Make Appointment

คำแนะนำการปฎิบัติตัว เมื่อท่านป่วยเป็น “ ไซนัสอักเสบ”

06 Sep 2016 เปิดอ่าน 1935

ไซนัส(Sinuses)   คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศรีษะบริเวณส่วนใบหน้า 
 
มีทั้งหมด 4 คู่ คือ 
คู่ที่ 1 อยู่บริเวณโหนกแก้มข้างจมูก
คู่ที่ 2 อยู่บริเวณหัวคิ้วระหว่างลูกตา 
คู่ที่ 3 อยู่บริเวณหน้าผาก
คู่ที่ 4 อยู่บริเวณส่วนกลางกะโหลกศรีษะ   มีหน้าที่ดังนี้  ทำให้กะโหลกศรีษะมีน้ำหนัก , ช่วยให้เกิดความก้องกังวาลของเสียง และ ช่วยในการปรับอุณหภูมิและความชื้นให้กับอากาศก่อนเข้าสู่ปอด           

โพรงอากาศไซนัส  จะมีรูเปิดซึ่งมีขนาดเล็ก   เมื่อใดก็ตามที่มีการอุดตันรูเปิดที่อาจเกิดจากการบวมของเยื่อบุจากหวัดหรือภูมิแพ้ ทำให้เกิดการคั่งค้างของน้ำมูกภายในโพรงจมูก  และมีเชื้อโรคเข้ามาทำให้เกิดไซนัสอักเสบขึ้น
          เมื่อป่วยเป็นไซนัสอักเสบ จะมีอาการ  น้ำมูกไหลข้นเขียว , มีเสมหะไหลลงคอ , ไอโดยเฉพาะเวลากลางคืน , คัดจมูก บางครั้งรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ คล้ายมีไข้ และ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และที่สำคัญจะมี อาการปวดไซนัส  โดยจะปวดบริเวณโหนกแก้ม หัวคิ้ว หรือหน้าผาก โดยเฉพาะอาการปวดไซนัสจึงมีมากเวลาเช้าๆ หลังตื่นนอน   เนื่องจากเวลาเรานอนหลับจะเกิดการคั่งค้างของหนองภายในโพรงไซนัส จะเกิดการสะสมของของเหลวเป็นจำนวนมากภายใต้แรงกดดันภายในโพรงไซนัสจึงทำให้เกิดการปวดขึ้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ
  พบว่าไข้หวัดเป็นสาเหตุสำคัญของไซนัสอักเสบเฉียบพลัน  แต่ในไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีสาเหตุจาก ภาวะหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้  แกนกั้นจมูกคด  ริดสีดวงจมูกหรือก้อนเนื้องอกในจมูก  และจากสิ่งแปลกปลอมในช่องจมูก  ซึ่งภาวะเหล่านี้ทำให้เกิดการคั่งของน้ำมูกและอุดตันรูเปิดของไซนัสจึงทำให้เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง             

การรักษาไซนัสอักเสบ  

หลักสำคัญการรักษาไซนัสอักเสบ คือการให้ยาปฏิชีวนะ  เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็น

            สาเหตุสำคัญของไซนัสอักเสบ  โดยต้องได้รับยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 10-14 วัน  ในบางรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจจะต้องให้ยาปฏิชีวนะนานถึง 6-8 สัปดาห์          

นอกจากนี้แพทย์อาจให้ยาอื่นร่วมรักษาด้วย เช่น  ยาลดเยื่อบุจมูกบวมหรือยาหยอดจมูกบางชนิดเพื่อลดอาการคัดจมูก    ยาละลายเสมหะเพื่อลดความเหนียวของน้ำมูกและลดอาการคั่งค้างของน้ำมูกในโพรงไซนัส   ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดไซนัส    

ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยกินยาแก้แพ้ลดน้ำมูก เพราะผลข้างเคียงของยาแก้แพ้จะทำให้น้ำมูกแห้งซึ่งเป็นข้อเสียมากกว่าผลดี  ทำให้เชื้อโรคเจริญได้ดีขึ้น  ยกเว้นจะให้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย
 เราจะทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเมื่อการรักษาด้วยยาแล้วผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น  หรือมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากการอักเสบของไซนัส หรือมีโรคพื้นฐานที่เป็นสาเหตุชักนำที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังขึ้น เช่น ริดสีดวงจมูก, แกนกั้นจมูกคด  เป็นต้น  โดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก จะเป็นผู้ดูแลรักษาทางด้านนี้

เมื่อท่านป่วยเป็นไซนัสอักเสบ   

มีคำแนะนำการปฎิบัติตัวของท่าน สำหรับท่านดังนี้

  1. รีบมาพบแพทย์ เมื่อสงสัยว่าท่านจะป่วยเป็น ไซนัสอักเสบ ตามอาการดังกล่าวข้างต้น และปฎิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษา  รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์ได้สั่งให้การรักษา
  2. ท่านควรหยุดพักงานและนอนหลับพักผ่อนให้มากเพียงพอ
  3. แนะนำให้ท่านควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ วันละ 7 – 8 แก้วขึ้นไป
  4. ถ้าท่านมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น  ละอองเกสรหญ้าและดอกไม้  ขนสัตว์  ซากแมลงสาบ  และเชื้อราในอากาศ   รวมทั้งสิ่งระคายเคืองต่างๆ เช่น อากาศเสีย  ควันบุหรี   ควันท่อไอเสียรถยนต์  และอากาศเย็น เพราะจะทำให้อาการไซนัสอักเสบเป็นมากขึ้น
  5. ควรพยายามนอนศีรษะสูง หรือตั้งศีรษะตรงไว้เสมอ เพราะ จะช่วยระบายหนองที่คั่งค้างออกจากไซนัส ตามแรงโน้มถ่วงของโลก  อาจจะทำให้อาการดีขึ้นได้ หรือจะลดอาการปวดไซนัสได้
  6. ควรหลีกเลี่ยงการก้มศีรษะ  เพราะจะทำให้อาการปวดจากไซนัสเป็นมากขึ้น
  7. ไม่แนะนำให้สั่งน้ำมูกด้วยความรุนแรงเพราะจะทำให้เกิดอากาปวดได้  ถ้าจะสั่งน้ำมูกให้

ใช้มืออุดจมูกอีกข้างหนึ่งไว้และสั่งน้ำมูกเบาๆจนหายใจโล่งจึงหยุดสั่งได้

  1. เมื่อมีอาการปวดไซนัส การใช้ ผ้าชุบน้ำอุ่น(Hot compression) วางปะคบบริเวณไซนัสที่

ปวดประมาณ 3 – 4 นาที และสลับด้วยวางผ้าชุบน้ำเย็น ประมาณ 30 วินาที  ทำอย่างนี้ 3 รอบประมาณ 2 – 6 ครั้ง ต่อวัน อาจจะช่วยให้อาการปวดทุเลาไปได้

  1. การสูดดมไอน้ำ(Inhalation) จะช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้น ลดอาการเหนียวข้นของน้ำมูกๆ สามารถระบายออกได้ง่ายขึ้นและลดอาการคัดจมูก ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น แนะนำให้ใช้น้ำร้อนพอประมาณใส่ชามกะละ แล้วใช้กระดาษทำเป็นกรวยครอบปากชามแล้วสูดดมไอน้ำที่ปลายกรวย ประมาณ  5 – 10  นาที   แต่ไม่แนะนำให้สูดดมไอน้ำโดยตรงจากปลายกาน้ำร้อน เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้จากไอน้ำร้อนลวก
  2. บางรายแนะนำให้สูดดมไอน้ำ ร่วมกับการใส่สารระเหย เช่น  Eucalyptus oil  , Vic Vaporub  หรือ สารพวกที่เข้า Mentol  เพื่อช่วยลดอาการคัดจมูกและอาการปวดไซนัสได้
  3. ในกรณีที่มีอาการคัดจมูกมาก จนต้องอ้าปากหายใจหรือคัดจนมีอาการปวดจมูก  การใช้ยาหยอดจมูก เช่น Pernazine พ่นจมูก ข้างละ 1-2 pu/ff. หรือ Illiadine nose drop หยอดจมูก ข้างละ 2-3 หยด ทุก 4 ชั่วโมง จะสามารถบรรเทาอาการได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันเกินกว่า 7-10 วัน เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าดี
  4. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ( Nasal saline irrigation ) เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดนอกเหนือไปจากการรับประทานยาตามที่แพทย์ได้สั่งการรักษา ในการช่วยบรรเทาอาการไซนัสอักเสบ  เป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน  ซึ่งการล้างจมูกจะช่วยความชุ่มชื้นให้เยื่อบุจมูก   ช่วยชะเอาน้ำมูกและคราบต่างๆออกไป  ทำให้สามารถอาการไซนัสอักเสบดีขึ้นโดยเร็ว  ผู้ป่วยสามารถหาซื้อชุดน้ำเกลือล้างจมูกได้ตามร้านขายยาและที่โรงพยาบาล    วิธีการ  แนะนำโดยการใช้ Syring ขนาด 20 ซ.ซ. ดูดน้ำเกลือ(Normal saline 0.9 % ) ประมาณ 10 ซ.ซ. ก้มหน้าในอ่างล้างหน้า และฉีดพ่นน้ำเกลือเข้าช่องจมูกข้างใดข้างหนึ่งแล้วสั่งออก สลับข้างกันซ้ายและขวา   ถ้าน้ำเกลือเข้าลำคอให้ขย้อนออกทางช่องปาก  ให้ทำเช่นนี้ 3 – 4 รอบจนช่องจมูกสะอาด ทำวันละ 2 – 3 ครั้ง หรือบ่อยกว่านี้ก็ได้ตามปริมาณของน้ำมูกที่มี
  5. หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่อง เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดไซนัสเป็นมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของความกดดันของอากาศ  แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องรับประทานยาหรือพ่นยาลดเยื่อบุจมูกบวมก่อนขึ้นเครื่องบินประมาณ ½ ชั่วโมง  เพื่อลดการอุดตันของรูเปิดไซนัส

 การป้องกันไม่ให้เกิดไซนัสอักเสบ

  1. เนื่องจากไข้หวัดเป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดโดยการออกกำลังกาย  พักผ่อนให้เพียงพอ  รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  
  2. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดจะลดการเป็นไซนัสอักเสบได้ 
  3. เมื่อเป็นไข้หวัดควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาไข้หวัดให้หายโดยเร็ว
  4. ถ้าท่านมีประวัติป่วยเป็น หวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้  ต้องหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ด้วย เช่น ฝุ่น  ไรฝุ่น  นุ่น  เชื้อราในอากาศ  และขนสัตว์ต่างๆ เท่าที่ทำได้เพื่อลดอาการของหวัดเรื้อรังจากภูมิแพ้
  5. ในบางคนมีปัญหาเยื่อบุจมูกไวต่อสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่  ควันรถยนต์  ควันจากการประกอบอาหาร จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ด้วยเพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกบวมและเกิดไซนัสอักเสบตามมาได้
  6. ถ้าท่านมีแกนกั้นจมูกคดจนมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง  หรือมีก้อนริดสีดวงจมูก  ควรต้องรีบผ่าตัดแก้ไขภาวะเหล่านั้นเสียก่อนที่จะเกิดไซนัสอักเสบตามมา

โดย พอ. นพ.กรีฑา ม่วงทอง

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.entpmk.pmk.ac.th/webpage/Recommended%20sinusitis%20patients..html