นัดพบแพทย์

ฮอร์โมนรักษามะเร็งนรีเวช

26 Sep 2016 เปิดอ่าน 2807

มะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว (Epithlial ovalian cancer) เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้บ่อยที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชวิทยา สาเหตุสำคัญอันหนึ่งเพราะไม่มีการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 มักจะมาพบแพทย์เมื่อระยะที่ 3 หรือ 4 ของตัวโรค และภายหลังจากการรักษา คือ การผ่าตัดและการให้ยาเคมีบำบัดแล้วผู้ป่วยประมาณร้อยละ 75 มักจะมีการกลับเป็นซ้ำของตัวโรคภายในช่วงระยะเวลา 2 ปี ภายหลังเสร็จสิ้นการรักษาหลัก และในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวกลับเป็นซ้ำมักจะมีการทำนายโรคที่ไม่ดีนัก และมักจะรักษาไม่หายขาดต้องควบคุมการเจริญเติบโตของตัวโรคให้คงที่หรือลดการเจริญเติบโต ให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวกลับเป็นซ้ำในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาหลายวิธี อาทิ การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้ยากลุ่ม Target therapy การผ่าตัด และการใช้ฮอร์โมนในการรักษา เป็นต้น

สำหรับการใช้ฮอร์โมนในการรักษามะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวกลับเป็นซ้ำซึ่งมีการใช้กันอย่างกว้างขวางนั้น เริ่มต้นมาจากการศึกษาในระดับโมเลกุล พบว่าการเกิดมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิด จึงนำยาฮอร์โมนชนิดต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิว อาทิ ยาฮอร์โมนกลุ่ม GnRH agonist, Tamoxifen, Progesterone และยากลุ่ม Aromatase inhibitors เป็นต้น มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งกลับเป็นซ้ำอย่างแพร่หลาย

ถึงแม้ว่าผลการรักษาที่ได้จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าอยู่เพียงแค่ในระดับพอยอมรับได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ผลข้างเคียงจากการรักษาที่เกิดกับผู้ป่วยน้อยกว่าวิธีการรักษาอื่น เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดอย่างมีนัยสำคัญจึงได้รับการยอมรับในปัจจุบันอีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขณะรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เยื่อบุผิวกลับเป็นซ้ำ

อ.นพ.นครินทร์ ศิริทรัพย์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://elib.fda.moph.go.th/2008/default.asp?page2=subdetail&id=16813