Make Appointment

กระดูกพรุนศัตรูผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้หญิงเสี่ยงมากที่สุด

14 Sep 2016 เปิดอ่าน 1233

โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่เป็นในผู้สูงวัย อาการที่เห็นได้ทั่วไป เช่น การล้มจากยืน โดยปกติ สำหรับคนที่ยังอายุไม่มาก ถ้าล้มจากยืน จะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่สำหรับผู้สูงวัย ถ้าล้มจากยืน ก็อาจจะมีกระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก หรืออาจจะเป็นกระดูกชิ้นอื่นก็ได้ หรือถ้ายกของหนักๆ ก็อาจจะทำให้กระดูกสันหลังหักได้
สาเหตุของโรคกระดูกพรุนนั้น มีหลายสาเหตุปัจจัย แต่ที่พบเห็นได้มาก จะเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนในเพศหญิงที่ชื่อเอสโตรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษากระดูกไม่ให้เกิดการสลายตัว ลดน้อยลงหรือหายไป กระดูกก็จะเริ่มสลายตัว ด้วยเหตุนั้น จึงส่งผลให้ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าผู้ชาย คือ ช่วงอายุราวๆ 60-65 ปี ส่วนผู้ชาย ถ้าจะเป็น ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 70 ปีขึ้นไป

พล.ต.ต.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคชนิดนี้ ว่า การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารเค็มจัด ก็มีผลเช่นกัน หากรับประทานมากเกินไป
อีกอย่างหนึ่ง คือ การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ แคลเซียมเป็นธาตุประกอบหลักของกระดูก ฉะนั้น ถ้าแคลเซียมน้อย ก็จะทำให้กระดูกสลายตัวได้ หรือถ้าเราทานแคลเซียมน้อยเกินไป ร่างกายส่วนอื่นที่ต้องการแคลเซียมก็จะไปดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมา ก็ยิ่งเร่งอัตราการสลายตัวของกระดูก


นพ.ธนา เปรียบเทียบว่า กระดูกพรุนเหมือนเรือบินตก ถ้าไม่ตกก็ไม่หัก โรคกระดูกพรุนก็เช่นกัน ถ้าไม่ล้มก็ไม่หัก และที่สำคัญ โรคกระดูกพรุนไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก หากเทียบกับโรคอื่น อีกทั้งยังมีวิธีการป้องกันได้ เพราะระยะเวลาของกระดูกจะพรุนก่อนจะไปถึงขั้นกระดูกหัก ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังรักษาได้ อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ถึงขั้นกระดูกหักแล้วไม่รักษา ก็อาจจะก่อให้เกิดการพิการหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน
นอกจากการรับประทานแคลเซียม หรืออาหารเสริมจำพวกวิตามินดีให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน นายแพทย์แห่งมูลนิธิโรคกระดูกพรุน แนะนำว่า วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้รอดพ้นจากโรคนี้ก็คือ ถ้าเป็นผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือน หรืออายุ 60-65 ปี และผู้ชายวัย 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ เพราะถ้าเป็น จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.kunkroo.com/catalog.php?idp=79