Make Appointment

กินเค็ม...มหันตภัยร้ายโรคไต

08 Jan 2017 เปิดอ่าน 2061

โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย จากการศึกษาความชุกของโรค พบว่ามีประชากรไทยเป็นความดันโลหิตสูงถึง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ หรือกว่า 10 ล้านคน และพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน

โดยส่วนมากเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น ซึ่งหากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจวาย อัมพาต และความเสื่อมจากการทำงานของไตนำไปสู่ภาวะไตวาย หลักสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ คือ ควบคุมความดันโลหิต รักษาเบาหวาน รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจและหลอดเลือด

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การควบคุมความดันโลหิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การบริโภคเกลือในปริมาณมาก มีการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหาร โดยเฉพาะคนไทย มีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งผลเสียที่ตามมาจากการบริโภคอาหารเค็ม คือ โซเดียมสูง ซึ่งส่งผลเสียให้มีความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

โซเดียมคืออะไร?

โซเดียมเป็นหนึ่งในเกลือแร่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง ควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ร่างกายของเราได้รับโซเดียมจากอาหาร ซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งมีรสชาติเค็ม มักใช้ปรุงรสหรือถนอมอาหาร เช่น น้ำปลา กะปิ นอกจากนี้ โซเดียมแอบแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น

โซเดียมสูงส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น จากการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึง 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำ ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมี ดังนี้

1. เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ แม้ว่าโซเดียมจะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้น

2. ทำให้ความดันโลหิตสูง การรับประทานโซเดียมมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่า ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตแต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด

3. เกิดผลเสียต่อไตจากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียม และน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือการเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างซึ่งมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

การรับประทานอาหารรสเค็มจัดส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างไร สําหรับวันนี้จะนําเสนอเกี่ยวกับโซเดียมในอาหาร เพื่อให้คุณผู้อ่านเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม

โซเดียมอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง?

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงมักมีรสเค็ม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีรสเค็ม แต่อาหาร ที่มีโซเดียมสูงบางชนิดอาจไม่มีรสเค็ม ซึ่งเรียกว่า มีโซเดียมแฝง ทําให้ร่างกายรับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงควรทําความรู้จักอาหารประเภทนี้ไว้ด้วย จากการสํารวจพบว่าปริมาณโซเดียมที่ได้รับส่วนใหญ่มาจาก ขั้นตอนการปรุงอาหารมากกว่าการเติมน้ำปลาหรือเกลือหลังปรุงเสร็จแล้ว โดยเราสามารถแบ่งอาหารที่มี โซเดียมเป็นส่วนประกอบได้ ดังนี้

1. อาหารแปรรูปและอาหารหมักดอง ได้แก่ อาหารกระป๋อง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น

2. เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ได้แก่ เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ำปลา ซึ่งมีปริมาณโซเดียม สูง สําหรับคนที่ต้องจํากัดโซเดียมควรงดซอสปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ เพราะซอสเหล่านี้แม้จะมีปริมาณโซเดียมไม่มากเท่าน้ำปลา แต่คนที่จํากัดโซเดียมก็ไม่ ควรบริโภคให้มากเกินไป

3. ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มแต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ประมาณ 15%

4. ขนมกรุบกรอบต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด มีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก

5. อาหารกึ่งสําเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง

6. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู ( Banking Powder หรือ Banking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง เพราะผงฟูที่ใช้ในการทําขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบ คาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสําเร็จรูปที่ใช้ทําขนมก็มีโซเดียมด้วยเพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว

7. น้ำและเครื่องดื่ม น้ำฝนเป็นน้ำที่ปราศจากโซเดียม ส่วนน้ำบาดาลและน้ำประปามีโซเดียม ปะปนแต่ในจํานวนไม่มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพื่อให้เป็นเครื่องดื่มสําหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ส่วนน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไป ทําให้น้ำผลไม้ เหล่านี้มีโซเดียมสูง ดังนั้น หากต้องการดื่มน้ำผลไม้ควรดื่มน้ำผลไม้สดจะดีกว่า

ศุกร์สุขภาพได้เสนออันตรายจากการรับประทานอาหารรสเค็ม ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพรวม ทั้งแนะนําการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มไปแล้ว

สําหรับวันนี้จะนําเสนอเกี่ยวกับโซเดียมในอาหาร การลดปริมาณโซเดียม ในร่างกาย รวมไปถึงปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการ เพื่อควบคุมให้พอเหมาะกับร่างกายของเรา ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป คุณผู้อ่านสามารถนําไปปฏิบัติเพื่อให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

เราจะลดปริมาณโซเดียมในอาหารได้อย่างไร?

ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงได้ 1 ช้อนชา หรือเทียบเป็นปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงอื่นๆ ได้ดังตัวอย่าง คือ ผงปรุงชูรส 1 ช้อนชา โซเดียม 950 มิลลิกรัม ผงชูรส 1 ช้อนชา โซเดียม 600 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ โซเดียม 420 - 490 มิลลิกรัม น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา โซเดียม 400 มิลลิกรัม ผงฟู 1 ช้อนชา โซเดียม 340 มิลลิกรัม และซอสพริก น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ โซเดียม 220 มิลลิกรัม เป็นต้น

หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเหล่านี้ 3 มื้อต่อวัน จะทําให้ได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้หากเราเติมน้ำปลาเพิ่ม ก็จะเพิ่มปริมาณโซเดียมอีกถึงช้อนชาละ 500 มิลลิกรัม ส่งผลให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตัวตามหลักการดังต่อไปนี้เพื่อให้การควบคุมปริมาณโซเดียมได้ประสิทธิภาพสูงสุด

1. หลีกเลี่ยงการใช้เกลือปรุงอาหาร เลือกเติมเครื่องปรุงที่ให้โซเดียมไม่เกินปริมาณที่กําหนด และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยํา ที่ให้รสหวาน เปรี้ยว และเผ็ด เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ

2. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาแดดเดียว อาหารหมักดอง ปลาส้ม แหนม และอาหาร แปรรูปจําพวกไส้กรอก กุนเชียง หมูหย็อง

3. ไม่เติมผงชูรส

4. น้ำซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูงควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจาง

5. ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของอาหารสําเร็จรูปและขนมถุง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงได้ถูกต้อง

อาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูง ถือเป็นมหันตภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพความเคยชิน ในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยนั้นปรับเปลี่ยนได้ยาก เพราะเมื่อเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะโหยหารสเค็มต่อไปเรื่อยๆ ถึงเวลาที่เราควรใส่ใจเรื่องอาหารกันมากขึ้น โดยการสร้างนิสัยการกินอาหารรสจืดอย่างถูกวิธีเพื่อลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต

โดย พญ.อติพร อิงค์สาธิต, พญ.กชรัตน์ วิภาสธวัช, นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ขอบคุณบทความจาก : http://www.suvarnachad.co.th/listtoxic_article_110.php?pdid=186&page=8