Make Appointment

การผ่าตัดแยกนิ้ว

08 Sep 2016 เปิดอ่าน 3585

เมื่อพ่อแม่พบว่าลูกน้อยเกิดมาพร้อมกับมือที่มีนิ้วติดกัน หลายท่านคงจะสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มาฟังคำตอบกับคุณหมอกันค่ะ
       
       การที่ทารกคลอดออกมาแล้วมีนิ้วมือติดกัน เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4-8 สัปดาห์ จะมีการสร้างมือของทารก โดยสร้างเป็นแผ่นก่อน แล้วค่อยๆ มีการพัฒนาแบ่งออกเป็นนิ้วแต่ละนิ้วออกมา ถ้ามีความผิดปกติของการพัฒนาการในช่วงนั้น ก็จะทำให้เกิดปัญหานิ้วติดกัน โดยการเชื่อมติดกันนั้น อาจจะเป็นเฉพาะผิวหนัง หรือมีส่วนของกระดูกเชื่อมติดกันด้วยก็ได้ และถ้าการเชื่อมเป็นเฉพาะตรงโคนนิ้วก็จะเรียกว่า นิ้วติดกันบางส่วน แต่ถ้าเชื่อมติดกันไปจนถึงปลายนิ้วจะเป็นลักษณะนิ้วติดกันแบบสมบูรณ์ ซึ่งการรักษาจะทำโดยการผ่าตัดแยกนิ้วออกจากกัน

   สำหรับช่วงอายุที่เหมาะสมในการผ่าตัด ถ้านิ้วที่ติดกันมีความยาวพอๆ กัน จะผ่าตัดประมาณ 1 ขวบครึ่งจนถึงก่อนวัยเรียน เพื่อให้มือดูปกติและมีการพัฒนามือให้ใช้งานได้ดีขึ้น แต่ถ้านิ้วที่ติดกันมีความยาวต่างกันมาก เช่น นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ต้องรีบทำตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วที่ยาวกว่าโก่งหรืองอผิดรูป ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปของนิ้วติดกัน และในบางกรณีถ้ามีความผิดปกติซับซ้อนร่วมด้วย เช่น ร่างกายของเด็กไม่สมบูรณ์ มีเพียงท่อนแขนข้างเดียวและมีนิ้วที่ติดกันโผล่ออกมา 2 นิ้ว ลักษณะนี้ จะใช้หลักการรักษาเช่นเดียวกับนิ้วติดกันทั่วไปคือ ผ่าตัดแยกนิ้วออกจากกัน แล้วใช้ผิวหนังมากั้นตรงโคนระหว่างนิ้ว จากนั้นนำผิวหนังมาเสริมด้านข้างของแต่ละนิ้วที่แยกออกจากกัน กรณีนี้นิ้วอาจใช้งานได้ไม่ปกติเหมือนทั่วๆ ไป เนื่องจากมีความไม่สมบูรณ์ของกระดูก ข้อต่อและเส้นเอ็นร่วมด้วย ดังนั้นการผ่าตัดจึงหวังผลเพียงแยกนิ้วออกจากกัน และทำให้นิ้วทั้งสองใช้งานได้ในลักษณะคล้ายตะเกียบ เพื่อช่วยในการหยิบจับ สิ่งของ และช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น

ผศ.พญ.สายชล ว่องตระกูล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000085738