Make Appointment

ความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวที่มีผลต่อการรักษาโรค

22 Aug 2016 เปิดอ่าน 2088

โดยทั่วไปผู้ป่วยสูงอายุจะมีลักษณะทางเวชปฏิบัติ ตลอดจนการดูแลรักษาต่างไปจากผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า พอจะสรุปได้เป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. สมรรถภาพทางร่างกายเสื่อมถอยลงเนื่องจากความชรา

ผู้ป่วยเด็กไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กๆฉันใด ผู้สูงอายุก็ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใหญ่ที่มีแค่ผมหงอก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานของอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความชรา ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น การทำงานของไตโดยพบว่า ความสามารถในการกรองของเสียออกจากร่างกายจะสูงที่สุดเมื่ออายุ 30 ปี จากนั้นจะลดลงราว 1% ต่อปีตามอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ละระบบจะมีความเสื่อมเนื่องจากความชราไม่เท่ากัน

2.  อาการและอาการแสดงของโรคที่ไม่จำเพาะเจาะจง

ผลจากสมรรถภาพทางร่างกายเสื่อมถอยลงจากความชรา ทำให้การตอบสนองของร่างกายต่อความเจ็บป่วยต่างไปจากผู้ป่วยอายุน้อยกว่า อย่างชัดเจน เช่น เมื่อมีการติดเชื้อ อาจจะไม่มีไข้ เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง แต่อาจจะมีอาการอย่างอื่นแทนเช่น ซึม อุจจาระปัสสาวะราด เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการตรวจทางปฏิบัติการมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อยกว่า ช่วยบ่งชี้ความเจ็บป่วยในแต่ละอวัยวะ ซึ่งซ่อนเร้นอยู่

3. การมีพยาธิสภาพหลาย ๆ อย่างร่วมกันในเวลาเดียวกัน

ผลจากความชราทำให้แต่ละอวัยวะทำงานลดน้อยลง ผนวกกับอุบัติการณ์ของโรคต่าง ๆสะสมมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีพยาธิสภาพหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเมื่อเข้าสู่วัยชรา ผลของความเจ็บป่วยในแต่ละอวัยวะส่งผลให้สุขภาพโดยรวมทรุดโทรมลงเป็นทวีคูณ ยิ่งกว่านั้น การรักษาโรคใดโรคหนึ่งไม่ว่าจะเป็นทางยาหรือการผ่าตัด มักส่งผลให้อีกโรคหนึ่งมีอาการเลวลงได้ การดูแลรักษาผู้ป่วยสูงอายุจึงต้องคำนึงถึงสุขภาพโดยรวมมากกว่าจะมุ่งแก้ ปัญหาเฉพาะอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง

4. การได้รับยาหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน

เมื่อผู้สูงอายุมักจะมีหลายโรคเกิดขึ้น ก็มักจะได้รับยาสำหรับแต่ละอาการ จนบางครั้งจำนวนของยา จะมากเกินความจำเป็น ยาเหล่านี้ก็จะมีปฏิกริยาต่อกันทั้งในทางชีวเคมีและทางเภสัชวิทยา เช่น ยาขับปัสสาวะในกลุ่ม thiazides ทำให้ระดับน้ำตาลและระดับกรดยูริคในโลหิตสูงขึ้น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานอยู่ด้วย ก็ต้องการขนาดยารักษาเบาหวานสูงเกินจำเป็น หรีอยากลุ่มนี้อาจทำให้ระดับโซเดียมในโลหิตต่ำลง ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุใดๆ ก็อาจเกิดอาการซึมสับสนได้ง่ายเป็นต้น

ที่มา : รศ.นพ.ประเสริฐ  อัสสันตชัย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.happylifehomecare.com/?p=148