นัดพบแพทย์

ใครว่า! เป็นโรคหัวใจแล้วออกกำลังกายไม่ได้

20 Jan 2017 เปิดอ่าน 1087

  เป็นที่ทราบกันดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ทั้งสุขภาพกายใจ แถมป้องกันโรคหัวใจและช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สำหรับคนทั่วไปต้องออกกำลังกายในระดับปานกลาง หรือสูง อย่างน้อย 30-45 นาที ต่อวัน 3-5 วันต่อสัปดาห์ จึงจะได้ผล
       

       สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจแล้ว การออกกำลังกายก็ยังมีประโยชน์อย่างมาก โดยมีจุดมุ่งหมายใหญ่ๆ 2 ข้อ คือ
       
       1.เพื่อลดการดำเนินโรคและยืดอายุผู้ป่วย
       2.เพื่อรักษาให้สุขภาพกลับไปแข็งแรงใกล้เคียงหรือเท่าๆ กับก่อนจะเป็นโรคหัวใจ

       
       ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายเรื่องที่ยืนยันว่า การออกกำลังกายจะให้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง และหัวใจล้มเหลวเรื้อรังได้เป็นอย่างดี แต่ในกลุ่มโรคหัวใจอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือความพิการทางหัวใจแต่กำเนิด ก็เชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

  ออกกำลังกายแค่ไหนถึงพอเหมาะ
       
       โดยพื้นฐานก็คล้ายๆ กับในคนปกติ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่การออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิค เดินเร็ว ขี่จักรยาน วิ่งเหยาะๆ และว่ายน้ำ ส่วนกีฬาที่แนะนำ ได้แก่ ปิงปอง เทนนิสคู่ กอล์ฟ เป็นต้น
       
       ก่อนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาใดๆ ผู้ป่วยทุกคนควรปรึกษาแพทย์ และควรออกกำลังแต่พอเหมาะ ช่วงที่เริ่มออกกําลังกายระยะแรก ควรซ้อมเบาๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินก็ค่อยๆ เพิ่มเวลาของการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป และทําเป็นประจําทุกวัน ที่สำคัญต้องไม่ลืมเตรียมร่างกาย (Warming up and down) ก่อนและหลังการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและควรทำทุกครั้ง
       
       สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เพิ่งฟื้นตัวจากภาวะเฉียบพลันทางหัวใจหรือเพิ่งรับการผ่าตัดมา ไม่ว่าจะด้วยการใส่สายสวนหัวใจ หรือผ่าตัดหัวใจ แพทย์จะต้องทำการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ เช่น การเดินสายพาน เพื่อประเมินผลการรักษา และสมรรถนะร่างกายผู้ป่วย จากนั้นจึงสามารถให้คำแนะนำการออกกำลังกายทั้งประเภท ระดับ และระยะเวลา ตลอดจนกำกับการฟื้นฟูร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย (Cardiac rehabilitation program)

  จะมีผลข้างเคียงหรืออันตรายหรือไม่
       

ความผิดปกติทางหัวใจที่อาจเกิดขณะออกกำลังกาย ขึ้นกับประเภทและความรุนแรงของผู้ป่วยโรคหัวใจ ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย โอกาสเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายมีน้อยมาก ส่วนในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมาก การออกกําลังเกินขนาด อาจทําให้มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนโรคหัวใจล้มเหลวและหัวใจประเภทอื่นๆ นั้น อาจจะมีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นผิดปกติจากภาวะเลือดคั่งในปอด ซึ่งเป็นอาการเริ่มของภาวะหัวใจล้มเหลว จึงต้องเน้นย้ำว่าก่อนเริ่มการออกกำลังกายหลังเป็นโรคหัวใจผู้ป่วยควรได้รับผ่านการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ
       
       ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่ออาการกำเริบ
       
       จะต้องหยุดการออกกำลังกายทันที นั่งพักในที่ที่อากาศถ่ายเทดี ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบและแน่นหน้าอก การใช้ยากลุ่มไนโตรกลีเซอรีนแบบพกพา อม หรือพ่นใต้ลิ้น ก็มักจะได้ผลอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยที่เหนื่อยหอบมากขึ้นผิดปกติจากภาวะเลือดคั่งในปอด ยาขับปัสสาวะก็จะสามารถบรรเทาอาการได้ ที่สำคัญควรมีการเตรียมผู้ป่วยเพื่อส่งโรงพยาบาลหากอาการรุนแรงระหว่างที่ให้การรักษาไปด้วย
       ข้อควรระวัง
       
       ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้กำลังมากและมีการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกน้ำหนัก เพราะจะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอดมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหัวใจวายเฉียบพลัน
       
       แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพโดยรวม แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้างในผู้ป่วยโรคหัวใจ ฉะนั้น หลังจากผ่านการประเมินจากแพทย์แล้วการออกกำลังกายควรทำด้วยความระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป และรู้จักประเมินสมรรถภาพของตัวผู้ป่วยเองด้วย ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายให้แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้นแม้จะมีโรคหัวใจก็ตาม
       

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9510000044524