นัดพบแพทย์

"ช่วยฟักตัวอ่อน" เทคนิคพิชิตการตั้งครรภ์

16 Sep 2016 เปิดอ่าน 2797

หลายกรณีของผู้ที่ประสบปัญหามีบุตรยาก ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของเชื้ออสุจิหรือไข่ แต่สาเหตุเกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิแล้ว คือตัวอ่อนไม่สามารถฟักตัวออกจากเปลือกไข่ได้ นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่พบได้เช่นกัน

นพ.ธีรยุทธ์ จงวุฒิเวศย์ สูติ-นรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (เด็กหลอดแก้ว) ในบางครั้งเราพบว่ามีความหนาของเปลือกไข่มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถที่จะฟัก หรือออกมาจากเปลือกไข่ได้ ทำให้ตัวอ่อนเหล่านั้นเสียชีวิตอยู่ภายในเปลือกไข่ ดังเช่นลูกเจี๊ยบที่ไม่สามารถเจาะออกจากเปลือกไข่ได้ ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลง เพราะตัวอ่อนไม่สามารถที่จะออกมาฝังตัว แต่หากเราช่วยให้เปลือกไข่ที่หนาบางลง หรือทำให้เกิดรู เพื่อเป็นการช่วยเหลือตัวอ่อนให้ง่ายต่อการออกจากเปลือก และมีโอกาสที่จะฝังตัวในโพรงมดลูกมากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ เทคโนโลยีนี้คือ การช่วยฟักตัวอ่อนจากเปลือกไข่ (Assisted Hatching) โดยในอดีตจะใช้เข็มเจาะเปลือกไข่ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการใช้สารเคมี และในปัจจุบันเราใช้เลเซอร์เข้ามาช่วยในการเจาะเปลือกไข่ เรียกวิธีนี้ว่า LAH ย่อมาจาก Laser Assisted Hatching การใช้เลเซอร์นั้นมีความแม่นยำสูง ไม่เกิดอันตรายต่อตัวอ่อน และยังสามารถเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ข้อบ่งชี้ของผู้ที่เหมาะสมกับการรักษาวิธีนี้
1.มีอายุมากกว่า 37 ปี
2.มีฮอร์โมน FSH สูง ในวันที่ 3 ของรอบเดือน
3.มีความหนาของเปลือกไข่มากกว่า 15 ไมโครเมตร (เป็นหน่วยวัดภายใต้กล้องจุลทรรศน์ สำหรับวัตถุขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า)
4.ไม่ประสบความสำเร็จจากการใช้วิธี IVF หรือเด็กหลอดแก้วในรอบก่อน ทั้งที่ตัวอ่อนคุณภาพดี

เป็นตัวอ่อนที่ผ่านกระบวนแช่แข็ง
นอกจากการช่วยตัวอ่อนฟักตัวออกจากเปลือกไข่ด้วยเลเซอร์แล้ว บางกรณีก็ใช้วิธีนี้เจาะเปลือกไข่และนำเซลล์ของตัวอ่อนออกมา เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยดูความสมบูรณ์ของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (PGD : Preimplantation Genetic Diagnosis) เป็นการนำเซลล์ของตัวอ่อนในระยะ 6-8 เซลล์ ที่ได้จากการทำเด็กหลอดแก้วมาทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูว่า ตัวอ่อนมีความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมหรือไม่ และเป็นเพศใด จากนั้นนำตัวอ่อนที่สมบูรณ์ใส่กลับสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดกระบวนการตั้งครรภ์ต่อไป

ใครบ้างที่เหมาะสมกับวิธีนี้
1.คู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติของจำนวนโครโมโซม

ทำให้บุตรที่เกิดมามีโอกาสเป็นเด็กดาวน์ซินโดรมสูง
2.คู่สมรสที่มีประวัติความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น ฮีโมฟีเลีย โรคทางกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดทางโครโมโซมเพศ
3.มีประวัติการแท้งบ่อย
4.ครอบครัวมีประวัติคลอดเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด

วิธีการตรวจวินิจฉัย
นำตัวอ่อนที่ได้จากการทำเด็กหลอดแก้วในระยะ 6-8 เซลล์ มาเจาะบริเวณเปลือกให้เป็นรูเล็กๆ ด้วยเลเซอร์ แล้วใช้แท่งแก้วเล็กๆ ดึงเซลล์ที่อยู่ภายในตัวอ่อนออกมา 1-2 เซลล์ เพื่อนำมาทำการตรวจโดยวิธีที่เรียกว่า ฟิชเทคนิค (FISH : Fluorescence in Situ Hybridization) เป็นการย้อมสีบนตัวโครโมโซมที่ต้องการทราบ เช่น คู่ที่ 21,18,13, x และ y เป็นต้น เมื่อย้อมสีเสร็จก็จะนำเซลล์นั้นมาดูผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบฟลูออเรสเซ้นซ์ เพื่อดูว่าโครโมโซมคู่ที่เราเลือกมาตรวจนั้นมีครบคู่ หรือขาด หรือเกินไปหรือไม่ โดยวิธีนี้เราสามารถทราบเพศของตัวอ่อนได้เช่นกัน หลังจากนั้นเราจะทำการย้ายตัวอ่อนเฉพาะตัวที่ปกติเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

ข้อดี
- ลดอัตราการเกิดความผิดปกติของทารก
- ลดอัตราการแท้งบุตร
- เพิ่มอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้ว

การดูดเอาเซลล์จากตัวอ่อนในระยะ 6-8 เซลล์จะไม่ทำให้เกิดความพิการ เพราะเซลล์ทุกเซลล์ในตัวอ่อนระยะนี้ยังไม่ได้ถูกโปรแกรมว่า จะให้เซลล์ใดเจริญไปเป็นตัวอ่อนหรืออวัยวะใดๆ เลยทำให้เซลล์ที่เหลือในตัวอ่อนสามารถแบ่งตัวได้ โดยจะไม่เกิดความผิดปกติใดๆ ต่อทารก และยังสามารถแบ่งตัวต่อไปจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) ได้ตามปกติ

ภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่สามารถหาทางออกได้ คู่สมรสที่วางแผนมีบุตร แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดได้ อย่าเพิ่งกังวล หรือด่วนสรุปว่าตนจะไม่สามารถมีบุตรได้ ทุกปัญหามีทางแก้ไข นพ.ธีรยุทธ์กล่าว

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://guru.sanook.com/8675/