Make Appointment

ความผิดปกติบนใบหน้า แก้ไขได้ตั้งแต่เด็ก

17 Jan 2017 เปิดอ่าน 2831

  ผู้อ่านคงเคยเห็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีรูปหน้า-ศีรษะผิดปกติ บ้างปากแหว่ง เพดานโหว่ ตาโปน จมูกสองแฉก หน้าตาบิดเบี้ยว มีเนื้องอกที่เรียกว่าท้าวแสนปมเต็มหน้า หรืออื่นๆ อีกหลายลักษณะ ทำเอาบางคนเบือนหน้าหนี เดินหลีก ไม่อยากเข้าใกล้ ทั้งที่คนเหล่านี้ถือเป็นคนปกติ เพียงแต่มีชีวิตที่เกิดมาน่าเห็นใจกว่าคนอื่น
แน่นอน นี่ไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากให้เกิดกับตัว หรือกับคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกับลูกที่อุ้มท้องมาตลอดสิบเดือน แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ หาทางการแก้ไขและช่วยเหลือเขาโดยเร็วที่สุด ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่เล็ก โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้คือ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรักษาความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฉบับนี้เราจึงเดินทางมาที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว เพื่อพูดคุยกับรองศาสตราจารย์นายแพทย์นนท์ โรจน์วชิรนนท์ รองหัวหน้าศูนย์ฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนอื่นเราถามคุณหมอถึงความรู้สึกที่ได้มาทำงานอันเป็นกุศลนี้ว่า
“จริงๆ มีหมอทำงานแนวนี้หลายคนครับ แต่ส่วนใหญ่สังคมไม่ค่อยรู้ ผมก็เป็นแค่คนหนึ่งที่มาทำงานศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งคนทั่วไปอาจคิดว่าศัลยกรรมตกแต่ง คือการทำตา ทำจมูก ทำใบหน้าให้สวยงาม แต่จริงๆ ที่ทำอยู่นี้ก็คือ อีกด้านของศัลยกรรมตกแต่ง แต่เป็นศัลยกรรมตกแต่งเพื่อช่วยเหลือคนที่มีหน้าตาผิดรูป คือทำส่วนที่ต้องรักษาแก้ไขความพิการควบคู่ไปกับศัลยกรรมความงาม  ซึ่งพอผมมาทำตรงนี้โดยได้รับการชักชวนจากอาจารย์จรัญ (ศ.นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์) และสนับสนุนให้ไปเรียนต่อเพื่อการผ่าตัดเฉพาะทางนาน  2 ปีที่ต่างประเทศ  ผมกลับมาก็เริ่มสร้างระบบ เก็บข้อมูล สร้างทีมให้แข็งแกร่งขึ้น จนเกิดเป็นศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ นี้ขึ้น มีตัวหลักคืออาจารย์จรัญ เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ส่วนผมเป็นรองหัวหน้าศูนย์ฯ ทำหน้าที่ทั้งประสานงาน และทำหน้าที่รักษาผ่าตัดคนไข้ไปด้วย

...ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยครับ เพราะวงการแพทย์บ้านเรา หมอที่ทำงานภาครัฐ เงินเดือนก็แค่สองสามหมื่น อาจมีเงินเพิ่มนิดหน่อย แต่เวลาผ่าตัดก็หนักมาก ต้องทำตั้งแต่เช้าถึงเย็น บางครั้ง ผ่าตัดรายเดียวสี่ถึงหกชั่วโมง ก็เหนื่อยแล้วครับเพราะเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มาก  เวลาราชการเราก็ทำงานที่นี่ ตกเย็นเราก็ทำส่วนตัว ทำที่โรงพยาบาลเอกชน บางทีทำถึงเที่ยงคืน ถึงตีหนึ่ง เพราะถ้าไม่ทำ รายได้ก็ไม่พอ มันก็มีเหนื่อยๆ ท้อๆ เหมือนกันครับ แต่มันเหมือนสัญญาลูกผู้ชายด้วย เพราะผมสัญญากับอาจารย์จรัญเอาไว้แล้ว  และถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ มันหมดเลยนะ ใครจะช่วยคนไข้เหล่านี้ เพราะปัจจุบันเราเป็นศูนย์ฯ เดียวที่ทำครบวงจร อีกอย่าง เวลาเราเห็นเด็กเหล่านี้เขาผ่าตัดแก้ไขแล้วดีขึ้น เราก็รู้สึกมีความสุขยินดีไปด้วย รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณค่านะ”

ความพิการนี้มีสาเหตุจากอะไร
“จริงๆ ต้องทราบก่อนว่า ความพิการที่พูดถึงคืออะไร ความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะมีหลายแบบมาก แบ่งได้เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงกับชนิดรุนแรงชนิดที่ไม่รุนแรงที่ผู้คนรู้จักกัน เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ส่วนที่รุนแรงก็มีเป็นร้อยๆโรค คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้จัก เช่น โรคงวงช้าง คือกะโหลกตรงบริเวณจมูกมีรอยรั่ว ทำให้สมองยื่นออกมาคล้ายงวง โรคใบหน้าเล็กแต่กำเนิด ซึ่งบางคนเป็นมาก ทำให้เนื้อแหว่งหายไป เหมือนคนปากกว้างๆ หรือมีใบหูเล็กนิดเดียว หรือแทบหายไปเลย โรคใบหน้าแหว่งแต่กำเนิดซึ่งต่างจากปากแหว่ง เพราะแหว่งทั้งหน้า ถึงตาถึงหน้าผาก โรคกะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันก่อนกำหนด ตอนเล็กๆ ศีรษะเราจะเล็กนิดเดียว กะโหลกก็จะเป็นหลายๆ ชิ้น พอเราโตขึ้น กะโหลกจะมีการขยายขนาดขึ้นตามสมองที่โตขึ้น  แต่คนที่เป็นโรคนี้พอสมองใหญ่ขึ้น  กะโหลกขยายตามไม่ได้ เพราะกะโหลกเชื่อมติดกันก่อนกำหนด อาจทำให้เป็นปัญญาอ่อน หรือถึงขึ้นเสียชีวิตได้ หรือบางทีขยายไปเฉพาะด้านที่ไม่มีการเชื่อมติด ทำให้ศีรษะผิดรูป ทั้งหมดนี้เราจะเรียกรวมกันว่า ความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
…คือใบหน้าเราตอนเล็กๆ ตอนอยู่ในท้อง โดยเฉพาะตอนหนึ่งถึงสองเดือนแรก หน้าเราไม่ได้มีตามีจมูกอยู่อย่างนี้ แต่มันเป็นก้อนเล็กๆ อยู่กันคนละที่ แล้วค่อยๆ มาเชื่อมกัน ตาจริงๆอยู่ด้านข้าง ไม่ได้รวมอยู่ด้านหน้า จมูกก็แยกอยู่สองข้าง  ปากก็เป็นรู แต่ละส่วนไม่ใช่อย่างที่เราเห็น แล้วถ้ามีอะไรก็ตามมาขัดจังหวะ เช่น สารอาหารไม่เพียงพอ ถูกกระแทกกระเทือน อุบัติเหตุ หรือเกิดเป็นไข้ ติดเชื้อไวรัส เชื้อโรค หรือได้รับยาทำแท้ง หรืออะไรก็ตามที่ขัดขวางขณะร่างกายกำลังสร้างเซลล์และเพิ่มจำนวนเซลล์ ก็อาจเกิดความพิการขึ้น ซึ่งถามว่าเกิดบ่อยแค่ไหน จริงๆ ก็เจอไม่เยอะ สองพันคนอาจเจอสักคน หรือสองแสนคนอาจเจอสักคน แล้วแต่ว่าเป็นโรคอะไรด้วย”

กลุ่มที่เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติ
“ส่วนใหญ่เจอในคนฐานะไม่ค่อยดี คือถ้าแม่ตั้งครรภ์ดูแลสุขภาพดี ได้รับสารอาหารครบถ้วน ได้รับวิตามิน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็ไม่ค่อยมีอะไร แต่ถ้าแม่ตั้งครรภ์อดอยาก สุขภาพไม่แข็งแรง อดมื้อกินมื้อ ยาบำรุงไม่เคยกิน แถมทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ต้องเจอกับมลพิษต่างๆ ความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ และความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้น
...อย่างไรก็ดี คนที่มีฐานะครอบครัวดี ดูแลสุขภาพดี ก็อาจเจอได้เช่นกัน คือบางโรคมันมีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย เช่น อาจมียีนหรือโครโมโซมถ่ายทอดมาที่ลูก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อหรือแม่ อาจข้ามไปเป็นปู่ย่าตายายก็ได้ ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าคนไข้มีประวัติว่าถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เราก็สามารถเจาะน้ำคร่ำไปตรวจดูได้ แต่ขณะเดียวกัน บางโรคเราก็ไม่รู้ ขนาดอัลตร้าซาวด์ดูสองสามที บางทียังไม่เจอ เนื่องจากมันดูยาก ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ”

ความรุนแรงของโรค
“ความรุนแรงของโรคแบ่งได้เป็นกลุ่มไม่ซับซ้อนกับกลุ่มซับซ้อนและรุนแรงมาก กลุ่มไม่ซับซ้อนก็เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่  ส่วนกลุ่มซับซ้อนและรุนแรงมาก เช่น คนที่เป็นใบหน้าแหว่งแต่กำเนิด ซึ่งบางคนรุนแรงจนทำให้ตาบอด บางคนหัวยุบ เล็ก ศีรษะไม่เจริญเติบโต หรือตาสองข้างอยู่ห่างกันผิดปกติ บางคนจมูกเป็นสองแฉก หน้าเล็กเบี้ยว ขากรรไกรเล็ก บางคนเป็นท้าวแสนปม มีเนื้องอกเต็มตัว หรือใหญ่มากจนใบหน้าเสียรูป บางคนไม่มีหูหรือมีเพียงติ่งหูนิดเดียว บางคนอายุสิบแปดสิบเก้าแต่เนื้อเยื่อใบหน้าเสียสภาพหดตัวเล็กเหี่ยวก่อนวัย บางคนกะโหลกเชื่อมติดกัน ทำให้ตาโปนหลุดจากเบ้า เพราะเบ้าตาเล็กไม่เจริญตามปกติ หรือหัวโตมากจากมีน้ำคั่งในสมอง  บางคนเป็นเนื้องอกของกระดูกขากรรไกรขนาดใหญ่มาก อย่างคนขับแท๊กซี่ที่เคยออกรายการเรื่องจริงผ่านจอเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้โดยสารเกิดความหวาดกลัว มีผลต่ออาชีพการงาน ก็ต้องนัดมาผ่ามาแก้ไขหลายครั้ง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะดูเป็นปกติ เหล่านี้คือกลุ่มซับซ้อนและรุนแรงมาก”

ตรวจและรักษาได้เมื่อใด
“ส่วนใหญ่เห็นตั้งแต่แรกคลอดเลย ยกเว้นโรคบางโรค หรือคนที่เป็นน้อยก็อาจไม่เห็นเลย จนป่วยไปเจอหมอก็อาจสงสัยว่าเป็นโน่นเป็นนี่ แม้แต่หมอด้วยกันเอง ใช่ว่ารู้จักโรคนี้ทุกคน ซึ่งถ้าบังเอิญตรวจพบว่าเด็กมีความผิดปกติดังกล่าว ถ้ารู้ก็แนะนำให้เริ่มรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอ
...สำหรับการประเมินนั้น เราจะมีแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาประเมิน ดูว่าหัวใจดีไหม ปอดดีไหม ถ้าเกี่ยวกับตา ก็มีหมอตามาดูว่าดวงตาเป็นอย่างไร บอดไหม เส้นประสาทที่ตาเป็นอย่างไร ถ้าผ่าตัดแล้วจะมีความเสี่ยงไหม หรือเด็กหลายคนหูไม่ค่อยได้ยินดี จะมีหมอหูมาตรวจ เพราะถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นใบ้ ต้องวัดการได้ยิน และตรวจหูอีกข้างที่เหลืออยู่ว่ายังได้ยินไหม หลายรายต้องปรึกษาหมอเอกซเรย์ช่วยดูความผิดปกติของสมองและโครงสร้างกระดูก บ้างก็ต้องมีหมอจัดฟันร่วมกันรักษาคือมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนร่วมกันดูแลคนไข้แต่ละราย ผมคนเดียวคงไม่สามารถทำอะไรได้หมด มีหน้าที่อยู่ตรงกลาง เป็นคนประสานงาน คุยกัน ประชุมกันเพื่อวางแผนว่าจะทำการแก้ไขอย่างไร รวมทั้งต้องดูอายุที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด แต่ละรายต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลเยอะ ขณะที่หลายคนก็ต้องรักษาจนโตเลย
...ขณะเดียวกัน คนไข้เหล่านี้ไม่ใช่มีแค่ปัญหาทางกาย ยังมีปัญหาทางใจด้วย บางคนพอคลอดแล้วเด็กมีความผิดปกติ พอพากลับบ้าน คนในหมู่บ้านก็แห่มาดู สงสัยว่าเด็กเป็นอะไร ทำให้พ่อแม่เครียดเด็กโตมาก็เครียด ไม่กล้าไปโรงเรียน กลัวถูกล้อ พ่อแม่บางคนก็ไม่กล้าพาลูกไปไหนมาไหน อาจต่อสู้จนเรียนจบมาก็จริง แต่พอไปสมัครงาน ไม่มีที่ไหนรับ บ้างกลายเป็นปัญหาสังคม ไปติดยา ทำอาชีพทุจริต คนเหล่านี้ก็น่าเห็นใจ เราก็จะมีนักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาช่วยดูแล มีกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมสังสรรค์ ต้องช่วยเหลือกันทางด้านจิตใจและสังคมด้วย”

สามารถรอจนโตได้หรือไม่
“ถ้ามาตอนอายุมากๆ ส่วนใหญ่จะรักษาได้ไม่ค่อยดีครับ หรือถึงรักษาได้ก็ต้องใช้วิธีการที่ยากและซับซ้อน เพราะใบหน้าเปลี่ยนแปลงผิดเพี้ยนไปหมดแล้ว  ดังนั้นถ้าเรารีบแก้ไขจุดที่ผิดปกติตั้งแต่เขายังเล็กทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้ง่ายกว่า  อย่างโรคงวงช้าง เด็กที่เกิดมาจะมีก้อนอยู่ตรงจมูก ถ้าเราปล่อยไว้ ตาเขาก็จะถูกดันห่างออกจากกัน ก้อนก็จะยื่นออกมามากขึ้นเรื่อยๆ คิ้ว จมูก และอวัยวะที่อยู่รอบๆผิดรูปหมด แต่ถ้าเราเจอเขาตอนอายุสามสี่เดือน แล้วรีบผ่าตัดแก้ไข อย่างน้อยเด็กมีเวลาโตอีกสิบกว่าปี พอเขาโตขึ้น มันไม่มีอะไรขวางแล้ว ส่วนต่างๆของหน้าสามารถเจริญเติบโตเข้าที่เข้าทาง พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราผ่าตัดแก้ไขเขาตั้งแต่เล็กๆ เราอาจแก้ไขจุดเดียว แต่ถ้าเราผ่าแก้ไขตอนโต อาจต้องแก้ไขหลายจุด มันยากกว่ามากครับ”

การรักษาทำได้อย่างไร
“มันแล้วแต่โรคด้วยครับ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัด ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้วิธีรักษาอย่างอื่นร่วมด้วย โรคบางชนิดรักษาด้วยการให้เลือดเป็นหลัก เช่น โรคหน้าสิงโต ที่พบในคนไข้คนหนึ่งของเรา หน้าใหญ่มาก ซีด ไม่มีแรง มีภาวะหัวใจวาย เป็นเพราะกระดูกสร้างเลือดไม่ได้ด้วยกลไกปกติ กระดูกใบหน้าก็มีทำงานเพิ่มเพื่อช่วยสร้างเลือดทำให้ขนาดใหญ่ขึ้น หน้าจึงใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น ทำให้ดูคิดว่าเป็นเนื้องอก แต่พอมาประชุมกัน ตรวจดูจึงรู้ว่าไม่ใช่ แต่เกิดเนื่องจากภาวะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง หมอเด็กก็รักษาด้วยการให้เลือดอย่างเดียว จนกระทั่งหน้าค่อยๆ ยุบลงจนดูใกล้เคียงปกติ  จะเห็นว่าอาจต้องใช้การรักษาหลายๆวิธี ให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย”

ค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน
“ความที่เราเป็นโรงพยาบาลรัฐ และเป็นกาชาด การทำงานของเราไม่แสวงหาผลกำไร และรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ซึ่งเป็นไปตามหลักกาชาดสากล  ดังนั้นพอคุยกัน เราซักประวัติก็พอทราบว่าครอบครัวของเขามีฐานะอย่างไร ดูได้ว่าเขาสามารถจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีฐานะครอบครัวไม่ค่อยดีนัก มาจากต่างจังหวัดไกลๆ  ไม่มีค่ารถ เราก็ต้องช่วยเหลือ บางทีเราต้องเบิกเงินกองกลางมาเป็นค่ารถให้เขา จัดหาที่พักให้เขา พอเขาจะเดินทางกลับ เราก็มีค่ารถกลับให้เขาด้วย เพราะการผ่าตัดแก้ไขเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่าแค่ครั้งสองครั้ง  เขาก็ต้องไปๆ มาๆ  ยิ่งเป็นเด็กต้องมากันทั้งครอบครัว  แม้ว่าการผ่าตัดที่ยากและซับซ้อนพวกนี้มีค่าใช้จ่ายหลายหมื่นจนถึงเป็นแสน เราก็อาศัยเงินบริจาคจากประชาชนมาช่วยเหลือแทน”

ในเมื่อรักษาฟรี ทำไมหลายคนจึงไม่มารับการรักษา
“หนึ่ง เขาอาจไม่รู้ว่ามีการรักษาแบบนี้อยู่ สอง ระบบสาธารณสุขอาจไม่เอื้อต่อเขา ตามข้อกำหนดของรัฐ มันต้องมีขั้นตอน ต้องรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอใกล้บ้านก่อน ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลนี้ก่อน นั้นก่อน สุดท้ายที่ส่งไปทำไม่ได้สักที่ เพราะการผ่าตัดแก้ไขพวกนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ จบหมอทั่วไปก็ไม่ได้ จบศัลยศาสตร์ทั่วไปก็ทำไม่ได้ จนศัลยศาสตร์ตกแต่งก็ทำไม่ได้ ต้องฝึกอบรมมาเป็นพิเศษ ที่สำคัญ ทำคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายคน
…บางคนที่เขารู้ อาจรู้มาจากเพื่อนบ้านหรือคนรู้จัก เขาก็ตรงมาเลย ซึ่งปีนึงๆ เราตรวจคนไข้ประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบคน  แต่คนไข้แต่ละคน ความรีบด่วนไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรงก็ต้องผ่าตัดให้ก่อน เราเป็นโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้อยากทำเวลาไหน ก็ทำได้ ห้องผ่าตัดเราก็ใช้ได้สัปดาห์ละสองครั้ง และทำได้วันละไม่กี่ชั่วโมง ทำได้เฉพาะในเวลาราชการ  ต้องมีทีมงานที่คอยติดต่อนัดหมายกับคนไข้ นี่ก็มีรออยู่ประมาณห้าสิบกว่าราย ทั้งที่ผ่าตัดปีละสองร้อยกว่าคน แทบไม่ได้มีเว้นว่าง”

การประชาสัมพันธ์และการบริจาค
“ปัจจุบันเรามีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ แต่ปัญหาคือ เราไม่มีงบประมาณขนาดที่จะไปลงโฆษณาได้ เราก็ทำเท่าที่เรามี คนที่เขารู้ เขามีกำลังช่วยเหลือได้ก็มาช่วย ร้อย-สองร้อย ห้าร้อย เราก็ยินดี อย่างบางคนเปิดเจอในเว็บไซต์ก็มาบริจาค หรือคนมีฐานะ อย่างคณะภริยาทูต เขารู้ปุ๊บก็มาช่วยทุกปี ก็มีมาเรื่อยๆ
...แต่ทีนี้หลายคนไม่รู้ว่า โรงพยาบาลจุฬาไม่เหมือนที่อื่น กาชาดเราเป็นหน่วยงานใหญ่ มีสำนักงานหลายกอง  ช่วยเหลือสังคมในหลายๆด้าน ซึ่งถ้าใครมาบริจาคให้สภากาชาดไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินจะนำมาช่วยที่โรงพยาบาลทั้งหมด กาชาดไทยจะนำเงินที่ได้รับบริจาคไปใช้ตามความเหมาะสม ดังนั้นถ้าใครจะบริจาคให้หน่วยงานใดต้องระบุ หรือมาบริจาคโดยตรง  ถ้าไม่ได้บริจาคเป็นเงิน ก็สามารถบริจาคเป็นเครื่องมือแพทย์ที่เราจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่มีงบประมาณหรือรองบประมาณไม่ได้ ไม่ทันการ  หรือจะเป็นสิ่งของ เช่น นม ผ้าอ้อม ของเล่น ซึ่งใช้เวลาตรวจ สำหรับให้เด็กเอาไว้เล่น ก็ต้องขอฝากด้วยครับ”
คุณหมอทิ้งท้ายว่า
“ปัจจุบันเรามีการทำโครงการชีวิตนี้ยังมีหวัง นำเอาคนไข้และครอบครัวมานั่งคุยกัน ให้กำลังใจกันทุกเดือน นอกจากนี้ มีการจัดงานใหญ่ ให้เป็นวันพบปะครอบครัว เชิญผู้ป่วยและครอบครัวทั้งหมดมาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้เขาผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และเพิ่มกำลังใจในการต่อสู้กับโรคที่เป็นอยู่ต่อไปในอนาคต เราติดต่อเชิญดาราศิลปิน พอเขารู้ เขาก็ยินดีมาช่วยเหลือ อย่างคุณพอล ภัทรพล คุณแอน ทองประสม ช่วยเหลือเรามาตลอด  และยังมีอีกหลายๆท่าน  ก็ต้องขอขอบคุณมากครับ”

รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
รองหัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รองศาสตราจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์เสริมสร้างและตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พบ. (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2533

ขอบคุณบทความจาก : http://motherandchild.in.th/content/view/796/