรายหลังผ่าตัดยังเดินไม่สะดวก ต้องอาศัยไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยการเดิน ความเสี่ยงต่อข้อสะโพกเทียมหลุดหลังผ่าตัดรวมถึงอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดมีมากกว่า” คุณหมอพนธกรอธิบาย

ล่าสุดมี เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่า Direct Anterior Approach Total Hip Replacement ซึ่ง คุณหมอพนธกร บอกว่า เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป

“การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เป็นการผ่าตัดทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นการผ่าตัดโดยการเข้าทางด้านหน้า ซึ่งเป็นการเข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor fascia lata และ Sartorius ซึ่งจะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ ขณะผ่าตัดเลย แต่จะใช้เครื่องมือพิเศษแหวกกล้ามเนื้อเข้าไปและยกกระดูกขึ้นเพื่อใส่ข้อสะโพกเทียมเข้าไป การผ่าตัดแบบนี้ผู้ป่วยจะได้รับความบอบช้ำน้อยกว่า ฟื้นตัวได้ดีและเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยมาก” ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อบอก

คุณหมอพนธกร ยังบอกด้วยว่า แผลผ่าตัดด้วยวิธีการใหม่นี้มีขนาดเล็กแค่ประมาณ 4-5 นิ้วและเป็นแผลผ่าตัดที่อยู่ตามแนวขาหนีบ ซึ่งมองไม่เห็นหลังผ่าตัดในบางรายคนไข้สามารถเดินได้เลย อัตราการปวดในบางรายเป็นศูนย์ ขณะที่การผ่าตัดทั่วไปจะมีอาการปวดมากหลังผ่าตัด ที่สำคัญที่สุด เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ ทำให้อัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดลดลง ไม่มีความจำเป็นต้องระวังข้อสะโพกเทียมจะหลุดหลังผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

ด้วยเทคนิควิธีการที่ทันสมัยที่ทำให้ความบอบช้ำ เจ็บปวดจากการผ่าตัดข้อสะโพกลดลงเช่นนี้ เชื่อว่าเทคนิคนี้จะกลายเป็นมาตรฐานการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้.

ที่มา