Make Appointment

คำถามที่พบบ่อยเรื่องวิตามินโฟลิก (Frequently asked questions; FAQs)

15 Dec 2016 เปิดอ่าน 37473

โฟเลตและวิตามินโฟลิกคืออะไร

-ทั้งโฟเลตและวิตามินโฟลิกคือ วิตามินบี 9ทั้งคู่ แต่อยู่ในคนละรูปแบบกัน เป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในน้ำ

-โฟเลตมักใช้หมายถึงสารที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ ขณะที่วิตามินโฟลิกจะหมายถึงวิตามินบี 9ที่สังเคราะห์ขึ้นมาในรูปแบบของยาเม็ดหรือเสริมลงไปในอาหาร

-สารโฟเลตถูกสลายได้ง่ายเมื่อโดนความร้อนหรือแสง ขณะที่วิตามินโฟลิกซึ่งเป็นสารสังเคราะห์สามารถทนความร้อนได้ดีกว่า จึงใช้ในการเสริมลงในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่อาจต้องโดนความร้อน เช่น ข้าวหรือขนมปัง

 โฟเลตต่างจากวิตามินโฟลิกอย่างไร

-ทั้งโฟเลตและวิตามินโฟลิกคือวิตามินบี 9เช่นเดียวกัน  โฟเลตเป็นวิตามินบี 9ที่พบตามธรรมชาติในอาหาร เช่น ผักใบเขียวผลไม้ และถั่วต่างๆ ส่วนวิตามินโฟลิกจะหมายถึงวิตามินบี 9ในรูปแบบที่สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นเม็ดหรือเมื่อใช้เสริมลงไปในอาหาร

 ทำไมร่างกายจึงต้องการสารโฟเลต

-เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตเข้าไป จะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน (active form)คือ tetrahydrofolateซึ่งมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเซลล์ต่างๆของร่างกาย โดยร่างกายจะอาศัยโฟเลตในการสังเคราะห์โปรตีน purines และ thymidylate ซึ่งใช้ในการสร้างดีเอ็นเอ (DNA synthesis)

-ดังนั้นจะเห็นว่าวิตามินโฟลิกจึงมีส่วนสำคัญในกระบวนการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์

 วิตามินโฟลิกมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

-หากได้รับวิตามินโฟลิกเกิน 0.4มิลลิกรัมต่อวันตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิไปจนถึงระหว่างตั้งครรภ์ได้ 3เดือนจะช่วยลดความพิการแต่กำเนิดบางชนิดลงได้เช่น ลดความพิการของหลอดประสาท (สมองและไขสันหลัง) ได้ร้อยละ 70 ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 50ลดความผิดปกติของแขนขาลงไปได้ประมาณร้อยละ 50ลดโอกาสเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ลงไปได้ประมาณ 1ใน 3รวมถึงลดความพิการแต่กำเนิดของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนัก (imperforate anus)

 ความผิดปกติของหลอดประสาทคืออะไร

-ความผิดปกติของหลอดประสาท (Neural tube defects)เป็นความพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงของสมองและไขสันหลังเนื่องจากมีหลอดประสาทปิดอย่างผิดปกติไม่สมบูรณ์  

-ในภาวะปกติของตัวอ่อน หลอดประสาทจะถูกพัฒนาต่อไปเป็นสมองและไขสันหลัง โดยหลอดประสาทจะเริ่มมีการสร้างตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ (ภายใน 6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะก่อนที่จะทราบว่าตนเองตั้งครรภ์

-วิตามินโฟลิกจะช่วยทำให้หลอดประสาทปิดได้อย่างปกติ แต่จะต้องทานให้ปริมาณเพียงพอและในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่หลอดประสาทจะพัฒนาเสร็จสิ้น ดังนั้นการทานวิตามินโฟลิกหลังจากระยะที่หลอดประสาทพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ความพิการแต่กำเนิดก็จะเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ทัน

 ใครเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาท

-ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะมีลูกที่มีความพิการแต่กำเนิด และจะกลุ่มที่เสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทมาก่อน เบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดี การได้รับยาบางชนิด เช่น ยากันชัก มีภาวะโรคอ้วน

 ระดับของโฟเลตในเลือดคืออะไร (blood folate concentration)

-ระดับของโฟเลตในเลือด คือ ปริมาณของสารโฟเลตที่วัดได้จากในเลือด เมื่อร่างกายได้รับวิตามินโฟลิก จะทำให้ระดับสารโฟเลตในเลือดสูงขึ้น หากระดับโฟเลตในเลือดต่ำมากทำให้เกิดภาวะซีดบางชนิดได้ เช่น megaloblastic anemia

-การที่มีระดับของโฟเลตในเลือดปริมาณที่สูงเพียงพอสามารถช่วยลดความพิการของหลอดประสาทได้ แต่การเริ่มทานวิตามินโฟลิกเสริมอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน จะต้องใช้เวลา 2-3เดือน จึงจะทำให้ระดับของโฟเลตในเลือดสูงเพียงพอที่จะป้องกันความพิการของหลอดประสาทได้

-**ดังนั้นการทานวิตามินโฟลิกให้ได้ปริมาณและระยะเวลาเพียงพอที่จะทำให้ระดับของโฟเลตในเลือดสูงพอที่จะป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ คือ อย่างน้อย 0.4มิลลิกรัมต่อวัน อย่างน้อย 2เดือนก่อนตั้งครรภ์จนถึงตั้งครรภ์ได้ 3เดือน

 หากทราบว่าตั้งครรภ์แล้วจึงเริ่มทานวิตามินโฟลิก ยังสามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้หรือไม่

-ความผิดปกติของสมองและไขสันหลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นกว่าเราจะทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ อาจเกิดความพิการขึ้นแล้ว จึงไม่สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ทัน

 เพราะอะไรผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจึงควรทานวิตามินโฟลิก แม้ว่าจะยังไม่ได้วางแผนที่จะตั้งครรภ์

-เพราะในบางครั้งการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า กว่าเราจะทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ อาจเกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์แล้ว จึงไม่สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ทัน ดังนั้นผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจึงควรทานวิตามินโฟลิกอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้อย่างทันท่วงที

 วิตามินโฟลิกทานอย่างไร

-ควรทานวิตามินโฟลิกอย่างน้อย 0.4มิลลิกรัมต่อวัน อย่างน้อย 2เดือนก่อนตั้งครรภ์ไปจนถึงตั้งครรภ์ได้ 3เดือน

 โฟเลตพบในอาหารประเภทใดบ้าง

-พบในผักใบเขียวทุกชนิดและผลไม้ เช่น คะน้า ตำลึง ดอกกุ้ยช่าย ผักชี แครอท แคนตาลูป ฟักทอง ส้ม อโวคาโด มะเขือเทศ มะขามเทศ

-ถั่วชนิดต่างๆ เมล็ดธัญพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน

-ไข่แดงและตับสัตว์

 

วิตามินโฟลิกมีรูปแบบไหนบ้าง

-มีในรูปแบบวิตามินโฟลิกอย่างเดียว และผสมรวมกับวิตามินอื่นๆ

à วิตามินโฟลิกอย่างเดียวได้แก่

                -วิตามินโฟลิกขององค์การเภสัชกรรม เม็ดสีเหลืองเล็ก (ขนาด 5มิลลิกรัม)ราคาเม็ดละ 50-80สตางค์ (ต้นทุนซื้อจากองค์การเภสัชกรรม ราคาเม็ดละ 20สตางค์)

                -วิตามินโฟลิกของBlackmore (0.5มิลลิกรัม)

à แบบผสมรวมมากับวิตามินอื่นได้แก่

                -Triferdine 150 (ประกอบด้วย วิตามินโฟลิก 0.4 มิลลิกรัมธาตุเหล็ก 185มิลลิกรัมและไอโอดีน 0.15 มิลลิกรัม)

                -Obimin AZ(มีวิตามินโฟลิก 1มิลลิกรัม)

** โดยสรุปคือดังนี้ ทานแบบไหนก็ได้ เพราะทุกแบบมีวิตามินโฟลิกเกิน 0.4มิลลิกรัมต่อวันทั้งหมด โดยให้ทาน 1เม็ดต่อวัน**

 

วิตามินโฟลิกหาซื้อได้ที่ไหน

-ตามร้านขายยาทั่วไป

 

วิตามินโฟลิกต้องทานช่วงเวลาไหน

-วิตามินโฟลิกคือ วิตามินบี 9 ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายได้ง่ายมากในน้ำ ดังนั้นจึงทานได้ทุกช่วงเวลา ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรืออาจแนะนำให้ทานในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อง่ายต่อการจดจำ

 

ทานอาหารที่มีโฟเลตสูงอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่

-ในอาหารโดยเฉลี่ยจะได้รับโฟเลตอยู่ประมาณ 0.1มิลลิกรัมต่อวัน การที่จะให้ได้รับวิตามินโฟลิกอย่างเพียงพอ คือเกิน 0.4มิลลิกรัมต่อวัน จะต้องทานผักหรือผลไม้ที่มีโฟเลตสูงวันละเป็นกิโลๆ ซึ่งน้อยรายที่จะปฏิบัติได้จริง ดังนั้นในทางปฏิบัติแล้วจึงเป็นการยากที่จะทานแต่อาหารเพียงอย่างเดียวแล้วจะได้รับวิตามินโฟลิกอย่างเพียงพอ จึงแนะนำให้ทานเป็นยาเม็ดวิตามินโฟลิกเสริมทุกวันจะดีที่สุด

 

หากทานวิตามินโฟลิกเกิน 0.4 มิลลิกรัมต่อวันมีอันตรายหรือไม่

-ไม่มีอันตราย วิตามินโฟลิกส่วนที่เกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

-มีงานวิจัยในระดับประชากรพบว่า ไม่มีผลเสีย

-ในอเมริกา มีกฎหมายบังคับใส่ในอาหารประเภทซีเรียลมาได้ 18ปีแล้ว ดังนั้นประชากรทุกคนประมาณ 318ล้านคน (ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนชราจะได้ทานอาหารที่ผสมวิตามินโฟลิกทั้งหมด ซึ่งพบว่าไม่มีผลข้างเคียงในระดับประชากรใดๆ จึงสรุปได้ว่าการทานวิตามินโฟลิกเกิน 0.4มิลลิกรัมต่อวันมีความปลอดภัย

-**อเมริกาเป็นประเทศที่มีการฟ้องร้องมาก หากไม่มีงานวิจัยสนับสนุนว่ามีประโยชน์ที่ชัดเจนและไม่มีโทษ จะไม่สามารถบังคับออกเป็นกฎหมายได้**

-รวมถึงเป็นยารักษาในกลุ่มคนที่เป็นโรคโลหิตจางมานานแล้ว โดยทานเป็นยาเม็ดวิตามินโฟลิก 5มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งพบว่าไม่เกิดผลข้างเคียง

 

หากทานวิตามินโฟลิกไปเรื่อยๆจนคลอดหรือทานนานๆ จะมีอันตรายหรือไม่

-ไม่มีอันตราย สามารถขับออกได้ดีทางปัสสาวะ

 

ทำไมจึงต้องมีการเสริมวิตามินโฟลิกลงในอาหาร (Folic acid fortification)

-เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเองโดยไม่ได้มีการวางแผน เมื่อทราบว่าเกิดการตั้งครรภ์แล้วจึงค่อยเริ่มทานวิตามินโฟลิกจะไม่สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ทัน

-การเสริมวิตามินโฟลิกลงในอาหารจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศที่การรณรงค์ให้ทานวิตามินโฟลิกเสริมยังไม่ทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์ของวิตามินโฟลิก ก็จะยังมีโอกาสที่จะได้รับวิตามินโฟลิกได้อย่างเพียงพอ

-อย่างน้อย 67ประเทศทั่วโลกได้ออกเป็นกฏหมายบังคับ (mandate)ให้มีการผสมวิตามินโฟลิกลงในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ได้แก่ แป้งสาลี ข้าวโพด และข้าว

-สำหรับประเทศไทยในอนาคต หากมีแนวทางในการผสมวิตามินโฟลิกในอาหาร ต้องศึกษาว่าควรผสมในอาหารประเภทใด ผสมในปริมาณเท่าใด จึงจะเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับวิตามินโฟลิกในปริมาณที่จะป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ