นัดพบแพทย์

นิ้วล็อก..ภัยเงียบที่ควรระวัง

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 346

โรค 'นิ้วล็อก' หรือ Trigger finger เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป เพราะต้องใช้มือจับสิ่งของ หรือทำงานที่ละเอียดอ่อนมาอย่างต่อเนื่อง
 

โดยผู้ที่เป็นมักจะมีอาการ เจ็บปวดที่โคนนิ้วและใช้มือได้ไม่ถนัด เนื่องจากอยู่ๆ นิ้วที่เจ็บปวดจะงอ หรือกำมือไม่สะดวก บางครั้งงอแล้วไม่สามารถเหยียดนิ้วขึ้นเองได้ เสมือนถูกล็อกไว้ไม่สามารถเหยียดงอได้ตามธรรมชาติ แถมพอจะกระดิกนิ้วก็กระดิกไม่ค่อยได้ เพราะมันทั้งตึงทั้งเจ็บปวดมากๆ 

ทั้งนี้เป็นเพราะเอ็นที่อยู่บริเวณโคนนิ้วมือนั้น เคลื่อนที่เข้าออกในปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือได้ยากลำบาก บางครั้งก็เกิดการรัดเส้นเอ็นตรง ปากอุโมงค์ทางเข้า จึงทำให้นิ้วเหยียดไม่ออก 

ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นบริเวณข้อโคนนิ้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ก็พบได้ในคนวัยทำงานโดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้นิ้วมือในการทำงาน เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ หรือผู้ที่ทำงานในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น การทำงานบ้านต่างๆ การบิดผ้า การหิ้วของหนัก การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดผ้า การยกของหนักต่างๆ รวมถึงผู้ที่ชอบเล่นกีฬา (เช่น กอล์ฟ เทนนิส) หรือเล่นดนตรี (เช่น ไวโอลิน) เป็นต้น 

ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และนิ้วที่เป็นบ่อยคือ นิ้วนาง นิ้วกลาง และนิ้วหัวแม่มือ 

อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดได้กับทุกนิ้ว โดยเป็นเพียงแค่นิ้วเดียวหรือหลายนิ้วพร้อมกันก็ได้ อีกทั้งยังอาจเกิดกับมือข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้เช่นกัน 

อาการแสดงของโรค 

นิ้วล็อกมีอาการแสดงอยู่หลายระดับขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ 

ระยะแรก มีอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลาขยับนิ้ว แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด 

ระยะที่สอง มีอาการสะดุด (Triggering) เวลางอเหยียดนิ้ว และ อาการปวดก็มักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เวลาขยับนิ้ว งอและเหยียดนิ้ว 

ระยะที่สาม มีอาการนิ้วติดหรือล็อคเป็นอาการหลัก โดยเมื่องอนิ้ว ลงไปแล้ว เวลาจะเหยียดนิ้ว นิ้วจะติดล็อคเหยียดไม่สุด ต้องเอามืออีก ข้างมาช่วยดันให้เหยียด บางครั้งอาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง 

ระยะที่สี่ มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วบวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถ้าใช้มืออีกข้างมาช่วยเหยียดจะปวดมาก 

การรักษาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค ตั้งแต่รักษาด้วยยา แก้อักเสบ (กลุ่มยา NSAID) รักษาด้วยการฉีดยา Steroid ถ้ามีอาการนิ้วล๊อกแล้ว ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือสะกิดนิ้วในที่สุด ดังนั้นถ้าคุณมีอาการดังกล่าว ควรจะไปพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยให้ แน่ชัด 

การดูแลตนเอง 

อย่างไรก็ตามโรค “นิ้วล็อก” สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้ารู้จักวิธีดูแล ตัวเองอย่างถูกต้อง ดังนั้นหากคุณต้องทำงานที่ใช้มืออย่างต่อเนื่องควร หาวิธีป้องกันไว้ก่อนด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่โคนนิ้วมือ 

2. ขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับของเครื่องมือให้นุ่มขึ้น 

3. งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง

 4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น

5. ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือ กำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อฝืดลดลง

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ควรเริ่มดูแลร่างกายตัวเองกันหน่อย อย่าปล่อยให้โรคหรืออาการเจ็บป่วยมาทักทาย 

 

โดย ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.thaitribune.org/contents/detail/318?content_id=14496