Make Appointment

การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเพื่อการมองเห็น

29 Nov 2016 เปิดอ่าน 2578

มีคำพูดเชิงสัพยอกว่า คนมีอายุมักจะมีวิสัยทัศน์กว้างไกล .. คำพูดนี้จริงทั้งสองแง่ แง่หนึ่งเป็นเรื่องของภูมิความรู้ที่สะสมขึ้นตามวัยและประสบการณ์ และในอีกแง่หนึ่ง เป็นเรื่องที่อาจจะหยอกล้อกันขำ ๆ ด้วยคำว่า วิสัยทัศน์ไกลนั้น เป็นที่รู้กันว่า คนเริ่มแก่ สายตาก็เริ่มยาว แม้บางคนจะพยายามปกปิดวัยของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการย้อมปิดผมขาว หรือแต่งองค์ทรงเครื่องให้ดูวัยรุ่นทันสมัย แต่สิ่งที่ยังซ่อนไม่ได้และจะเผยถึงอายุของคน ๆ นั้นขึ้นมา ก็เมื่อตอนที่ เขาหรือเธอ ยกหนังสือหรือโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านในระยะที่ไกลกว่าคนปกติทั่วไป...

    ภาวะสายตายาวตามอายุ หรือ ทางการแพทย์เรียกว่า Presbyopia เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเริ่มเกิดกับผู้มีอายุ  40 ปีขึ้นไปและจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้ว่า อาการนี้จะเป็นเรื่องของธรรมชาติและสามารถแก้ไขได้โดยการสวมแว่นสายตายาวหรือแว่นอ่านหนังสือก็ตาม แต่ก็มีส่วนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย Wellness Talk ฉบับนี้จึงขอแนะนำเทคนิคที่ช่วยให้การมองเห็นดียิ่งขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยแว่นตา จากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต นพ. กัปตัน วิริยะลัพภะ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตา (RLE: Refractive Lens Exchabge) และจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจอประสาทตา ให้ได้ทราบกันค่ะ

    “ในกลุ่มคนที่มีอายุ จะเริ่มมีข้อจำกัดในเรื่องการของมองเห็นมากขึ้น คือถ้าเคยสายตาดีอยู่แล้วหรือตอนเด็ก ๆ ไม่ใส่แว่นเลย เขาก็จะต้องพึ่งพาแว่นอ่านหนังสือหรือแว่นสายตายาวขึ้นมา เพราะจะเริ่มอ่านหนังสือไม่ได้เนื่องจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนโฟกัสของสายตาจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้กิจวัตรบางอย่างที่เคยทำเป็นปกติกลับทำไม่ได้ อย่างเช่น เล่นเทนนิสก็ตีลูกไม่ถูก แต่งหน้าก็ต้องใส่แว่นเพราะมองใกล้ไม่เห็น จะหั่นผักก็ต้องใส่แว่น เป็นต้น”

    คุณหมอกัปตันอธิบายว่า ตาคนเราก็มีเลนส์เหมือนกล้องถ่ายรูปที่จะสามารถโฟกัสภาพที่เห็นได้ตามระยะที่เปลี่ยนแปลงไปและปรับให้ชัดเจนเหมือนกับการถ่ายรูปโดยใช้กล้องสมาร์ทโฟน แต่พออายุเลย 40 สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเลนส์ในตาไม่สามารถหดยืดและปรับเปลี่ยนโฟกัสตามระยะการมองเห็นได้ดีเหมือนเดิม ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการสายตายาว และในบางคน เลนส์ในตาจะเริ่มขุ่นมัวหรือแข็งเมื่ออายุเลย 60 ซึ่งก็จะกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า “ต้อกระจก” นั่นเอง

    “วิธีการรักษาหรือทำให้การมองเห็นดีขึ้น โดยทั่วไปแล้ว คนที่มีอาการนี้ก็จะเลือกใส่แว่นสายตา ซึ่งก็ต้องมีการตัดใหม่เรื่อย ๆ เพราะระยะในการโฟกัสเปลี่ยนไป และปัญหาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็คือ แว่นนี้จะมีการใส่ ๆ ถอด ๆ เพราะระยะของการใช้สายตาในแต่ละกิจกรรมไม่เหมือนกัน อย่างเวลาขับรถ ก็อาจจะมองไกลได้ชัดแต่จะมองหน้าปัดรถไม่เห็นเป็นต้น ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยลดการใช้แว่นในกลุ่มคนที่มีอาการนี้ก็คือ Bright View Surgery คือการผ่าตัดเพื่อทำให้เกิดไบรท์วิว คือมองเห็นได้ดียิ่งขึ้นครับ”

    การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตานั้น หลักการคือ  แพทย์จะทำการสลายเลนส์แก้วตาเดิมแล้วดูดออก จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่มีกำลังโฟกัสที่ดีกว่าเดิมและสามารถโฟกัสภาพได้หลายระยะ (Multifocal artificial lens) เข้าไปแทน

    “การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตานี้ จะช่วยลดการพึ่งพาแว่นสายตาได้มาก เช่นจากเดิมใช้แว่น 60 - 90% ก็จะลดลงเหลือพึ่งพาแว่นแค่ 10-15% เทคนิคนี้มีมานานแล้วแต่เมื่อก่อนจะเน้นในเรื่องของการเปลี่ยนเลนส์ตาเพื่อรักษาภาวะต้อกระจก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีดีขึ้นมาก จึงได้ถูกนำมาใช้แก้ไขและลดการพึ่งพาแว่น ซึ่งในต่างประเทศรู้จักกันดีครับ”


    หลายคนจินตนาการเรื่องของการผ่าตัดตาเป็นเรื่องใหญ่และน่ากลัว เพราะตาถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่ง แต่การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาด้วยเทคนิคใหม่สมัยนี้ ไม่ได้น่ากลัวและใช้เวลานานอย่างที่คิด คุณหมอกัปตันบอกว่า เวลาที่ใช้ในการผ่าตัด ใช้เพียงประมาณ 40 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมงต่อดวงตาหนึ่งข้างเท่านั้น และในการผ่าตัดจะไม่ทำทั้งสองข้างพร้อมกันเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำทั้งสองข้างจะใช้เวลาสองวัน แต่ละวันจะใช้เวลาไม่นานและผู้รับการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลด้วยซ้ำ

    “ข้อดีของการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมก็คือ เราจะสามารถปรับระยะโฟกัสของเลนส์ให้เข้ากันได้กับสภาพและภาวะสายตา (สั้น/ยาว/เอียง) ของแต่ละคน และเลนส์แก้วตาเทียมผลิตมาจากวัสดุคล้าย ๆ พลาสติกซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและทนทาน ดังนั้นเวลาใส่จึงสามารถเข้าไปอยู่ได้อย่างถาวร มีอายุการใช้งานยาวนาน”

คุณหมอกัปตันฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตามีความทันสมัยมาก และผู้มารับการรักษาก็จะได้รับการตรวจและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด รวมทั้งความเชื่อเดิมที่คนมักเข้าใจผิดกันว่า การผ่าตัดจะต้องเจ็บ ก็ไม่เจ็บอีกแล้ว เพราะเป็นการทำ Micro Surgery ที่จะมีการเปิดแผลเล็กมาก รวมทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบและใช้เวลาพักฟื้นไม่นานอีกด้วย
    ทราบเทคนิคดี ๆ อย่างนี้แล้ว เชื่อว่า หลายท่านที่มีวิสัย (ทัศน์) ในการมองเห็นไกล และไม่ต้องการใช้แว่นเพื่อบ่งบอกอายุ คงต้องพิจารณาทางเลือกดี ๆ แบบนี้กันบ้างแล้วค่ะ…

หมายเหตุ: การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเพื่อการมองเห็นจะแนะนำสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

ขอบคุณบทความจาก : http://www.phuketbulletin.co.th/Lifestyle/view.php?id=1543