นัดพบแพทย์

ดูแลลูกเมื่อลูกเป็นไมเกรน

16 Sep 2016 เปิดอ่าน 2982

อาการปวดหัวของลูก บางครั้งอาจจะไม่ใช่แค่การปวดธรรมดา เพราะเด็กก็สามารถเป็นไมเกรนได้เช่นกัน พ่อแม่จะดูแลลูกอย่างไรเมื่อลูกเป็นไมเกรน

วิธีสังเกตเมื่อลูกปวดหัวไมเกรน

      • ลูกมักบ่นปวดหัว ทั้งที่ลูกมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและ ไม่มีปัญหาเรื่องสายตา
      • ปวดหัวบริเวณขมับ หรือหน้าผาก แต่ละครั้งนานเกิน 1 ชม.
      • ลูกบอกว่ามองเห็นแสงเป็นเส้นๆ หรือได้กลิ่นบางอย่าง ก่อนที่จะมีอาการปวดหัว
      • อาการปวดหัวจะรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
      • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคไมเกรน

“ไมเกรน คือโรคปวดหัวชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันและควบคุมอาการของโรคได้ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะปวดหัวรุนแรงข้างใดข้างหนึ่งแบบตุบๆ คล้ายจังหวะการเต้นของหัวใจ บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย สำหรับวัยเด็กอาการปวดหัวจะยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง” พญ.อรุณศรี สันติธนานนท์ กุมารแพทย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลพญาไท 2 เริ่มต้นการพูดคุยด้วยนิยามของโรคไมเกรน

ทำความรู้จัก ‘โรคไมเกรน’ ในเด็ก
“โรค นี้ส่วนใหญ่จะเป็นในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆ ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน เราพบว่าโรคไมเกรนเป็นได้ตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิด เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสเป็นไมเกรนก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนค่ะ” คุณหมออธิบาย ทางการแพทย์สันนิษฐานสาเหตุการเกิดโรคไมเกรน ดังนี้

      • พันธุกรรม เด็กจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคไมเกรนมาก่อน ซึ่งขึ้นอยู่ กับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่อาจกระตุ้นทำให้เป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
      • เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดในสมองที่มากเกินไป เนื่องด้วยสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโตนิน ทำงานไม่ ปกติ โดยสารนี้ทำหน้าที่ควบคุมการหดขยายของหลอดเลือดในสมอง

ปัจจัยเสี่ยงที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ที่คุณพ่อคุณแม่ควรพึงระวังและควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้ค่ะ

      • การอยู่ในที่ชุมชนแออัด เสียงดัง อากาศถ่ายเทน้อย
      • ร่างกายต้องปรับอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น อยู่ในที่ร้อนแล้วไปสู่ที่มีอากาศเย็นอย่างฉับพลัน อาทิ เวลาออกมาจากห้างสรรพสินค้า หรือเข้าไปในรถที่เปิดแอร์เย็นจัด
      • การนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเด็กๆ ควรนอน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน
      • การไม่ได้กินอาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุด
      • การกินอาหารบางชนิด เช่น ชีส ช็อกโกแลต ผงชูรส ของหมัก-ดอง กาแฟ เพราะอาหารเหล่านี้อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้
      • ภาวะความเครียดของเด็ก เช่น อยู่ในช่วงการสอบ ถูกตำหนิ มีปัญหาที่โรงเรียน

ปวดหัวอย่างไร…เรียกว่าไมเกรน
“หนูปวดเหมือนหัวใจเต้นอยู่ในสมอง” หรือ “หนูรู้สึกเหมือนมีคนมาทุบตุบๆ ที่หัว” คำตอบของเด็กๆ ที่เป็นโรคไมเกรนขณะเล่าอาการให้คุณหมอฟังค่ะ ซึ่งบางคนอาจมีอาการ สายตาพล่ามัว มองเห็นแสงเป็นเส้นๆ หรือได้กลิ่นบางอย่างก่อนที่จะมีอาการปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า ‘อาการนำ’ ซึ่งเด็กที่โตพอรู้เรื่องแล้ว เขาจะรู้เวลาปวดหัวล่วงหน้าประมาณ 15 -20 นาที จากอาการนำนี้

 คุณหมอเล่าว่า การวินิจฉัยโรคไมเกรนในเด็กทำค่อนข้างยาก เพราะเด็กๆ มักบอกอาการที่แน่นอนไม่ได้ ต้องใช้การซักประวัติอย่างละเอียด เพราะอาการปวดหัวสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ปวดฟัน สายตาสั้น ไข้สมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

 อาการปวดของโรคไมเกรนค่อนข้างทรมาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับเด็กวัยเรียน ที่เขาเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสังคมในโรงเรียน ความเครียดส่งผลให้เด็กปวดหัวเป็นโรคไมเกรน ทำให้เด็กต้องการนอนพัก ไม่อยากพูด ไม่อยากทำงาน ถ้าเป็นบ่อยครั้งอาจส่งผลต่อการเรียน เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน สุขภาพร่างกายแย่ลง

 “ไมเกรนอาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ภาย ในครอบครัวได้ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้เรื่องโรคไมเกรน เพราะจะคิดว่าลูกงอแง ไม่อยากทำการบ้าน ชอบอ้างว่าปวดหัว ซึ่งพ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องนี้และไม่ควรวินิจฉัยโรคเอง ควรพามาให้แพทย์ตรวจดีกว่าค่ะ” คุณหมอกล่าว

ดูแลลูกเมื่อลูกปวดหัวไมเกรน
“ใน เด็กเราอยากให้เขาหายโดยธรรมชาติ ไม่อยากใช้ยารักษามากนัก แต่ถ้าปวดหัวรุนแรง ปวดบ่อย นอนพักแล้วยังไม่หาย ก็อาจต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์ไม่แรงเกินไปสำหรับเด็ก เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้บางชนิด ยาแก้เครียด ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ค่ะ” คุณหมออรุณศรีอธิบายด้านการรักษาคุณหมอมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่ เป็นโรคไมเกรน ดังนี้

Take Care at Home

      • ถ้าลูกปวดหัวไม่รุนแรงนัก ให้เขานอนพักในห้องปรับอากาศหรืออากาศเย็นสบาย แล้วประคบน้ำแข็งบริเวณศีรษะ จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้โดยไม่ต้องกินยาค่ะ
      • ถ้าลูกมีอาการปวดหัวมากและปวดเป็นประจำ อาจให้ยาบรรเทาอาการปวดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควร ซื้อยากินเองหรือกินยาเกินขนาน
      • ควรมีสมุดบันทึกประจำตัวคอยสังเกตกิจกรรมที่ลูกทำในแต่ละวัน เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ลูกมีอาการ ปวดหัวไมเกรน เช่น เครียดจากการสอบ การกินอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
      • เมื่อลูกมีอาการที่ผิดปกติ เช่น ปวดหัวแล้วมีอาการชาตามร่างกาย หมดสติ หรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีค่ะ

 

Take Care at School

      • คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งให้คุณครูที่โรงเรียนทราบว่าลูกเป็นโรคไมเกรน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือเหตุที่จะทำให้ลูกมีอาการปวดหัวไมเกรน
      • เมื่อเด็กๆ รู้สึกปวดหัว คุณครูควรพาไปนอนพักในห้องเงียบๆ ถ้าเด็กปวดหัวมากอาจให้กินยาพาราเซตามอล หรือยาระงับ อาการปวดที่เด็กพกติดตัวมาโรงเรียนค่ะ
      • เฝ้าสังเกตเด็กๆ ที่มีอาการปวดหัวเป็นประจำ แล้วแจ้งผู้ปกครองทราบ เพื่อค้นหาสาเหตุและวิธีรักษาต่อไป รวมทั้งคอยติดตามอาการของเด็กที่เป็นโรคนี้จากสมุดบันทึกประจำตัวของเด็ก หรือจากคำบอกเล่าของคุณพ่อคุณแม่

 

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.rakluke.com/article/6/26/89/%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99