นัดพบแพทย์

สัญญาณเตือน ‘โรคหมอนรองกระดูก’ ภัยสุขภาพใกล้ตัวผู้สูงอายุ-วัยทำงาน

14 Sep 2016 เปิดอ่าน 2125

หมอนรองกระดูกสันหลังจะประกอบไปด้วย ส่วนด้านนอกลักษณะเป็นวัสดุเหนียว ๆ ซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงรอบ ส่วนด้านในลักษณะเป็นเจลลาติน วุ้นนุ่ม ๆ โดยส่วนนี้มักพบปัญหาโดยหมอนรองกระดูกเคลื่อน

สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา การดูแลรักษาสุขภาพถูกวิธีนับแต่เบื้องต้น นับเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในโรคใกล้ตัวของคนวัยทำงานและผู้สูงอายุในปัจจุบันที่พบบ่อยคงต้องกล่าวถึงคือ โรคหมอนรองกระดูก!!

ผศ.นพ.กู้พงษ์ ศิริบำรุงวงศ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ประจำหน่วยตรวจศัลย กรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความรู้กล่าวถึงโรคหมอนรองกระดูกว่า

หมอนรองกระดูก คือ เนื้อเยื่อส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่เป็นข้อต่อในการขยับของกระดูกสันหลังและยังเป็นส่วนที่ใช้ในการรับแรงกระแทก โดยเมื่อเวลาที่นั่ง หรือกระโดด ฯลฯ หมอนรองกระดูกจะทำหน้าที่คล้ายกับ
โช้คอัพรถยนต์ โดยหมอนรองกระดูกจะอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อและอวัยวะส่วนนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะที่ “คอหรือเอว” แต่จะมีนับแต่คอ อก เอวถึงบริเวณก้นกบ

“หมอนรองกระดูกสันหลังจะประกอบไปด้วย ส่วนด้านนอกลักษณะเป็นวัสดุเหนียว ๆ ซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงรอบ ส่วนด้านในลักษณะเป็นเจลลาติน วุ้นนุ่ม ๆ โดยส่วนนี้มักพบปัญหาโดยหมอนรองกระดูกเคลื่อน คือบริเวณส่วนด้านในเคลื่อนออกมา ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงหมอนรองกระดูกเคลื่อน ส่วนที่ทำให้ดูน่ากลัวด้วยที่ว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาท เมื่อมีปัญหาหมอนรองกระดูกไม่ว่าจะเป็นการโป่ง การเคลื่อนหรือการแตกของหมอนรองกระดูกจะทำให้เกิดการกดเบียด กดทับหรือระคายเคืองต่อเส้นประสาท”

สถานการณ์ของโรคหมอนรองกระดูก ปัจจุบันพบว่า โรคหมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท พบค่อนข้างมาก โดยช่วงอายุที่พบประมาณ 20-50 ปี จากการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานเมื่อนำมาตรวจ จะพบว่าหมอนรองกระดูกเอวโป่ง หรือเคลื่อนได้ประมาณ 20-30% แต่มีเพียงส่วนน้อยในกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีอาการ ดังนั้นคนไข้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท ไม่จำเป็นจะต้องมีอาการปวดหรือมีอาการที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท!!

หมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนกับหมอนรองกระดูกเอวเสื่อม แม้จะเป็นคนละโรค แต่อย่างไรแล้วมีความคาบเกี่ยวกัน โดยหมอนรองกระดูกเอวเสื่อมจะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่หมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนพบในกลุ่มวัยทำงาน แต่อย่างไรแล้วหมอนรองกระดูกมีอยู่ในหลายส่วนของร่างกายนับแต่คอ อกและเอว ดังนั้นจึงไม่ได้มีเพียงแค่ หมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท แต่ยังมีหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท พบเช่นเดียวกับ หมอนรองกระดูกอกเคลื่อนทับเส้นประสาทแต่ส่วนนี้อาจพบค่อนข้างน้อย

“หากไล่ลำดับจะพบ หมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาทได้มากที่สุด รองลงมาช่วงคอและหมอนรองกระดูกช่วงอกเคลื่อนทับไขสันหลัง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนของหมอนรองกระดูก เกิดขึ้นจากการใช้งานผิดท่า อย่างเช่น ก้มเงย ยกของหนักซ้ำ ๆ หรือกลุ่มที่ต้องทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการสั่นสะเทือนอยู่บ่อย ๆ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาทได้ อีกทั้งการสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค”

หมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการที่สังเกตได้คือ ปวดเอวหรือปวดหลังช่วงล่าง อีกทั้งอาการปวดเหล่านี้มักจะร้าวลงขา มีลักษณะเหมือนไฟช็อต เจ็บแปล๊บลงขา อาการจะสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การนั่งนาน ๆ การไอจาม เบ่งแล้วมีอาการปวดมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นส่วนหนึ่งที่นำมาเป็นหลักสังเกตได้!!

“ส่วนอาการการกดทับเส้นประสาททำให้เส้นประสาทมีความผิดปกติจะมีอาการชา ถ้าเป็นหมอนรองกระดูกที่คอผู้ป่วยจะมีอาการชาร้าวลงมาตามแขน แต่ถ้าเป็นที่ส่วนเอวจะชาร้าวลงมาตามขาและมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อนั้น ๆ ที่เส้นประสาทไปเลี้ยง หรือหากกรณีที่กดทับปลายประสาทอย่างรุนแรงอาจจะมีอาการผิดปกติของการขับถ่าย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปัสสาวะไม่ออกหรือกลั้นไม่ได้และอาจมีอาการชารอบอวัยวะเพศ ชารอบก้น ฯลฯ โดยเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบมาพบแพทย์”

การสังเกตความผิดปกติมีความจำเป็นมากที่จะช่วยการรักษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล กรณีที่เป็นหมอนรองกระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท หากปล่อยละเลย ไม่รับการรักษา โรคอาจลุกลามไปกดทับไขสันหลัง หากเป็นการกดทับรุนแรงอาจทำให้เป็นอัมพาต ส่วนกรณีผู้ป่วยหมอนรองกระดูกเอวเคลื่อนทับเส้นประสาทและด้วยช่วงเอวเป็นปลายประสาท สิ่งที่เกิดขึ้นรุนแรงเป็นการกดทับที่รบกวนการขับถ่าย โดยคนไข้จะกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทุกประการที่จะทำให้เกิดโรคจึงเป็นคำตอบที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรค โดยผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากต้องลดน้ำหนักตัวลง อีกทั้งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็น การยกของหนัก ๆ ก้ม เงยที่ถูกท่วงท่าหรือการขับรถนาน ๆ ต้องหยุดพักบ้างจะช่วยลดการใช้งานของเอว คอลง

แต่หากต้องเผชิญกับโรคในด้านการรักษามีทั้ง การทานยา การทำกายภาพ บำบัด ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่มักตอบสนองกับวิธีการรักษาดังกล่าว แต่อย่างไรแล้วมีกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาที่กล่าวมา อีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดยา ลดการอักเสบที่ปลายประสาทกดทับ เป็นการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี และมักใช้กับผู้ป่วยที่ปวดชามาก แต่ขนาดของหมอนรองกระดูกที่ไปกดทับไม่ใหญ่มาก และอีกวิธีการหนึ่งรักษาด้วย การผ่าตัด ซึ่งต้องมีข้อบ่งชี้หลัก ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2-3 เดือนขึ้นไป หรือผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ และผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบขับถ่าย ไม่สามารถควบคุมได้ โดยหากปล่อยเนิ่นนานไปเส้นประสาทมีโอกาสจะฟื้นกลับคืนน้อยลง

“การทำกายภาพบำบัดด้วยการบริหารกล้ามเนื้อหลังทำโดยการนอนหงาย ชันเข่าขึ้นทั้งสองข้าง แนบหลังลงบนเตียงเกร็งหลังเกร็งหน้าท้องหรือบริหารด้วยท่านอนหงาย ยกขาทั้งสองข้างขึ้นเกร็งขา เกร็งหน้าท้อง โดยนับหนึ่งถึงสิบในแต่ละครั้ง ทำแต่ละท่าประมาณ 20-30 ครั้งในเวลาเช้า ก่อนนอน โดยจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อรอบเอวและหลัง เป็นท่ากายบริหารที่สามารถทำได้ต่อเนื่อง โดยเมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยประครองกระดูกสันหลัง ประครองหมอนรองกระดูกสันหลังได้

ส่วนท่ากายบริหารกล้ามเนื้อคอ ท่าบริหารเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นได้แก่ การก้ม เงย หมุน เอียงซ้าย เอียงขวา ส่วนการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริหารโดยการก้ม เวลาก้มใช้มืออีกข้างหนึ่งดันต้าน นับหนึ่งถึงสิบเช่นกัน เช่นเดียวกับการเอียงข้าง ใช้มืออีกด้านดันสู้กับแรงต้านเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ฯลฯ นอกจากให้ผลที่ดีต่อการป้องกันโรคแล้วยังเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอด้วย”

นอกจากนี้สามารถออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่มีการกระแทก ควรหลีกเลี่ยง ผศ.นพ.กู้พงษ์ ให้คำแนะนำเพิ่มอีกว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยเป็นโรคใกล้ตัว แต่โรคดังกล่าวสามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนและสามารถทำการรักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คาดคิด และส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัดและแม้จะเป็นการผ่าตัดก็สามารถให้ผลการรักษาได้ค่อนข้างดี

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.dailynews.co.th/article/376415