นัดพบแพทย์

มาล้างจมูกกันเถอะ

03 Mar 2017 เปิดอ่าน 2051

พอพูดว่าล้างจมูกมั่นใจว่าคนที่ไม่เคยล้างจะต้องรู้สึกกลัวพร้อมกับคิดไปต่างๆ นานา ยิ่งบอกว่าสิ่งที่ฉีดเข้าไปเป็นน้ำเกลือด้วยแล้ว มันจะต้องแสบแน่ๆ แหม ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะการล้างจมูกไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และมีประโยชน์มาก

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เป็นการชำระล้างเอาสิ่งสกปรก น้ำมูก หนอง ออกไปจากโพรงจมูกและไซนัส ทำให้โพรงจมูก และบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่งขึ้น บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก และชะล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่คั่งค้างในโพรงจมูก และไซนัส

ใครที่เป็นโรคภูมิแพ้ร่วมกับมีอาการระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ หรือในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ/อักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัส การล้างจมูกนี่ช่วยได้เยอะเลยค่ะ นอกจากนี้การล้างจมูกก่อนการพ่นยา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาพ่นจมูก เนื่องจากยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้ดีขึ้นอีกด้วย รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นในช่องจมูก กรณีจมูกแห้ง

วิธีล้างจมูกอย่างถูกต้องและปลอดภัย

  1. น้ำเกลือ และอุปกรณ์ต้องสะอาด ปลอดเชื้อ
  2. น้ำเกลือที่ใช้เป็น 9% Sodium chloride ซึ่งมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับเซลล์ของร่างกาย ไม่ควรใช้น้ำเปล่าล้างจมูก เนื่องจากความเข้มข้นไม่เหมาะสม หากน้ำเกลือที่ใช้มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้
  3. ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนล้างจมูกเสมอ เพราะน้ำเกลือที่เย็นเกินไปจะทำให้เกิดอาการคัดและปวดจมูกหลังล้างได้ โดยนำขวดน้ำเกลือแช่ในน้ำร้อนประมาณ 5นาที หรืออุ่นในไมโครเวฟ และทดสอบโดยใช้หลังมือว่าน้ำเกลือไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

วิธีล้างจมูก

  1. ล้างมือให้สะอาด แล้วก้มหน้าลงเล็กน้อยเหนืออ่างล้างหน้าหรือภาชนะรองรับ
  2. นำปลายกระบอกฉีดยา หรือ อุปกรณ์ล้างจมูกสำเร็จรูป ใส่เข้าไปในรูจมูกข้างหนึ่ง “หายใจเข้า-กลั้นหายใจ-ก้มหน้า-อ้าปาก” (กลั้นหายใจเพื่อป้องกันการสำลักลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลม) และค่อยๆ ดันน้ำเกลือเข้าไปในช่องจมูกช้าๆ (เพื่อป้องกันอาการปวดหู หรือ หูอื้อ) ปริมาณน้ำเกลือที่ใช้ควรเริ่มจากปริมาณน้อยๆ เช่น 5-10 ซีซี หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูกแล้ว จึงเพิ่มปริมาณน้ำเกลือล้างจมูกสลับข้างตามขั้นตอนเดิม หลังล้างเสร็จ สังเกตว่าหายใจโล่งขึ้น ไม่มีมูกในช่องจมูก และน้ำเกลือที่ออกมาใสเหมือนกับที่ฉีดเข้าไป
  3. หลังล้างจมูกควรสั่งน้ำมูกเบาๆ ไม่ควรสั่งแรงๆ หรืออุดรูจมูกอีกข้างระหว่างสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้ปวดหู หรือ หูอื้อได้
  4. ทำความสะอาดอุปกรณ์ล้างจมูกโดยใช้น้ำยาล้างจานหรือลวกน้ำร้อน จากนั้นตากให้แห้ง และเก็บในภาชนะที่สะอาด

การล้างจมูกไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด ถ้าทำได้ถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม สามารถล้างได้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก และแนะนำให้ล้างจมูกก่อนรับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนและสำลัก

โดย : พญ. เมธาวี ไตรรัตนธาดา

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0/