Make Appointment

การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

26 Oct 2021 เปิดอ่าน 2008

เมื่อมีอาการปวดจุกแน่นหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน, หน้าอกหรือบริเวณลำคอ  อาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนอาหารไม่ย่อย  รับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็วกว่าปกติ  มีอาการเรอบ่อยๆ  อาหารคลื่นไส้อาเจียน  อาการกลืนติดกลืนลำบาก  หรือกลืนแล้วเจ็บ  อาการเจ็บคอ  คอแห้ง  เสียงแหบหรือไอบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
 

อาการข้างต้นเหล่านี้ล้วนเป็นอาการแสดงอันเนื่องมาจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนบน  ซึ่งได้แก่  หลอดอาหาร  กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น  โรคในทางเดินอาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหล่านี้ได้  เช่น  โรคกรดไหลย้อน  โรคหลอดอาหารอักเสบเป็นแผล  โรคกระเพาะอาหารอักเสบ  โรคแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น  โรคมะเร็งหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร  นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์  ไพโรไล (Helicobacter pylori) ในกระเพาะอาหารยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย

การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esopha-gogastroduodenoscopy : EGD หรือ Gastroscopy) เป็นการตรวจมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรค

 

ข้อบ่งชี้ในการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน

     1.ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนบนดังกล่าวข้างต้นที่มีอาการเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อการรักษา : แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยและพิสูจน์โรคโดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ (Tissue Biopsy) เพื่อแยกสาเหตุของโรคและยังสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องในกรณีพบติ่งเนื้องอกในทางเดินอาหารได้อีกด้วย

     2.ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนบนร่วมกับมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัย (Alarm Features) ได้แก่  ท้องอืดท้องโตเป็นเวลานาน  คลำได้ก้อนในท้อง  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  กลืนอาหารติด  กลืนลำบาก  มีอาการอาเจียนบ่อยๆ มีประวัติครอบครัวของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหารหรืออายุมากกว่า 55 ปี  ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) 

     3.ผู้ที่มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ  ถ่ายเป็นเลือดแดงปนดำ  อาเจียนปนเลือด  หรือมีภาวะโลหิตจาง  ซึ่งสงสัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (Upper  Gastrointestinal  Bleeding : UGIB)  การส่องกล้องตรวจสามารถให้การวินิจฉัยโรค  ประเมินความรุนแรงและสามารถทำการรักษาห้ามเลือดได้ในทันที  ทำให้ลดความจำเป็นและความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อาจจะต้องได้รับการผ่าตัดช่องท้องเพื่อห้ามเลือด

     4.ตรวจติดตามการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric  Ulcer) เพื่อยืนยันการหายของแผล  และเพื่อขจัดข้อสงสัยสาเหตุของแผลกระเพาะอาหารอันอาจเกิดเนื่องมาจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

     5.เพื่อให้การรักษาในกรณีที่มีการกลืนสิ่งแปลกปลอมลงในหลอดอาหาร (Foreign  Body  Impaction) เช่น  เหรียญ  ถ่านแบตเตอรี่  เข็ม  กระดูกสัตว์  ก้างปลา  เป็นต้น

     6.เพื่อให้การวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงในกรณีที่มีการกลืนสารกัดกร่อน (Corrosive  ingestion) เช่น  กรดหรือด่าง  น้ำยาล้างห้องน้ำ

     7.เพื่อทำการรักษาแก้ไขภาวะตีบตันของทางเดินอาหาร (Stricture) อันเป็นผลมาจากโรคมะเร็งทางเดินอาหาร  การเกิดแผลในทางเดินอาหารหรือการตีบตันอันเป็นผลมาจากการกลืนสารกัดกร่อน

 

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้อง

การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนเป็นการตรวจที่สามารถทำได้โดยง่าย  ใช้เวลาไม่นาน  โดยทั่วไปการตรวจใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีขึ้นอยู่กับโรคที่ตรวจพบและความจำเป็นในการรักษา  ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์  และประเมินความพร้อมก่อนการตรวจ  ผู้ที่มีโรคประจำตัว  เช่น  โรคปอด  โรคหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน  โรคเลือด  รับประทานยาใดๆ อยู่เป็นประจำ  หรือแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
 

ผู้ป่วยควรงดอาหารและน้ำประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนตรวจ  ขณะตรวจแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย  จากนั้นให้ยาชาเฉพาะที่โดยการพ่นยาชาภายในลำคอ  และผู้ป่วยอาจได้รับยานอนหลับหรือยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกายตามความเหมาะสม
 

กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscope) เป็นกล้องวิดีโอขนาดเล็กซึ่งติดอยู่บริเวณปลายท่อยาวที่มีลักษณะอ่อน  โค้งงอ  และยืดหยุ่นได้  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร  ระหว่างการตรวจแพทย์จะสอดกล้องผ่านเข้าทางปากอย่างช้าๆ ผ่านหลอดอาหาร  กระเพาะอาหารจนถึงบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น  หลังจากนั้นแพทย์จะใส่ลมเข้าขยายภายในกระเพาะอาหารเพื่อให้ดูภาพได้ชัดเจนขึ้น  ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดแน่นท้องเล็กน้อย  หลังการตรวจ  ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้หลังจากคอหายชาซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง  ในกรณีที่ได้รับยานอนหลับหรือยาระงับความรู้สึก  ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในห้องสังเกตอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง  และแนะนำให้มีญาติมารับ  ไม่ควรขับรถ  หรือทำงานที่ต้องใช้สมาธิเนื่องจากอาจมีอาการง่วงอีกประมาณ 4-6 ชั่วโมง      

 

บทความโดย นพ.กฤษฎา  จำนงกิจพานิช

ที่มา  วารสารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน