นัดพบแพทย์

ลูกดูดนิ้วอีกแล้ว

16 Sep 2016 เปิดอ่าน 3346

ลูกวัย 1-3 ปีชอบดูดนิ้ว ทำให้พ่อแม่เป็นกังวล ว่าทำไมลูกถึงชอบดูดนิ้ว ลูกกำลังมีปัญหาพฤติกรรมอะไรหรือเปล่า แล้วจะแก้พฤติกรรมการดูดนิ้วนี้ได้อย่างไร

ทำไมเด็กๆ ต้องดูดนิ้ว

ด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้มีการค้นพบว่าจริงๆ แล้วทารกเริ่มดูดนิ้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบประสาทของทารก และหลังคลอดทารกมีการเรียนรู้ในเรื่องของการดูดนิ้วด้วยเช่นกัน

ในช่วงขวบปีแรก การดูดนิ้วของลูกน้อยก็เพื่อกล่อมตัวเอง เวลาที่เขารู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจ เช่น ง่วง เหนื่อย หิว เพลีย เบื่อ เป็นต้น พฤติกรรมการดูดนิ้วที่ลูกน้อยแสดงออกมานั้น เป็นภาษากายอย่างหนึ่งที่เขาสื่อสารออกมาเพื่อบอกว่าเขาต้องการอะไรหรือรู้สึกอย่างไร ซึ่งวิธีการที่เขาจะสื่อออกมาคือต้องใช้ร่างกายตัวเอง และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมการดูดนิ้วนั่นเองค่ะ

ดูดนิ้ว เรื่องธรรมชาติของเบบี้

การดูดนิ้วในเด็กขวบปีแรก ถือเป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ ยังไม่เป็นพฤติกรรมผิดปกติ เพราะการที่เขาดูดนิ้วก็เพื่อต้องการสื่อสารหรือแสดงออกว่าเขาต้องการอะไร

ดังนั้น ต้องสังเกตว่าลูกมีการดูดนิ้วตอนไหน ดูดเวลามีอารมณ์อย่างไร เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไรและสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองที่ดี ปล่อยให้ลูกดูดนิ้ว เพราะคิดว่าดูดแล้วไม่ร้อง อาจมีปัญหาตามมาได้นะคะ

ดูดนิ้วแบบไหน ผิดปกติ

ถ้าลูกดูดนิ้วบ่อย ต้องการอะไรก็ดูดนิ้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นวัย 5-6 เดือนไปแล้ว ที่ลูกน้อยสามารถออกเสียงอ้อแอ้ บอกความต้องการได้ แต่ลูกกลับใช้วิธีการดูดนิ้วอย่างเดียว ก็ควรเริ่มแก้ไข และสังเกตพฤติกรรมของลูกให้มากขึ้น เพราะถ้าปล่อยไว้ จะทำให้เขาติดดูดนิ้วไปเรื่อยๆ ค่ะ

พฤติกรรมพ่อแม่ ทำลูกติดดูดนิ้ว

โดยปกติการดูดนิ้วในเด็กจะหายได้เองในช่วง 2-3 ขวบ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยดูแล พฤติกรรมนี้ก็จะหายได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะติดดูดนิ้วเกินอายุ และถ้าปล่อยให้ลูกดูดนิ้วจนถึงอายุ 4-5 ขวบ จะแก้ไขยากและมีปัญหาอื่นๆ ตามมาได้

ปัจจัยที่ทำให้ลูกน้อยติดการดูดนิ้วมาตั้งแต่เล็กๆ คือ

      1. ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ปล่อยปะละเลย ไม่ใส่ใจว่าลูกต้องการอะไร ยิ่งในช่วงแรกเกิด - 3 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่รู้ใจว่าลูกต้องการอะไร ทำให้ตอบสนองลูกได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ลูกน้อยมีอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้งอแง และปลอบตัวเองด้วยการดูนิ้วมากขึ้น
      2. ตวาดเสียงดัง หรือชักมือออก เมื่อลูกดูดนิ้ว ถ้าทำแบบนี้ลูกจะเกิดภาวะเครียด รู้สึกกลัว และส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว ไม่ไว้ใจคนรอบข้าง ทำให้ลูกติดการดูดนิ้วมากขึ้น เพราะการดูดนิ้วเป็นการปลอบตัวเองที่ดีที่สุด ทำให้ลูกติดดูดนิ้วไปจนโตได้
      3. สภาพแวดล้อมทำให้ลูกเครียด ในเด็กที่เคยเลิกดูดนิ้วไปแล้ว แต่กลับมาดูดใหม่ แสดงว่ามีภาวะเครียดหรือความกังวลบางอย่างเกิดขึ้น เช่น กลัว ขาดความมั่นใจ กังวล เป็นต้น ซึ่งส่งผลทำให้ลูกน้อยมีปัญหาด้านพฤติกรรม กลายเป็นเด็กขาดความมั่นใจ ขี้กลัว มีปัญหาเรื่องอารมณ์ในที่สุด

 

นอกจากนี้ การติดดูดนิ้วตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัย 4-5 ขวบก็ยังดูดนิ้วอยู่ จะส่งผลกับสุขภาพปากและฟัน เพราะเป็นช่วงที่ฟันแท้เริ่มขึ้น ทำให้เกิดปัญหาฟันยื่น ฟันห่าง จึงควรแก้ปัญหาให้ลูกเลิกดูดนิ้วไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีกว่าค่ะ

แก้ปัญหาลูกดูดนิ้ว ต้องทำอย่างไร
วิธีที่ดีที่สุดคือช่วงขวบปีแรกต้องตอบสนองความต้องการของลูกให้ตรงตามที่เขาต้องการ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเอง ใกล้ชิดกับลูกตลอดก็จะรู้ว่าลูกมีนิสัยอย่างไร เวลาที่เขาร้องสัมพันธ์กับเรื่องอะไร เช่น ร้องเพราะหิว ร้องเพราะไม่สบายตัว หรือร้องเพราะง่วง เป็นต้น เด็กๆ นั้นจะกินนอน และขับถ่ายเป็นเวลาอยู่แล้ว การสังเกตพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องไม่ยาก

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ : พญ.ณัฐวรรณ จารุวรพลกุล กุมารแพทย์ พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลพญาไท 3

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://rakluke.com/article/5/21/553/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7