นัดพบแพทย์

เด็กเป็นไตวายได้ด้วยหรือ

11 Sep 2016 เปิดอ่าน 1516

 ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าสิ้นปี 2549 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 30,000 ราย ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้ป่วยเด็กไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วย

ร่างกายคนเรามีไตอยู่สองข้างบริเวณเอวด้านหลัง โดยไตเป็นอวัยวะที่สำคัญทำหน้าที่รักษาสมดุลน้ำ เกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย นอกจากนั้นไตยังทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง คือ สร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง กำจัดของเสีย ขับยาและสารพิษออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตเสื่อมระยะแรกจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นจนกว่าการทำงานของไตลดลงไปกว่าร้อยละ 70-80 จึงเป็นการยากที่จะตรวจพบหรือแก้ไขได้แต่เนิ่นๆ
       
       ผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรังในที่สุดจะเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือ ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ต้องใช้การล้างไตทางช่องท้อง (ใส่น้ำยาล้างไตเข้าในช่องท้อง) ฟอกเลือดหรือหาไตใหม่มาปลูกถ่ายแทนที่ ซึ่งต้องผ่านหลายขั้นตอนโดยการล้างไตทางช่องท้องต้องทำทุกวัน การฟอกเลือดต้องทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการทุกเดือน ทำให้มีผลต่อร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และเศรษฐกิจของผู้ป่วย
       
       สาเหตุของภาวะไตวายเรื้อรังหรือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในเด็ก มีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่มักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน โดยเฉพาะเด็กเล็กมักเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไตและระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด เช่น ไตเล็กและเนื้อไตผิดปกติ ภาวะอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะและโรคทางพันธุกรรม ขณะที่ในเด็กโตมักเกิดจากโรคไตอักเสบเรื้อรัง กลุ่มอาการเนโฟรติก และโรคเอสแอลอี
       
       อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไตวาย ได้แก่ ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ ปัสสาวะมาก ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน สิ่งเหล่านี้เกิดจากความผิดปกติของหลอดไตในการดูดกลับสารน้ำและเกลือแร่ ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ มีอาการหน้าและหนังตาบวม ซึ่งสังเกตได้ง่ายเวลาตื่นนอนตอนเช้า เท้าบวมทั้งสองข้างและการกดบุ๋มที่หน้าแข้งทั้งสองข้าง รวมทั้งมีความดันโลหิตสูง
       
       อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือ ตัวซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว ผิวหนังแห้ง คันตามตัว ตามัว บวม เหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากขึ้นจะซึมลง ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด โดยผู้ป่วยเด็กมีอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น การเจริญเติบโตช้าจากการขาดสารอาหารและความผิดปกติของฮอร์โมนช่วยการเจริญเติบโต หรือติดเชื้อบ่อย ๆ รวมทั้งการเจริญเติบโตของกระดูกที่ผิดปกติ

  การสืบค้นที่จำเป็นและสามารถบอกได้ว่ามีภาวะไตวายหรือไม่คือ การตรวจปัสสาวะและเลือด เพื่อประเมินการทำงานของไต

  การปลูกถ่ายไตมี 2 ประเภทดังนี้
       
       1. จากผู้บริจาคที่เสียชีวิต
       
       2. จากผู้บริจาคที่มีชีวิต โดยต้องมีหมู่เลือดที่เข้ากันได้และเนื้อเยื่อเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อให้ผลการปลูกถ่ายไตออกมาดี
       
       การปลูกถ่ายไตในเด็กมักได้จากผู้บริจาคที่มีชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นบิดาหรือมารดา โดยการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตต้องมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด ได้แก่
       
       * บิดาหรือมารดา บุตรหรือธิดา พี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ที่สามารถพิสูจน์ได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือทางกฎหมาย
       
       * ลุง ป้า น้า อา หลาน ลูกพี่ลูกน้องในลำดับแรกหรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดครึ่งหนึ่ง เช่น พี่น้องต่างบิดาหรือมารดา
       
       * สามี ภรรยา ต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสจนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้นกรณีที่มีบุตรหรือธิดาด้วยกันซึ่งสามารถตรวจพิสูจน์ได้
       
       ทั้งนี้ ผู้บริจาคต้องไม่ถูกบังคับหรือได้รับการจ้างวานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น
       
       ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตของ รพ. ศิริราช หากผู้ป่วยไม่มีโรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดจะอยู่ราว 150,000 - 300,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นและชนิดของยาที่ใช้ในการรักษา นอกจากนี้หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายปฏิเสธไตที่ได้รับใหม่ สำหรับค่ายาในระยะแรกหลังผ่าตัดจะประมาณเดือนละ 10,000 - 30,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้ยาและจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ
       
       แม้วันนี้ บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะยังไม่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต แต่ทางหน่วยไตเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ดำเนินการปลูกถ่ายไตในเด็กมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี (ครั้งแรก พ.ศ. 2539) จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ป่วยเด็กอีกหลายรายที่รอการปลูกถ่ายไต ซึ่งท่านสามารถเป็นผู้หนึ่งที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกับผู้ป่วยเด็กกลุ่มอื่นๆ ในสังคมด้วยการบริจาคเข้ากองทุน “ ปลูกถ่ายไตเด็ก ” รหัส D 002714 ในศิริราชมูลนิธิที่ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 โทร 0 2419 7658 - 60
       
       
ท้ายนี้เรามีวิธีง่าย ๆ ในการดูแลสุขภาพไตมาฝากครับ เริ่มด้วย
       
       1. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัดและภาวะเครียด
       
       2. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 1.5 - 2 ลิตรในผู้ใหญ่ และลดลงตามส่วนสำหรับเด็ก
       
       3. พักผ่อนให้เพียงพอ
       
       4. ไม่ใช้ยาใดประจำโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

 

ผศ นพ.สุโรจน์ ศุภเวคิน

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9490000129838