นัดพบแพทย์

แจงวิธีรับมืออาการปวดท้องกลายพันธุ์

06 Dec 2016 เปิดอ่าน 1750

 เพราะอวัยวะในระบบทางเดินอาหารมีหลากหลายชนิดทั้งตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ที่อาจมีความผิดปกติหรือเกิดโรคได้ แต่คนส่วนใหญ่มักนิ่งนอนใจและเข้าใจว่าอาการปวดท้องส่วนใหญ่เกิดจากโรคกระเพาะอาหาร จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ แพทย์เตือนหากปวดท้องแถมมีอาการอาเจียนหรือหน้ามืดต้องรีบไปพบแพทย์

นพ.จารุวัตร ยศสมบัติ แพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม เปิดเผยว่าโดยปกติแล้วโรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อย เฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเข้ามาด้วยอาการปวดท้องเป็นหลักและผู้ป่วยส่วนใหญ่มักนิ่งนอนใจเพราะคิดว่าเป็นอาการปวดธรรมดา ไม่มีความรุนแรง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วอาการปวดท้องไม่ได้เกิดจากสาเหตุของโรคกระเพาะเพียงประการเดียว แต่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงอวัยวะในช่องท้องหลาย ๆ อย่าง อาทิ อาการปวดท้องที่มีสาเหตุมาจากตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอาการปวดท้องจึงควรต้องสังเกตอาการของตนเองว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด เกิดอาการขึ้นเป็นระยะเวลานานเท่าใด และอาการปวดสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือไม่ รับประทานยาแล้วอาการดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการปวดรุนแรงมากหรือมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเป็นสีดำ อาเจียนเป็นเลือดเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากโรคบางชนิดซึ่งทางที่ดีควรต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมให้แน่ชัดเป็นดีที่สุด นพ.จารุวัตรกล่าวสรุป

สำหรับกระบวนการตรวจที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม ได้ดำเนินการมาตลอดนั้น โดยส่วนใหญ่แพทย์จะซักประวัติและถามอาการเพื่อหาอาการบ่งชี้เกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหารก่อนและหากสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีความผิดปกติ แพทย์จึงจะนำผู้ป่วยเข้ารับการตรวจด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย เช่น อัลตร้าซาวด์ ซึ่งสามารถมองเห็นความผิดปกติในช่องท้องทั้ง ตับ ถุงน้ำดี ก้อนนิ่ว หรือก้อนเนื้องอกต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ส่วนการตรวจที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งคือการตรวจโดยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ จะสามารถมองเห็นพยาธิ สภาพภายในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหารได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งยังสามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้หากพบว่ามีความผิดปกติ

นพ.จารุวัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ยังมีการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง นั่นคือการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือ 64 Slice CT Scan ซึ่งแสดงภาพผลการตรวจออกมาเป็น 3 มิติ ที่มีความละเอียดคมชัด ส่งผลให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างตรงตามอาการของโรคต่อไป

 

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.hiso.or.th/hiso/ghealth/newsx1411.php