นัดพบแพทย์

ฟื้นผมให้แข็งแรงนุ่มสลวย

23 May 2017 เปิดอ่าน 2830

สำหรับผู้หญิง หน้าสวย หุ่นสวยแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เด่นๆ ก็คงจะเป็นเส้นผม ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ถ้าผมเป็นมัน เงา นุ่มสลวย ก็สะกดสายตาชายหนุ่มได้ไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งปัญหาเส้นผมปัจจุบันที่สาวๆ หรือแม้กระทั่งหนุ่มๆ เป็นกังวลมากที่สุดก็คือ ปัญหาผมร่วง บางรายอาจร่วงจนทำให้ศีรษะล้านก็ทำให้เสียความมั่นใจไปเลย

เข้าใจเส้นผมดีพอหรือยัง?

เส้นผมไม่ได้เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเพียงแค่ความสวยงาม หรือเป็นตัวแทนของความสุขภาพดี หรือความเยาว์วัยเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ปกป้องเราจากความร้อน และความเย็น ป้องกันแสงแดด ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง และเพื่อกันแมลงต่างๆ

รู้ไหมว่า เส้นผมเราตั้งแต่เกิดมีเป็นแสนๆ เส้น และจำนวนรากผมที่เยอะที่สุดจะเป็นช่วงแรกเกิด โดยต่อ 1 ตร.ซม. มีมากกว่า 1,000 รากผม แต่เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์รากผมจะค่อยๆ น้อยลงไป เมื่ออายุได้ประมาณ 20-300 ปี จาก 1,000 เส้น จะเหลือเพียงประมาณ 600 เส้น และเมื่อเข้าสู่วัยประมาณ 40-50 ปี ก็จะน้อยลงไปอีกเหลือประมาณ 500 เส้น ยิ่งเข้าช่วงอายุ 60-70 ปี เซลล์รากผมจะเหลือประมาณ 400 ต่อตารางเซนติเมตร

เส้นผมของเรา สร้างมาจาก “เซลล์รากผม” ซึ่งอยู่ลึกลงไปประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ใต้ศีรษะ ก็จะมีเซลล์ที่ผลิตให้มีแกนผม เปลือกภายนอกของผม นอกจากนี้บริเวณรากผมยังมีเซลล์สร้างเม็ดสี โดยคนเอเชียจะมีผมสีดำหรือน้ำตาลเข้ม เพราะมีเม็ดสีที่เรียกว่า “ยูเมลานิน” (Eumelanin) ซึ่งมีสีเข้ม แต่คนที่ผมสีทองมียูเมลานิลน้อยา ลักษณะของเซลล์เม็ดสีของต่างชาติ มีชื่อว่า “ฟีโอเมลานิน” (Pheomelanin) ซึ่งมีสีอ่อน เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เซลล์สร้างเม็ดสีก็ค่อยๆ เสื่อมลงหรือตายไป ก็จะเกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า “ผมหงอก” นั่นเอง

เมื่อไหร่ที่เรียกว่าผมร่วง?

ธรรมชาติเส้นผมจะมีระยะหรืออายุของตัวเอง

 ระยะผมงอก (Anagen Phase) มีอายุประมาณ 2-6 ปี โดยจะงอกประมาณ 1 เซนติเมตรต่อเดือน หรือ 10 เซนติเมตรต่อปี คนที่อยู่ในระยะนี้ยาวนาน จะสามารถไว้ผมได้ยาวมาก ในขณะคนที่ไว้ผมเท่าไหร่ก็ไม่ยาวนั้น เกิดจากมีระยะนี้สั้น แต่เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ ผมงอกจะเข้าสู่ระยะพักและระยะร่วงต่อไป

 ระยะผมร่วง (Telegen Phase) จะมีเพียง 10% ของเส้นผม หรือประมาณ 10,000 เส้น ซ฿งทั้งศีรษะมีผมทั้งหมด ประมาณหนึ่งแสนเส้น ผมตามธรรมชาติร่วงไม่พร้อมกัน โดยจะร่วงเฉลี่ยวันละประมาณ 100 เส้น แต่อย่าเพิ่งตกใจไป ผมที่ร่วงเป็นวงจรธรรมชาติของเส้นผม หลังจากร่วงก็จะมีผมใหม่งอกขึ้นมาเป็นระยะงอกต่อไป

รู้ได้อย่างไร ผมร่วงแบบนี้ผิดปกติ

ลองนับคร่าวๆ ว่าผมร่วงต่อวันเกิน 100 เส้นหรือไม่?

 สอบถามประวัติ เช่น จากการสังเกตด้วยตัวเอง จากปกติสังเกตได้ว่าร่วงประมาณเท่าไหร่ และมีผมร่วงมากกว่าปกติหรือไม่ หรือตรวจสอบประวัติจากการรับประทานยาบางชนิด ที่อาจทำให้ผมร่วง เช่น ยารักษาสิวชนิดรับประทาน ยาลดความดันบางชนิด เป็นต้น บางคนผมร่วงไม่ถึง 100 เส้น ลองสังเกตว่ามีขนบริเวณอื่นร่วงด้วยหรือไม่ เช่น คิ้ว รักแร้ หัวหน่าว

 ลักษณะการร่วง ร่วงเฉพาะจุด เช่น ร่วงเป็นวงกลม อยู่บริเวณใดก็ได้ หรือร่วงเฉพาะที่ ทำให้ไม่สมมาตรกันทั้งซ้ายและขวา ร่องบริเวณท้ายทอย เป็นต้น

 มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการคัน หรือเจ็บ หรือมีผื่นบนหนังศีรษะ เป็นต้น อาจเป็นสัญญาณของเชื้อรา, การอักเสบของหนังศีรษะ รวมทั้งอาจเป็นสัญญาณของภาวะผมร่วงบางชนิด

ลักษณะของการร่วง

ลักษณะของผมร่วงแบ่งกว้างๆ เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.ผมร่วงชั่วคราว

95% ของคนไข้ส่วนใหญ่มักผมร่วงชั่วคราว ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ การสัมผัสสารเคมี ความไม่สมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ภาวะขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด หรือการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ความเครียด เป็นต้น ผมร่วงตามกรรมพันธ์ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของภาวะผมบาง หรือหัวล้านในผู้ชายและผมร่วงผมบางในเพศหญิง

ฮอร์โมนหลายตัวมีอิทธิพลกับเส้นผม เช่น  ฮอร์โมนเพศ ไทรอยด์ฮอร์โมน การตั้งครรภ์ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงเยอะ ทำให้ผมดกดำ ผมมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่เมื่อคลอดบุตรฮอร์โมนเพศจะกลับสู่สภาวะปกติ เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมจากระยะงอกก็เปลี่ยนเป็นผมในระยะร่วง จึงทำให้ผมร่วงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ 3 เดือนหลังคลอดบุตร

 2.ผมร่วงถาวร

ไม่ถึง 5% ของคนไข้เป็นโรคผมร่วงถาวร ผู้ที่มาด้วยปัญหาผมร่วงประเภทนี้ มักเกิดจากโรคผิวหนังโดยเฉพาะ เช่น มีการอักเสบของรากผม กลุ่มโรคพุ่มพวงเชื้อราบนหนังศีรษะที่ทิ้งไว้นานเกินไป อย่างไรก็ตาม หากเซลล์รากผมเรายังอยู่ ผมก็ยังสามารถขึ้นใหม่ได้ แต่ถ้ามีการทำลายไปถึงเซลล์รากผม ก็จะทำให้เกิดผมร่วงถาวรในที่สุด นอกจากนี้ผมร่วงตามพันธุกรรมที่ไม่ได้รักษา ทิ้งไว้นานๆ ก็จะกลายเป็นผมร่วงถาวรได้

การตรวจวินิจฉัย

สอบถามประวัติ เพราะสามารถทำให้แยกโรคได้ระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน และสารอาหารก็สำคัญโดยเฉพาะในผู้หญิง

ตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจหนังศีรษะด้วยกล้องกำลังขยายสูง เพื่อตรวจดูความผิดปกติของรากผม ดูลักษณะอื่นๆ เช่น การติดเชื้อรา ลักษณะการร่วง หรือดึงผมไปตรวจดูรากผม บางรายจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กๆ เพื่อตรวจเพิ่มเติม

การรักษาผมร่วง

แน่นอนว่าการรักษาต้องเป็นไปในทางเดียวกัน กับการวินิจฉัยตามอาการและโรคที่พบ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วยว่า อายุเท่าไร มีความคาดหวังสูงมากแค่ไหน มีโรคประจำตัวอะไร การรักษาที่ได้ประสิทธิภาพต้องเร็ว ไม่ใช่ปล่อยทิ้งระยะอาการไว้ ซึ่งอาจรักษาด้วยการรับประทานยา ยาทาภายนอก การให้สารอาหารและวิตามิน หรือหลายอย่างร่วมกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าเป็นมากๆ อาจพิจารณาปลูกถ่ายเส้นผมได้ในภาวะผมร่วงตามพันธุกรรม

ข้อจำกัดของการรักษา

 ผมร่วงชั่วคราว หากมารับการรักษาเร็ว ก็สามารถรักษาไม่ให้แย่ลงไปมากกว่านี้ได้ และกลับมามีผมได้ตามปกติ

 ผมร่วงถาวร การรักษาจะเป็นไปแบบการประคับประคองไม่ให้แย่ลง

วิตามินบำรุงผมจำเป็นไหม?

ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ผมร่วงเกิดจากการขาดวิตามินหรือสารอาหารบางอย่าง และก็ไม่ใช่ว่าปัญหาผมร่วงของคนที่ขาดวิตามินเกิดจากการขาดวิตามินชนิดเดียวกัน ดังนั้น ควรมาวิเคราะหืเพื่อรู้สาเหตุให้แน่ชัดก่อน หากผมร่วงเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ เพราะการขาดวิตามิน การทานวิตามินไปก็สูญเปล่า การตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำให้ทราบสาเหตุอย่างถูกต้อง และหากสาเหตุเกิดจากการขาดวิตามินหรือสารอาหารชนิดใด การตรวจเพิ่มเติมจะทำให้ทราบว่าขาดวิตามินชนิดใดมากน้อยเพียงใด และหลังจากเสริมวิตามินชนิดนั้นๆ แล้ว สามารถตรวจติดตามผลการรักาว่าวิติมนดังกล่าว เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

แชมพูป้องกันผมร่วงได้จริงหรือ?

อะไรก็ตามที่เป็นสารเคมีรุนแรงก็ย่อมทำลายรากผม หรือทำให้ผมขาดหลุดร่วงง่าย ดังนั้น แชมพูสำหรับคนผมร่วงก็จะพยายามไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายรากผม ซึ่งอาจจะมีสารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของรากผมได้ ซึ่งการเลือกแชมพูสำหรับผมร่วงก็ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง

 

จบความเชื่อเรื่องผมยาวๆ

 ยิ่งผมยาวมากๆ ก็ยิ่งโง่ เส้นผมอาศัยสารอาหรและออกซิเจนจากเส้นเลือดบริเวณรากผมจำนวนมาก ทั้งนี้ไม่ว่าผมยาวหรือผมสั้นก็ไม่ได้ใช้สารอาหารต่างกัน ซึ่งผมยาวมากๆ ก็ไม่ได้ไปแย่งสารอาหารมาจากสมอง จริงๆ ร่างกายเราจัดลำดับความสำคัญไว้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว การไว้ผมยาวมากๆ จึงไม่มีผลเสียอะในแง่สุขภาพ แน่นอนว่าผมยาวมากๆ ก็ย่อมทำให้เปลืองแชมพู

 สระผมทำให้ผมร่วง ไม่จริง เนื่องจากหากเราไม่ดึงหรือถูแรงๆ ก็ไม่ได้ทำให้ผมร่วงได้จากการสระผม เนื่องจากผมเราร่วงเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสระหรือไม่ ยิ่งหากทิ้งไว้แล้วสระทีเดียว เพราะกลัวผมร่วง ก็จะยิ่งรู้สึกว่าร่วงมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

 หวีผมมากเท่าไหร่ผมสวยมากเท่านั้น การหวีผมไม่ได้มีผลเสียอะไร แต่หากผมมีลักษณะหยักศกมากๆ ต้องหวีด้วยคาวมระมัดระวัง โดยหวีจากปลายผมก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผมขาด และหากหวีผมในขณะที่พันกัน อาจทำให้เกิดการดึงรากผมที่แรงเกินไป รากผมอาจถูกทำลายได้ การหวีผมจึงไม่มีโทษแต่ควรหวีให้ถูกวิธีเท่านั้นเอง เพื่อให้ผมเรียงตัวเป็นระเบียบจะทำให้ดูเงางามมากขึ้น

 

 ดร.พญ.พลินี รัตนศิริวิไล

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง เลเซอร์ และผมร่วง

ขอบคุณบทความจาก : http://women.haijai.com/2503/