นัดพบแพทย์

หูอื้อข้างเดียวนานๆ สังเกตตัวเองเบื้องต้น รู้ทัน “มะเร็งหลังโพรงจมูก” พบมากเป็นอันดับ6ในไทย

05 Sep 2016 เปิดอ่าน 1888

มะเร็งหลังโพรงจมูก จัดอยู่ในกลุ่มของมะเร็งศีรษะและคอ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในส่วนที่อยู่ด้านหลังช่องโพรงจมูก ใกล้กับบริเวณฐานกะโหลกมักพบในกลุ่มคนเชื้อสายจีน พบมากเป็นอันดับ 6 ในประเทศไทย

มะเร็งชนิดนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด (Epstein-Barr virus) การสูบบุหรี่ กินอาหารบางประเภท เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม พันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง

อาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก คือ 1.มีก้อนที่คอมากกว่า 1 เดือน โดยไม่มีอาการอักเสบมาก่อน 2.หูอื้อข้างเดียวเป็นเวลานาน เป็นเดือน หรือหูน้ำหนวกเรื้อรัง 3.เลือดกำเดาออก 4.คัดแน่นจมูกที่เป็นมากขึ้น รักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น 5.ปวดบริเวณโพรงจมูกเรื้อรัง

ในการตรวจวินิจฉัยนั้น แพทย์เฉพาะทางหูคอจมูกจะทำการตรวจร่างกายทางหู คอ จมูกโดยละเอียด เมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งจะทำการส่องกล้องผ่านจมูกเข้าไปตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำมาตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan หรือ MRI) ส่งตรวจเลือด เพื่อประเมินระยะของโรคและเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยเพื่อการรักษาต่อไป เช่น ส่งตรวจฟัน ตรวจสภาพร่างกายทั่วไป

ส่วนการรักษานั้น ประกอบด้วย 2 วิธี

คือ 1.รังสีรักษา (การฉายแสง) เป็นการรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ ซึ่งแพทย์หูคอจมูกจะส่งปรึกษาแพทย์รังสีรักษาเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป โดยทั่วไปจะให้การฉายแสง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉายแสง เช่น ผิวคล้ำขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึ่งอาการจะดีขึ้นหลังฉายแสงครบ จมูก ปาก และคอแห้งจากต่อมน้ำลายถูกทำลายทำให้สูญเสียรสชาติอาหาร เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก และฟันผุ มีปัญหาการได้ยินและการมองเห็นในผู้ป่วยบางราย

2.เคมีบำบัด เป็นการรักษาร่วมกับการฉายแสง ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาให้ยาแก่ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยขึ้นกับระยะของโรคและสภาพความพร้อมของผู้ป่วย ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดขึ้นกับชนิดของยาที่ได้ อาทิ ผมร่วง แผลในปาก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือเลือดออกง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้มักขึ้นหลังการรักษา

ปัจจุบันมีการผ่าตัดในมะเร็งหลังโพรงจมูกซึ่งเป็นการรักษาร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัด ทำได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่ระยะของโรคอยู่ในขั้นแรกๆ หรือเพื่อผ่าตัดรักษาต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลังจากฉายแสงเสร็จ โดยแพทย์ผู้ดูแลจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

พญ.เปรมสุดา สมบุญธรรม ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.matichon.co.th/news/24868