Make Appointment

ชะลอข้อเสื่อมเราทำได้

01 Sep 2016 เปิดอ่าน 2590

ข้อเสื่อมเป็นภาวะที่การทำงานของข้อมีความผิดปกติ ซึ่งข้อที่มีการทำงานเป็นปกติต้องเป็นข้อที่เคลื่อนไหว ได้อย่างมั่นคงและปราศจากความเจ็บปวด ความผิดปกติ ของข้อเสื่อมอาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่น รู้สึกฝืดๆ ที่ข้อ ปวดข้อ ข้อผิดรูป เป็นต้ น แต่ละอาการจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย พยาธิสภาพของข้อเสื่อมจะอยู่บริเวณผิวข้อซึ่งมี หน้าที่ทำให้เกิดความลื่น คล่องแคล่วในการเคลื่อนไหว ทนทานต่อการสึกหรอ โดยมีกระดูกอ่อนเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อตรงตำแหน่งนี้ เพราะฉะนั้นหากกระดูกอ่อนเสียหายไปจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังกล่าวตามมา

ข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถป้องกันได้หรือไม่ มีประเด็นใดบ้างที่เราควรรู้ รศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้เกียรติมาช่วยอธิบายให้เราได้ทราบกัน

สาเหตุของข้อเสื่อม
ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ อย่างไรก็ตามพบว่ามีข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความเสื่อมไปก่อนเวลาอันควร โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ทำให้กระดูกอ่อนได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างกระดูกอ่อนที่มีคุณภาพไม่เทียบเท่าของเดิมขึ้นมาแทนที่ สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร เช่น โรคที่ส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลาย อาทิ โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์และข้ออักเสบชนิดอื่นๆ เป็นต้น

ข้อที่มักเกิดปัญหา
อันที่จริงข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อในร่างกาย โดยจุดที่พบว่ามีข้อเสื่อมมากที่สุดคือ “ข้อนิ้วมือ” เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีจำนวนข้อมากที่สุดคือมีมากถึง 18 ข้อ และถ้านับรวมทั้งมือและนิ้วจะมีทั้งหมด 28 ข้อ ผู้ป่วยมักจะสังเกตเห็นอาการข้อนิ้วเสื่อมในช่วงที่ข้อเริ่มผิดรูปหรือมีลักษณะบวมโต แต่ถ้าจะกล่าวถึงข้อที่เป็นปัญหามากใน ผู้ป่วยก็คือ “ข้อเข่า” รองลงมา ได้แก่ ข้อสะโพก ข้อหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า และข้อมือ ตามลำดับ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าอาการของโรคข้อเสื่อมมีหลายระดับแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย การที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับความความรุนแรงของอาการ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วย บางรายมีข้อผิดรูปไปมากแล้วแต่ไม่มีอาการปวดและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นปกติจึงไม่มาพบแพทย์ก็มี ทั้งหมดนี้การศึกษาหาความรู้เพื่อดูแลตนเองในระดับ เบื้องต้นนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลด้วยเช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ การจะมาพบแพทย์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าอาการข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันแล้ว ควรคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคตร่วมด้วย หากรักษาจะเป็นอย่างไร และถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรหรือไม่ ปัจจุบันผู้ป่วยที่มารักษาโรค ข้อเสื่อมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากเกิดความเจ็บปวดบริเวณข้อ อย่าพึ่งวิตกกังวลว่าจะมีสาเหตุมาจากข้อเสื่อมแต่เพียงอย่างเดียวเพราะอาจเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุต่างๆ ก็เป็นได้ โดยให้สังเกตดูอาการเบื้องต้นก่อน ถ้ามีอาการบวม แดง รู้สึกอุ่นๆ บริเวณที่บวมขณะใช้มือคลำเบาๆ อย่างนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อในข้อ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับการรักษาตั้งแต่ เนิ่นๆ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บๆ ขัดๆ โดยไม่มีอาการบวม แดง อุ่น อาจรอดูอาการไปก่อนก็ได้ เพราะบางครั้งอาการเจ็บที่ เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการใช้งานที่มากเกินไป ให้พักการใช้งานข้อที่เจ็บ พร้อมกับประคบเย็นสัก 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์

 

รศ.นพ.สมศักดิ์ คุปต์นิรัติศัยกุล

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease_n/disease168_1.html