Make Appointment

ครั้งแรก ทำบอลลูนหัวใจตีบ เคสเส้นเลือดแตกแขนง

12 Dec 2016 เปิดอ่าน 1507

รคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคหัวใจตีบ ที่คนไทยเป็นกันมาก มีวิธีการรักษาอยู่ไม่มาก กินยา ทำบอลลูนและผ่าตัด การทำบอลลูนน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด หากต้องเลือกระหว่างการผ่าตัดและการทำบอลลูน ซึ่งการทำบอลลูนเป็นวิธีที่ทำกันมานานและมีความปลอดภัยสูง ค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าการผ่าตัด

แต่ก็มีคนป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบบางเคสที่ไม่สามารถทำบอลลูนได้ หากฝืนทำอาจจะมีความเสี่ยงสูง เช่น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีรอยตีบในตำแหน่งที่เส้นเลือดแตกแขนงหรือหักมุม แพทย์จะไม่เสี่ยงทำบอลลูน เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะตีบตันในเส้นเลือดที่หักมุม หรือเส้นเลือดอาจจะแตกได้

ดังนั้น ผู้ที่ประสบปัญหาเส้นเลือดแตกแขนงอาจจะมีไม่มาก หากพบอุปสรรคนี้ก็ต้องผ่าตัดแทนการทำบอลลูน การผ่าตัดนอกจากจะเจ็บกว่าและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน

ยังไม่พบว่ามีแพทย์คนไหนที่กล้าทำบอลลูนในเคสที่มีเส้นเลือดหักเหเช่นนี้

จนกระทั่ง น.พ.เทวัญ สุวานิช วุฒิบัตรอายุรศาสตร์หัวใจ ประกาศนียบัตรอนุสาขาหัตถการ ปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด แพทย์ประจำ ณ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ รักษาคนไข้โรคหัวใจมาไม่ต่ำกว่า 1 พันราย เมื่อครั้งไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ทำการรักษาคนไข้โรคหัวใจหลากหลายอาการ จนสามารถคิดหาหนทางรักษาคนไข้เคสเส้นเลือดแตกแขนงได้สำเร็จ

การคิดค้นวิธีการรักษาคนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีเส้นเลือดแตกแขนงได้โดยการทำบอลลูนเป็นครั้งแรกนี้ น.พ.เทวัญถือเป็นแพทย์คนแรกของโลกที่สามารถรักษาโดยวิธีการทำบอลลูนได้สำเร็จ โดยถูกเชิญไปพรีเซนต์เทคนิคนี้ถึงเวที EuroPCR 2013 ที่กรุงปารีส ให้กับคณะแพทย์จากทั่วโลกได้ฟัง

แพทย์ที่ได้รับฟังเทคนิคการทำบอลลูนในเคสเส้นเลือดแตกแขนงนี้ ได้รับความสนใจจากคณะแพทย์หัวใจจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก เพราะยังไม่มีแพทย์คนไหนลงมือทำบอลลูนในเคสนี้ น.พ.เทวัญ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจถึงกรณีนี้ว่า ในเคสที่เส้นเลือดหักมุม 90 องศาเช่นนี้ แพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ทำบอลลูน

"แต่ผมทำได้ โอกาสเสี่ยงก็เหมือนการทำบอลลูนทั่วไป แต่ผมมีเทคนิคที่สามารถนำบอลลูนผ่านเข้าไปในจุดที่ตีบได้โดยไม่ให้ก้อนไขมันไปอุดเส้นเลือดที่แตกแขนง ซึ่งผมทำสำเร็จมาแล้ว 6 ราย โดยที่คนไข้ไม่ต้องผ่าตัด"

สำหรับเทคนิคพิเศษนี้ น.พ.เทวัญอธิบายว่า คนป่วยโรคหัวใจบางรายที่เป็นโรคเบาหวานด้วย อาจจะไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ เพราะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน และคนไข้ที่กลัวการผ่าตัด ซึ่งมีข้อจำกัดมาก และเทคนิคนี้ ผู้ที่นำไปใช้ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญและชำนาญมาก

วิธีการคือการส่งบอลลูนเข้าไปขยายเส้นเลือดในจุดที่ตีบ หากตรงกับจุดที่เส้นเลือดหักมุมพอดี ต้องระวังไม่ทำให้ก้อนไขมันที่อุดตันไปดันเส้นเลือดที่หักเห ก็คือลากบอลลูนกลับมายังจุดตัดนั้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยเคลียร์จุดตีบทั้งขาไปและขากลับ

เทคนิคนี้ น.พ.เทวัญบอกว่า ส่วนใหญ่จะส่งบอลลูนไปขาเดียวไม่มีขากลับ แต่วิธีการนี้จะช่วยเคลียร์จุดตีบในช่องที่หักมุมได้ด้วย

นี่เป็นเพียงคำอธิบายคร่าว ๆ เพราะยังมีขั้นตอนที่ละเอียดกว่านี้ในการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งผลตอบรับจากการรักษาด้วยเทคนิคนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก โดยทั้ง 6 เคสที่เส้นเลือดแตกแขนงนี้ รักษาโดยการทำบอลลูนหัวใจ ไม่ต้องขึ้นเตียงผ่าตัดให้เจ็บตัว

ทั้งนี้ การรักษาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลัก ว่าจะใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีการใด

* ขอบคุณบทความจาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1380866125