Make Appointment

ความก้าวหน้าของเลนส์แก้วตาเทียม

05 Jan 2017 เปิดอ่าน 1921

เมื่อถามถึงความต้องการของคนทุกคนเกี่ยวกับสายตา คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการมองเห็นที่ชัดเจนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาขับรถ ทำงาน หรืออ่านหนังสือโดยไม่ต้องใช้แว่นตาหรือคอนแท็กเลนส์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ. ในอดีตเราต้องยอมรับในความผิดปกติของตาที่เป็น มาตั้งแต่กำเนิด หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาได้พัฒนาไปและสามารถตอบรับความต้องการของผู้ป่วยได้มากขึ้น. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมไม่เพียงแต่ได้รับการรักษาต้อกระจกเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียงที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดได้อีกด้วย อีกทั้งการผ่าตัดต้อกระจกในปัจจุบันนั้นถือเป็นการผ่าตัดเล็กใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตรซึ่งเทียบได้กับปลายส้อมรับประทานอาหาร แผลปิดสนิทได้โดยไม่ต้องเย็บปิดแผล สามารถใช้สายตาได้เลยหลังผ่าตัด ไม่ต้องปิดตาเป็นเวลานานเหมือนสมัยก่อน จึงทำให้การรักษาต้อกระจกควบคู่ไปกับภาวะสายตาสั้น ยาว เอียงโดยการผ่าตัดนั้นได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

               

            ภาพแสดงการมองเห็นหลังใส่เลนส์ปรับภาพชัดระยะเดียว (ภาพซ้าย) และเลนส์ปรับภาพชัด
            หลายระยะ (ภาพขวา)

                 
                                          ภาพขยายเลนส์แก้วตาเทียมแบบปรับภาพชัดหลายระยะ
 

เลนส์แก้วตาเทียมที่มีให้เลือกใช้ในการรักษาต้อกระจกโดยทั่วไปนั้น ได้มีการกล่าวถึงโดยละเอียดในบทความ "เรื่องของเลนส์แก้วตาเทียม" ในวารสารคลินิกฉบับเดือนมิถุนายน 2551 ส่วนในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการใช้เลนส์แก้วตาเทียมในการแก้ไขสายตาในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

- การแก้ไขภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ
เลนส์ชนิดนี้มีการปรับให้สามารถมองเห็นได้ในทุกระยะโดยไม่ต้องใส่แว่นอ่านหนังสืออีกต่อไป เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นอ่านหนังสือหรือคอนแท็กเลนส์ และใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนวัยรุ่นอีกครั้ง ซึ่งเลนส์ประเภทนี้มีการออกแบบด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ลดการกระจายของแสงในเวลากลางคืน เมื่อเทียบกับเลนส์สมัยก่อน. การใส่เลนส์นี้ควรใส่ในตา ทั้ง 2 ข้างในระยะเวลาใกล้เคียงกัน (ไม่ควรมากกว่า 4-6 สัปดาห์) เนื่องจากต้องอาศัยการปรับตัวของสมองเพื่อให้มีการพัฒนาและได้รับประสิทธิภาพจากเลนส์สูงสุด.

อย่างไรก็ดี การใส่เลนส์ชนิดนี้ก็ยังมีข้อจำกัด ในการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ความต้องการของผู้ป่วย อาชีพ และอื่นๆ.

- การแก้ไขภาวะสายตาเอียง
ภาวะสายตาเอียงโดยมากมีสาเหตุจากความโค้งของกระจกตาที่ไม่สมดุล มักเป็นตั้งแต่กำเนิดและรบกวนการมองเห็น เลนส์ชนิดนี้จะแก้ไขสายตาเอียงโดยการปรับมุมองศาให้เหมาะสมกับระดับสายตาเอียงของผู้ป่วย.

เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันเลนส์แก้ไขภาวะสายตาเอียงยังไม่สามารถทำควบคู่ไปกับการมองเห็นหลายระยะได้ ซึ่งเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้ป่วยและจักษุแพทย์มีโอกาสที่จะได้เลือกใช้เลนส์ที่พัฒนาจนมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขสายตาเอียงพร้อมกับปรับภาพชัดได้หลายระยะอยู่ในเลนส์เดียวกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยต้อกระจกมากขึ้น และในอนาคตการใส่แว่นคงไม่ใช่เครื่องหมายของผู้สูงอายุอีกต่อไป.

                      

ภาพแสดงการมองเป็นของผู้ป่วยต้อกระจกที่มีภาวะสายตาเอียง (ภาพซ้าย) หลังผ่าตัดต้อกระจกที่ยัง
มีสายตาเอียง (ภาพกลาง) หลังผ่าตัดต้อกระจกและแก้ไขสายตาเอียงด้วยเลนส์สายตาเอียง (ภาพขวา)
 
มัญชิมา มะกรวัฒนะ พ.บ.,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอบคุณบทความจาก : https://www.doctor.or.th/clinic/detail/7121