นัดพบแพทย์

หายใจช้าลดความดัน

12 Dec 2016 เปิดอ่าน 2581

คงไม่ใช่เรื่องตลกที่วันหนึ่งเราต้องลุกขึ้นมาเพื่อฝึกการหายใจ เมื่อความดันโลหิตในร่างกายเราผิดเพี้ยนไป

ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูงนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คุณรู้สึกวูบวาบวิงเวียนศีรษะเท่านั้น
แต่หากปล่อยให้ร่างกายมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน
จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือดเลี้ยงสมอง หัวใจและไต
อันจะทำให้หลอดเลือดสมองแตกหรือตีบตัน
นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูง ยังทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นจนหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา
อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายจนถึงแก่ชีวิตได้...

มีหลายวิธีที่อาจช่วยลดความดันโลหิตได้ โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการใช้ยา
การควบคุมอาหารและการหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด
เช่น การเล่นโยคะและการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของตะวันออกที่ไม่ควรมองข้าม

การหายใจที่มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรเรียนรู้ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย
การหายใจที่มีประสิทธิภาพ คือการหายใจที่มีอัตราต่ำกว่า 10 ครั้งต่อนาที
(อัตราปกติของการหายใจโดยเฉลี่ยเท่ากับ 13.8-19.4 ครั้งต่อนาที)
การหายใจที่ยาวและลึกขึ้นนั้นจะส่งผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การหายใจช้าและลึกนั้นมีผลกระตุ้นปลายประสาท
ที่มีความสัมพันธ์กับระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความดัน การเต้นของหัวใจ
และการไหลกลับของเลือดเข้าสู่หัวใจ ซึ่งผลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความดันที่ลดลง
และความต้านทานภายในหลอดเลือดทั่วร่างกาย

จากผลงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีการฝึกการหายใจช้าและลึกวันละประมาณ 15 นาที
ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 เดือนนั้น ค่าความดันโลหิตลดลง มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกการหายใจ



ข้อมูลจาก มติชน คอลัมน์ ส่องโรคไขสุขภาพ
เรียบเรียงโดย นพ.อนวัช เสริมสวรรค์

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=anotherside&month=10-2008&date=21&group=2&gblog=323