นัดพบแพทย์

ไวรัสตับอักเสบวายร้ายคร่าชีวิต

13 Sep 2016 เปิดอ่าน 853

จากการสำรวจประชาชนทั่วไปในประเทศไทย พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5 และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1 โดยไวรัสตับอักเสบ คือไวรัสที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อตับเป็นหลักได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี

รศ.นพ.พูลชัย จรัสเจริญวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ในระยะแรกผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอาจไม่มีอาการ หรือบางรายเพียงอ่อนเพลีย ไข้ต่ำคล้ายเป็นหวัด แต่หากเกิดตับอักเสบรุนแรง จะทำให้เกิดดีซ่าน ตรวจพบผิวหนังและเปลือกตามีสีเหลือง ผู้ติดเชื้อไวรัสที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เองตามธรรมชาติ และการอักเสบของตับจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เกิดภูมิคุ้มกันโรคต่อไวรัสตับอักเสบไปตลอดชีวิต

แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบต่อเนื่อง จนเกิดภาวะตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหรืออาการของสมรรถภาพการทำงานของตับเสื่อมลง ที่เรียกว่าภาวะตับวาย ได้แก่ ท้องมานขาบวม อาเจียนเป็นเลือดสด หรือปวดท้องบริเวณชายโครงขวาจากมะเร็งตับที่เกิดแทรกซ้อนตามมา

ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพพลภาพเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตับ และเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจประเมินความรุนแรงของโรค และโรคร่วมชนิดอื่นๆก่อนพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัย สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือควบคุมให้ภาวะตับอักเสบสงบลงได้ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งตับวาย และมะเร็งตับในอนาคต

ไวรัสตับอักเสบเอและอี ติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ซึ่งอาจพบในชุมชนที่แหล่งน้ำมีการปนเปื้อนกับอุจจาระของผู้ป่วยโรคดังกล่าว ดังนั้น การป้องกันที่ดี คือ การให้ความรู้และปรับปรุงสาธารณสุขมูลฐานเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ และการดูแลแหล่งน้ำให้ปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าวหรือป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน โดยฉีด 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน จะสามารถช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้
ขณะที่ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี ติดต่อจากการสัมผัสเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าสู่บาดแผลทางผิวหนัง หรือเยื่อเมือกของร่างกายโดยตรง จากการใช้ของมีคม เข็มฉีดสารเสพติด อุปกรณ์เจาะหู หรือสักผิวหนังร่วมกัน รวมทั้งยังอาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในผู้ที่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ

สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในบุคคลที่ตรวจไม่พบภูมิต้านทานสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีต่อเนื่องในช่วงเวลา 6 เดือน จำนวน 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ แต่ถ้ามีท้องอืด คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น รวมทั้งอาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดต่างๆ ซึ่งในภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ภูมิต้านทานของร่างกายเป็นกลไกที่สำคัญในการกำจัดเชื้อไวรัส เพื่อทำให้ ภาวะตับอักเสบดีขึ้น

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://healthinfo.in.th/hiso5/healthy/news.php?names=25&news_id=3540