Make Appointment

'ดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อเอดส์'

23 Jan 2017 เปิดอ่าน 1477

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่นประเภทชายรักชาย นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และที่น่าวิตกคือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีอายุน้อยลง ปัญหาเหล่านี้จะมีวิธีดูแลอย่างไร

          รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะไขข้อข้องใจ การที่จะรู้ว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่นั้น ต้องมีการตรวจเลือด ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า ผู้นั้นติดเชื้อ HIV เนื่องจากเชื้อHIV จะทำลายภูมิต้านทานของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ติดเชื้อ HIV จำเป็นต้องประเมินภูมิต้านทานของตัวเองด้วยการตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า CD4เพื่อดูระดับภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งระดับ CD4ของผู้ป่วยจะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหับการวางแผนการรักษาต่อไป การตรวจเม็ดเลือดขาว CD4  ถ้ามีมากกว่า 350เซลล์ต่อ ลบ.มม. แสดงว่าระดับภูมิต้านทานยังดีอยู่ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อปฏิบัติตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงร่างกายไม่ทรุดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับเชื้อเพิ่ม โดยหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นส่วนเรื่องอาหารเน้นเรื่องอาหารที่สุกและสะอาดรวมถึงน้ำดื่มจะต้องสะอาด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดถ้าจะรับประทานผักสด ควรล้างให้สะอาด ผลไม้ที่รับประทาน ถ้าเป็นผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ควรปอกเปลือกทุกครั้ง

          แต่ถ้าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำคือ มีเม็ดเลือดขาว CD4น้อยกว่า 350เซลล์ต่อ ลบ.มม. แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยเรื่องการเริ่มให้ยาต้านไวรัสHIV เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนเพราะถ้าเม็ดเลือดขาด CD4ต่ำกว่า 200เซลล์/ลบ.มม จะถือว่าผู้ติดเชื้อนั้นเข้าสู่ระยะที่เป็นโรคเอดส์ และมีโอกาสที่จะเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส คือเป็นเชื้อโรคที่โดยธรรมดาไม่ก่อโรคในคนที่ภูมิต้านทานปกติ แต่จะก่อโรคในผู้ที่เม็ดเลือดขาว CD4ต่ำกว่า 200เซลล์/ลบ.มม. และผู้ป่วยที่เม็ดเลือดขาว CD4ต่ำกว่า 200เซลล์/ลบ.มม.นี้ นอกจากต้องกินยาต้านไวรัส HIV แล้ว แพทย์จะให้ยาป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสที่ป้องกันได้ เช่น ยาซัลฟา เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis และฝีในสมองจากเชื้อ Toxoplasma ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยและป้องกันได้ในผู้ป่วยเอดส์

          ปัจจุบันผู้ป่วยเอดส์สามารถรักษาให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรง ทำงานเป็นปกติได้ โดยใช้ยาต้านไวรัส HIV แต่เนื่องจากยังมีเชื้อบางส่วนที่หลงเหลือถูกทำลายไม่หมด ดังนั้นหลังจากกินยาจนมีอาการดีขึ้นแล้ว การจะทำให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ไวรัส HIV กลับมาทำลายภูมิต้านทานของผู้ป่วยได้อีกการที่ผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่องแต่มีสุขภาพที่ดี ก็เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ไม่ยากดังเช่นโรคเรื้อรังอื่นๆที่ต้องกินยาต่อเนื่องเช่นกันเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยหยุดยาเองหลังจากอาการดีขึ้น นอกจากจะทำให้เชื้อดื้อยาแล้ว การรักษาจะยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น ต้องเปลี่ยนชนิดของยาที่อาจมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น ราคาสูงขึ้น และประสิทธิภาพของยาที่ใช้รักษาอาจลดลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยไปตลอดชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดูแลตัวเอง กินยาอย่างต่อเนื่องเลิกสิ่งเสพติดทุกชนิด และลดความวิตกกังวล จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ขอบคุณบทความจาก : http://talkaboutsex.thaihealth.or.th/knowledge/3102