นัดพบแพทย์

โรคทางจิต… โรคทางใจ

02 Dec 2016 เปิดอ่าน 4710

เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะคนวัยทำงานต้องเคยสัมผัสหรือรู้จักกับความเครียดกันบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในยุคที่อะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน แต่เราเคยสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างบ้างหรือไม่ว่า บางครั้งความเครียดธรรมดา ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาไปก็ได้ เพราะหากอาการที่เกิดจากความเครียดบางอย่างได้ถูกแสดงออกมาจนเกินจุด ๆ หนึ่งแล้ว คุณอาจจะกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตเวชโดยไม่รู้ตัว คอลัมน์ Wellness Talk ฉบับนี้จึงอยากจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโรคทางด้านจิตเวช ซึ่งนายแพทย์ณภัทร เพชรวีรชูวงศ์ จิตแพทย์ประจำแผนกจิตเวช โรงพยาบาลสิริโรจน์ ได้กรุณาอธิบายลักษณะของโรคนี้ให้เราได้ทำความรู้จักและเข้าใจกับมันยิ่งขึ้น

    ‘โรคจิตเวช’ นับว่าเป็น ‘โรคทางจิตใจ’ ซึ่งมีสาเหตุและที่มาที่ไปเหมือนกับโรคทางกาย โรคจิตเวชสามารถแบ่งออกได้หลายกลุ่มตามลักษณะและความรุนแรงของการแสดงออก ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการที่เด่น ๆ  2 อย่างให้เราได้สังเกตได้ คือ ‘พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ’ และ ’ แนวคิดที่เปลี่ยนไป ’ซึ่งโรคทางจิตเวชจะวินิจฉัยได้ยากกว่าโรคอื่น ๆ ที่มีวิธีการที่สามารถตรวจสอบทางร่างกายได้เนื่องจากโรคจิตเวชเป็นเรื่องที่อาการของโรคไปอยู่ที่แนวคิด ซึ่งหากคนไข้ไม่พูดออกมาหรือไม่บอกว่าคิดอะไรและคนรอบข้างไม่สังเกต ก็จะเป็นเรื่องที่ยากในการวินิจฉัยหรือบอกได้ว่าคน ๆ นั้นกำลังมีปัญหาทางจิต

    กลุ่มของโรคทางจิตใจนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มวิตกกังวล กลุ่มซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน และกลุ่มโรคจิตกลุ่มวิตกกังวล (Anxiety Disorder)

    “อาการวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปซึ่งเป็นแล้วสามารถหายหรือบรรเทาได้เมื่อเจอเรื่องอื่นหรือผ่านระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง แต่จะถึงขั้นที่เรียกว่าป่วย ก็ต่อเมื่อ หนึ่ง เสียต่องานหรือ ‘Function (ฟังก์ชั่น)’ เช่น ไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้เหมือนปกติ และอย่างที่สอง คือ สังคมเสีย เช่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ อยู่ในสังคมไม่ได้ สองข้อนี้แหละที่จะเป็นตัวตัดสินได้ว่าคน ๆ นั้นป่วยทางจิตหรือไม่

    โรควิตกกังวลมีตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงระดับมาก แต่อาจจะสังเกตได้ยากด้วยความที่เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็เป็น ซึ่งถ้าเป็นในคนปกติก็จะสามารถหยุดได้และจะกังวลเฉพาะในเรื่องที่สำคัญเท่านั้น แต่ถ้าป่วยจะกังวลในเรื่องหลาย ๆ เรื่องและกังวลในเรื่องไม่สำคัญ และก็ไม่สามารถหยุดความกังวลนั้นได้ จนก่อให้เกิดอาการอย่างเช่น นอนไม่หลับ นอนไม่พอและมึนหัว แล้วก็เริ่มเป็นทุกข์มากขึ้น  ที่พบบ่อยมากคือ ‘โรควิตกกังวลแบบ Panic Disorder’

    “นอกจากนี้ อาการย้ำคิดย้ำทำก็เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มวิตกกังวลกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการมากกว่าคนปกติ เช่น กลัวว่ายังไม่ปิดประตู ปิดแก๊ส แล้วก็จะลงไปตรวจสอบถึงสองสามเที่ยว และก็มีอาการแบบเดียวกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ เป็นแล้วไม่ดีขึ้น ต่างจากคนปกติที่จะมีการปรับตัวได้ภายใน 2 สัปดาห์”

    อาการของโรควิตกกังวลแบบ Panic จะส่งผลออกมาทางร่างกายให้มีอาการคล้ายโรคหัวใจอ่อน คือ ใจสั่น บ้านหมุน จะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก รู้สึกมีก้อนติดอยู่ที่คอ เหงื่อแตก มือเกร็ง รู้สึกเหมือนจะตาย และเมื่อผู้ป่วยไม่รู้สาเหตุว่ามาจากความเครียดก็จะไปหาหมอและรักษาตามอาการนั้น ซึ่งสุดท้ายหมอก็จะตรวจพบว่าไม่มีผิดปกติในร่างกาย และหมอส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าบอกให้คนไข้มาพบจิตแพทย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าหมดหน้าที่แล้วหรือกลัวบอกไปแล้วคนไข้ไม่พอใจ
    “เคยมีคนไข้เล่าให้ผมฟังว่ามีคุณหมอแนะนำให้พบจิตแพทย์เพราะตรวจแล้วไม่เจออะไร แต่คนไข้กลับโกรธหมอ จึงตัดสินใจไปหาหมออีกหลายโรงพยาบาล และคำตอบของหมอที่ไปมาคือตรวจไม่เจออะไรเหมือนกัน ก็เลยยอมมาพบจิตแพทย์ สุดท้ายก็รักษาหายภายในสามเดือน ลักษณะอาการแบบนี้เจอได้เยอะมาก เป็นอาการที่เกิดจากความเครียดแต่เป็นในลักษณะการเก็บกดเอาไว้จากความโกรธที่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ มันเป็นเหมือนพลังงานที่ทำให้สมองหลั่งสารผิดปกติออกมา แล้วแสดงอาการออกมาทางร่างกาย”กลุ่มซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน (Major D epressive Disorder)

    ในกลุ่มของ โรคซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าชัดเจน รู้สึกเบื่อ เซ็ง ร้องไห้ แต่ก็เป็นการเศร้าโดยมีเหตุผล ซึ่งอาจจะมีอาการแบบนี้ได้เกือบทุกวัน วันหนึ่งหลายชั่วโมง เหมือนชีวิตช่วงนั้นเศร้ามาก ซึ่งเป็นอาการก่อนเข้าระยะเวลาสองอาทิตย์อันตราย

    “โรคซึมเศร้านั้น เกิดจากการมีสิ่งกระตุ้น มีที่มาที่ไปแต่ไม่ยอมหาย เช่น เสียใจโดนแฟนทิ้ง เศร้ามากจนมีอาการกินไม่ได้หรือกินแหลก นอนไม่หลับหรือนอนเยอะเกินไป และคิดแต่เรื่องเดิมซ้ำ ๆ จนกำลังใจอ่อนเพลีย ซึ่งถ้าเป็นคนปกติ จะต้องดีขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ และเริ่มปรับตัวได้ แต่ถ้าเป็นถึงขั้นที่เรียกว่าป่วย ก็จะมีอาการไม่สามารถปรับตัวได้และมีผลกระทบกับงานจนตกงาน เสียงาน เสียเพื่อนฝูง เสียสังคม จนอาจจะทำให้ผู้ป่วยหันไปพึ่งเหล้าหรือยาเสพติดเพื่อทดแทน อาจจะเป็นถึงขั้นขาดสติ ทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือผู้อื่น และถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ โรคซึมเศร้าถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นอันตราย อาการเช่นนี้จะเรียกว่า ‘ขั้วเดียว (Unipolar)’ คือมีเรื่องเครียดก็จะซึมเศร้า ส่วนในโรคในกลุ่มนี้อีกโรคหนึ่ง คือโรคอารมณ์แปรปรวนที่มักจะได้ยินกันบ่อยคือ ไบโพล่าร์ (Bipolar) นั้น ผู้ป่วยจะมีอาการสองขั้วหรือสองด้าน ขั้วหนึ่งคือซึมเศร้า แต่เนื่องจากว่ามีกลไกที่ต้องการให้ตัวเองหลุดพ้นจากความซึมเศร้า ร่างกายก็เกิดการเหวี่ยง (Swing) จนกลายเป็นสูงขึ้น (High) เกินปกติ ซึ่งศัพท์ที่ใช้เรียกอาการนี้ จะเรียกว่า ‘Euphoria’ หรือ ‘Mania’ ก็ได้ ความหมายก็คือ อารมณ์ดีเกินเหตุ สรุปง่าย ๆ คือ แบบแรกคือซึมเศร้าในตอนแรกแล้วหายไปเลย พอต่อไปในระยะหนึ่งถ้ายังไม่รักษา หรือปรับตัวเองก็จะกลายเป็น Mania”

    นอกจากนี้ อาการต่าง ๆ ยังสามารถเกิดขึ้นภายในวันเดียวกันได้ ซึ่งเราจะเรียกว่า ‘อาการผสม (M ix Type)’ เช่น ตอนเช้ามีอาการเศร้า พอตกเย็นมีอาการ ‘High Mania’ ซึ่งไม่ใช่แค่อารมณ์ดีอย่างเดียว แต่มันมากกว่าคำว่าอารมณ์ดี คือมองทุกอย่างดีไปหมด คนไข้ที่อยู่ในกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการแต่งตัวเก่งมาก อารมณ์ก็จะดีมาก เปลี่ยนไปจากปกติ ไม่ใช่บุคลิกภาพเดิมที่เคยเจอ และซื้อของแหลก ใช้จ่ายแบบไม่คิด เพราะว่าคิดไม่ทัน พูดเร็ว คิดเร็วมาก ซึ่งกลุ่มนี้จะตรงกันข้ามกับกลุ่มซึมเศร้า ที่จะพูดช้าคิดช้าด้วยความที่จิตพยายามสร้างกลไกที่จะแก้ไขแต่แก้แล้วก็ยังผิด แก้แล้วก็เด้งไปอีกขั้วหนึ่ง
    กลุ่ม โรคจิตหรือวิกลจริต (Psychosis)

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการที่เด่นอยู่สามประการ ซึ่งอาการต่างๆ จะเด่นชัดจนทำให้ผู้ป่วยเสียฟังก์ชั่นไป ได้แก่

  • ประสาทสัมผัสหลอน (hallucination) เช่น ได้ยินเสียงคนพูด คนนินทา คนเรียกชื่อโดยที่ไม่เห็นตัวและคนอื่นไม่ได้ยิน หรือเห็นภาพที่คนอื่นไม่เห็น ได้กลิ่นที่คนอื่นไม่ได้กลิ่น และอาการเหล่านี้เป็นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน
  • หลงผิดอย่างรุนแรง (delusion) เช่นคิดว่ามีคนจะมาฆ่า ทั้งที่จริงๆไม่มี หรือคิดว่าตัวเอง เป็นพระเจ้ากลับชาติมาเกิด หรือคิดว่ามีมนุษย์ต่างดาวจับตนไปฝังเครื่องส่งสัญญาณ โดยที่ไม่มีรายละเอียดหรือเหตุผลใดที่น่าเชื่อถือ
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป (behavioral change หรือ disorganized behaviour) ถ้าในช่วงแรกจะสังเกตได้ยาก ต้องเป็นคนใกล้ชิดเท่านั้น ที่พอทราบ แต่ช่วงหลังจะเปลี่ยนหนัก เช่น ไม่หลับไม่นอน ไม่กินอาหาร เดินทั้งคืน พูดคนเดียว

สาเหตุ ที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช

    คุณหมอณภัทรได้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคทางกลุ่มจิตเวชโดยภาพรวมไว้ว่า สาเหตุอันดับแรก คือเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเคยมีอาการทางจิตมาก่อนแล้ว อันดับที่สองคือเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก คนที่ถูกเลี้ยงดูมาสมบูรณ์ในระดับหนึ่งก็จะไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าชีวิตในวัยเด็กมีปมด้อย ถูกทำร้ายจิตใจมามาก คนพวกนี้ก็จะมีปัญหาทางจิตใจได้ง่าย และประเด็นที่สามก็คือ เรื่องที่มากระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงในช่วงชีวิต

    “นอกจากนี้ การใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นสมองหรือกดสมอง ก็จะมีผลต่อการทำงานของสมอง แล้วทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีในสมองผิดปกติ อะไรก็ตามที่มีฤทธิ์ทำให้สมองทำงานผิดพลาดย่อมก่อให้เกิดอาการทางจิตเวชได้”วิธีรักษา
สามารถแบ่งการรักษาได้เป็น 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่

    1. การรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพสูง วิธีการนี้นับว่าเป็นการช่วยคนไข้ให้หายจากอาการป่วยหรือทำให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาและวิจัยตลอดเวลา จึงทำให้ปัจจุบันนี้สามารถหายาไปช่วยระบบสมองในส่วนที่มีการหลั่งสารเคมีผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติได้

    2. การให้คำปรึกษาต่อคนไข้ การรักษาวิธีนี้มีตั้งแต่ระดับขั้นต้นคือการพุดคุย จนไปถึงระดับสูงคือการทำจิตบำบัด ที่ค่อนข้างเป็นการรักษาที่ยุ่งยากเพราะต้องใช้เวลา แล้วที่สำคัญทั้งหมอและคนไข้ต้องมีความพร้อม ซึ่งหมายถึงต้องมีทั้งเวลา มีความเข้าใจ และมีความคิดความอ่านพอสมควร การรักษาด้วยจิตบำบัดมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับอาการและชนิดของโรคด้วย

    3. การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น สังคมหรือครอบครัวของคนไข้ ถ้าหากครอบครัวใดมีการป่วยเกิดขึ้นในครอบครัว ก็หมายความว่า ครอบครัวนั้นต้องมีปัญหา ดังนั้นคุณหมอจึงต้องเข้าไปช่วยในการปรับเปลี่ยนครอบครัวของคนไข้เท่าที่จะทำได้ เราจะมีวิธีการป้องกันตัวเองอย่างไรไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยโรคจิตเวช
    สำหรับการดูแลเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้เข้าข่ายนั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ
    1. การป้องกันแบบภาพรวม ซึ่งมี 4 วิธีด้วยกันที่คุณหมอแนะนำ

    - วิธีแรก เนื่องจากว่าโรคพวกนี้เกิดจากความเครียด ก็ควรแก้ความเครียดให้ลดลงด้วยวิธีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะสามารถเอาความเครียดที่อยู่ในตัวเราออกไปในระหว่างการออกกำลังกายได้ 
    - วิธีที่ 2 ให้ใช้การระบายออกมาโดยการพูดคุย เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจควรจะมีเพื่อน หรือคนที่สนิทที่ให้คำปรึกษา แต่จะต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ที่สามารถระบายทุกอย่างให้เขาฟังได้ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหน เช่น เศร้าก็ระบาย โกรธก็ระบาย เครียดเรื่องอะไรก็พูดออกไป ถ้าเพื่อนที่ดีก็จะรับฟังแล้วปลอบ แม้จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ถ้าหากเก็บความรู้สึกไว้กับตัวก็จะทำให้เครียดง่าย และเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นการเก็บกด เก็บตัว และส่งผลให้ป่วยง่าย
    - วิธีที่ 3 พยายามฝึกตัวเองอย่าไปยึดติดกับวัตถุนิยมให้มากนัก ถ้ายิ่งยึดติดก็ยิ่งทำให้ความเครียดเกิดขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราไปยึดถือยึดติดมาก เราก็ต้องทำงานมากขึ้น ขยันมากขึ้น ชิงดีชิงเด่นมากขึ้น แล้วในที่สุดความทุกข์ก็เกิด ความเครียดก็เกิดตามมา
    - วิธีที่ 4 ควรหัดศึกษาธรรมะ ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธีที่จะป้องกันโรคทางจิตใจที่ดีสุด คือการเข้าใจในพุทธศาสนาของเรานั่นเองเพราะพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องจิตใจล้วน ๆ แต่คนเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจที่จะศึกษา ซึ่งถ้าคนเราสนใจในแนวทางของศาสนาก็จะไม่ป่วย แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างถูกวิธีและถูกทาง

    2. การป้องกันแบบเฉพาะเจาะจง
    ควรสำรวจตัวเอง ถ้ารู้ว่าตัวเองมีปมปัญหาบางอย่างก็ให้รีบแก้ไข ถ้าหากแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ก็ควรพบจิตแพทย์    “การที่รู้ตัวเองก่อนแล้วมาพบหมอก่อนที่จะป่วยเป็นสิ่งที่หมอต้องการให้เกิดขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะมาตอนที่ป่วยแล้ว หากเรารู้ตัวก่อนโดยการสังเกตตัวเอง เช่น ‘ทำไมถึงไม่มีเพื่อนสนิท’ ‘ทำไมเพื่อน ๆ ไม่ชอบ’ หรือ ‘ทำงานที่ไหนก็มีปัญหา’ อย่างนี้น่าจะเป็นสัญญาณแล้วว่ามีบางอย่างผิดปกติทางบุคลิกภาพหรือความคิด ถ้ารู้แล้วก็ควรแก้ไข แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ควรมาพบจิตแพทย์ ในปัจจุบันทุกโรงพยาบาลจะมีคลีนิคจิตเวชและมีจิตแพทย์หลายคนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากรู้สึกตัวว่าตัวเองมีความผิดปกติทางจิตใจเกิดขึ้น  อย่าลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์ อย่ามองว่าการพบจิตแพทย์นั้นจะต้องบ้าอย่างเดียว ถ้าเราแก้ทัศนคติตรงนี้ได้ก็จะดี“ คุณหมอณภัทรฝากทิ้งท้าย

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://phuketbulletin.co.th/lifestyle/view.php?id=1355