Make Appointment

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เรื่องเล็ดๆ ของระบบปัสสาวะ

02 Feb 2017 เปิดอ่าน 1152

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการความผิดปกติของการปัสสวะ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะกะทันหัน ไม่สามารถกลั้นได้ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที ปวดปัสสาวะบ่อยเกินไป (เกิน 7 ครั้งในตอนกลางวัน และมากกว่าหนึ่งครั้งในตอนกลางคืน) และอาจมีภาวะกลั้นไม่อยู่จนปัสสาวะเล็ดราดในบางครั้ง ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นอาการผิดปกติที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย

    โดยทั่วไปกระเพาะปัสสาวะผู้ใหญ่จะมีความจุราว 300-500 ซีซี และมีวงจรการกักเก็บปัสสาวะอยู่ที่สองชั่วโมงกว่าๆ ถึงสี่ชั่วโมง แต่ผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มักจะปวดปัสสาวะทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำปัสสาวะยังมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น มีน้ำอยู่ 100 ซีซี แต่กระเพาะปัสสาวะส่งสัญญาณแรงเหมือนมีน้ำอยู่ 400 ซีซี หรือในบางครั้งมีการบีบตัวที่ไวเกินของกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นในระยะการกักเก็บปัสสาวะ ซึ่งในในทางการแพทย์ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของภาวะผิดปกตินี้ แต่มีการศึกษาวิจัยที่พบว่า อาจเกิดจากการที่ระบบประสาทของกระเพาะปัสสาวะ ส่งสัญญาณมาที่ระบบประสาทส่วนกลางไวกว่าปกติ หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวที่ไวเกินปกติเกิดเป็นอาการขึ้นจริง

การตรวจวินิจฉัย

   ในเบื้องต้นเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยภาวะปัสสาวะบ่อยผิดปกติ จะต้องมีการซักประวัติและตรวจคัดกรองอย่างละเอียดก่อนว่า อาการดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการอักเสบติดเชื้อ  หรือภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเยอะเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นโรคนิ่ว โรคมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เพราะโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายส่งสัญญาณปวดปัสสาวะไวกว่าปกติได้เช่นกัน แต่แนวทางการรักษาจะแตกต่างกันออกไป

แนวทางการรักษา

   ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน สามารถรักษาได้โดยใช้ยาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม ซึ่งหลักๆ แล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารดังกล่าวมีผลต่อการเพิ่มระดับการรับรู้จากสัญญาณของกระเพาะปัสสาวะให้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องควบคุมปริมาณการดื่มน้ำไม่ให้มากเกินไป จดบันทึกการขับถ่ายปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอและฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ (Bladder Training) เพื่อให้สามารถกลั้นได้นานขึ้น โดยการค่อยๆ เพิ่มเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งให้นานขึ้น ตามคำแนะนำของแพทย์และนักกายภาพบำบัด ผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ดีอาจจะไม่ต้องกินยาก็ได้

  ปัจจุบันยาที่นิยมใช้ในการควบคุมภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน คือยากลุ่ม antimuscarinic ที่ช่วยลดการส่งสัญญาณจากกระเพาะปัสสาวะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางให้น้อยลง เพื่อจะทำให้คนไข้ทนต่อการปวดปัสสาวะได้นานขึ้น แต่ยานี้มีผลข้างเคียงคือทำให้ปากแห้ง คอแห้ง และท้องผูก ในอนาคตอันใกล้นี้ กำลังมีการดำเนินการนำยากลุ่มใหม่เข้ามาใช้ในประเทศไทย เป็นยาที่ทำให้กล้ามเนื้อปัสสาวะคลายตัวมากขึ้น จึงลดโอกาสที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวในช่วงกักเก็บปัสสาวะ โดยยาทั้ง 2 กลุ่มสามารถที่จะใช้ควบคู่กันได้ในผู้ป่วยที่ทานยากลุ่ม antimuscarinic แล้วไม่ดีขึ้น

  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม และฝึกควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ แต่ในกรณีที่ยังไม่ดีขึ้นก็ยังมีแนวทางการรักษาอื่นๆ เช่น ส่องกล้องฉีดสารโบท็อกซ์เข้าไปที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว หรือควบคุมวงจรระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การกระตุ้นเป็นครั้งคราวด้วยอุปกรณ์ภายนอก ฝังเข็มกระตุ้น หรือฝังอุปกรณ์เข้าไปกระตุ้นรากประสาท เพื่อควบคุมความผิดปกติที่เกี่ยวกับการปัสสาวะบ่อย

   ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติหรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ นอกเหนือจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินก็เป็นได้ ยิ่งพบสาเหตุที่แท้จริงของโรคได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายดีได้มากขึ้นเท่านั้น ทุกคนจึงไม่ควรละเลยความผิดปกติของร่างกาย และถึงแม้ไม่เจ็บป่วยก็ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพราะเรื่องของสุขภาพป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ไข

ข้อมูลสุขภาพโดย นพ.จักรกฤษณ์ จันทร์อู่
แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

ขอบคุณบทความจาก : http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/21/1046/TH