นัดพบแพทย์

วัณโรค...เต็มสังคมไทยเหตุไม่กินยาตามหมอสั่ง

11 Sep 2016 เปิดอ่าน 1583

วัณโรคยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ที่บอกว่าเมืองไทยวัณโรคหายไปตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เนื่องจากขณะนี้อัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี และการรักษายังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้า สิ่งสำคัญเป็นเพราะผู้ป่วยยังปฏิเสธที่จะรักษาจนหายขาด

ด้วยการไม่รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งจนครบกำหนด ทำให้เชื้อวัณโรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นเป็นวงกว้าง ศ.นพ.ประพาฬยงใจยุทธ นายกกรรมการบริหารสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฉายภาพสภาพการณ์วัณโรคของประเทศไทย

ปี2552 องค์การอนามัยโลกจัดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่18 ใน22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครุนแรงมากที่สุดในโลกเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงถึงปีละกว่า 9 หมื่นรายในจำนวนนี้กว่า 4 หมื่นรายเป็นกลุ่มที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อและเป็นผู้ป่วยดื้อยา 2,843 รายเสียชีวิตปีละ 6 - 7 พันรายและมีผู้ป่วยที่ยังหาตัวไม่พบอีกราว 25 % ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์จะมีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ

การติดเชื้อวัณโรคเกิดได้ง่ายจากการหายใจรับเชื้อชนิดนี้เข้าไปในภาวะที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด คนที่คุมน้ำหนักจนขาดอาหารหรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีมีโอกาสติดเชื้อวัณโรคเกินกว่า 60 % ที่น่าห่วงคือ การอยู่ในสังคมปกติไม่สามารถทราบได้ว่าใครบ้างที่ป่วยเป็นวัณโรค โอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อจึงมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น ศ.นพ.ประพาฬกล่าวว่า

ศ.นพ.ประพาฬอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อร่างกายหายใจเอาเชื้อวัณโรคซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีปลอกหุ้มเป็นกรดเข้าไปในภาวะที่ร่างกายแข็งแรงดี เม็ดเลือดขาวจะสามารถทำลายเชื้อได้ คนผู้นั้นก็จะไม่ติดเชื้อ ทว่า กรณีรับเชื้อเข้าไปในปริมาณมาก จะมีเชื้อบางส่วนที่รอดพ้นจากการทำลายของเม็ดเลือดขาว แล้วไหลตามกระแสน้ำเหลืองไปที่ขั้วปอด กระทั่งถึงช่วงเวลาที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อจะกำเริบโดยจะเข้าไปอยู่ในปอดและค่อยๆแบ่งตัว ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อถึงการแสดงอาการค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ปี

ผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจามเชื้อชนิดนี้จะออกมาด้วย และจะมีระยะเวลาลอยอยู่ในอากาศประมาณ 15 นาทีผู้ที่เดินผ่านไปมาบริเวณดังกล่าวก็จะได้รับเชื้อ หลังจากเชื้อตกลงสู่พื้นดินก็ยังสามารถติดเชื้อวัณโรคได้ หากทำให้ดินฟุ้งกระจาย เพราะเชื้อวัณโรคมีความดื้อด้านสูง เคยมีการตรวจพบรอยโรคในมัมมี่ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5 พันปีเมื่อตรวจสอบพบว่าเป็นเชื้อวัณโรค และได้นำมาเพาะเชื้อปรากฏว่าเชื้อนั้นฟื้นขึ้นใหม่ได้อีกศ.นพ.ประพาฬกล่าว

ศ.นพ.ประพาฬกล่าวอีกว่า การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรค แพทย์จะทำการเอ็กซ์เรย์ปอด โดยผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแสดงอาการของโรค จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของฝ้าในปอดประมาณ 2 เซนติเมตรขึ้นไปมีอาการเป็นไข้ เบื่ออาหาร ไอแห้ง ต่อเมื่อไอมีเสมหะจะเข้าสู่ระยะแพร่เชื้อ และไอเป็นเลือดซึ่งจะเกิดในกรณีที่บริเวณอักเสบใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรและมีโพรงแผลในปอดทั้งนี้ ผู้ที่ไอติดต่อกันนานเกิน 2 เดือนโดยไม่ทราบสาเหตุและเจ็บหน้าอกควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ

ในการรักษาผู้ป่วยครั้งแรกจะต้องให้กินยา4 ขนานได้แก่ 1.การให้ยาทำลายเชื้อนอกเซลล์เพราะเชื้อวัณโรค 70 - 80 % อยู่นอกเซลล์2.การให้ยาทำลายเชื้อในเซลล์3. การให้ยาทำลายเชื้อในเม็ดเลือดและ4.การให้ยาทำลายเชื้อที่อยู่ในภาวะกรดเช่น หนองและเนื้อที่ตายแล้ว เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเกิดการดื้อยา

วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง95 % หากผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการกินยาทุกวันวันละ 1 ครั้งตลอด 180 วันแต่คนไข้มักจะรับประทานยาไม่ครบตามกำหนดเวลา โดยจะหยุดกินเมื่ออาการของโรคหายไป ทำให้ไม่หายขาดและแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคที่รักษาไม่ถูกต้องหรือเบี้ยวยา จะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นเกินกว่า 15 % จากการที่เชื้อลุกลามจนกินปอดหมดศ.นพ.ประพาฬกล่าว

ที่เป็นเช่นนี้ศ.นพ. ประพาฬกล่าวว่า อาจเป็นเพราะยาวัณโรคที่ต้องรับประทานมีมากถึง 10 เม็ดผู้ป่วยจึงเกิดความเบื่อหน่ายที่จะกินยาต่อจนครบ แต่ปัจจุบันมีการลดจำนวนยาเหลือเพียง 3 เม็ดคาดว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยกินยาง่ายขึ้น การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อจะทำได้ดีขึ้น อัตราผู้ติดเชื้อวัณโรครายใหม่จะลดลง สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรค ในส่วนของสมาคมฯได้ดำเนินโครงการปอดสะอาดด้วยการตรวจหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มคนขับรถสาธารณะ

โดยในปี2551 ได้ทำการเอ็กซเรย์ปอดผู้ขับรถแท็กซี่ในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองจำนวน 1,350 รายมีเงาผิดปกติ 40 รายเมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยวัณโรคที่หายแล้วและเริ่มเป็นยังไม่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ แต่บางส่วนอยู่ในระยะแพร่เชื้อและกำลังรักษา สำหรับในปี 2552 มีแผนจะเอ็กซเรย์ปอดผู้ขับรถแท็กซี่เพิ่มอีก3,000 รายพนักงานขับรถบขส. 1,000 รายและจะแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ขับรถสาธารณะสวมใสด้วย

วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองของประชาชนทั่วไปคือ การสวมหน้ากากอนามัย เพราะไม่เพียงป้องกันการติดเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังป้องกันฝุ่นควันและมลพิษด้วย นอกจากนี้ ควรปิดปาก จมูก หากไอหรือจาม โดยเฉพาะในพื้นที่คับแคบและมีคนอยู่จำนวนมาก ส่วนผู้ป่วยก็ควรสวมหน้ากากอนามัยและกินยาให้ครบตามกำหนดเวลา หากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมวัณโรคได้สำเร็จศ.นพ.ประพาฬกล่าวปิดท้าย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.teenpath.net/content.asp?ID=3788