Make Appointment

ตรวจ “โทรโปนิน” ช่วยชีวิตผู้ป่วย “ภาวะหัวใจวาย”

06 Sep 2016 เปิดอ่าน 1687

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หัวใจวาย” เกิดจากการลดลงอย่างรวดเร็วของปริมาณเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงหัวใจ เนื่องจากมีการอุดตันของการไหลเวียนเลือดสู่กล้ามเนื้อหัวใจ มีผลให้เกิดการทำลายของเนื้อเยื่อหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตและการทุพพลภาพของประชากรทั่วโลก
       
       “ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่าเกิดขึ้นกับคนที่อายุน้อยมากขึ้นตามลำดับ” นพ.วศิน พุทธารี อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาฯ ให้ข้อมูล พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีวิธีตรวจได้เร็ว ด้วยการใช้ใช้สารชีวเคมีบ่งชี้ภาวะที่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ อันเป็นสารที่ถูกหลั่งออกมาในกระแสเลือดเมื่อหัวใจเกิดการบาดเจ็บ ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง การตรวจวัดระดับของสารชีวเคมีเหล่านี้ ก็เพื่อช่วยในการตรวจหา วินิจฉัย ประเมินผล และติดตามผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะที่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยขณะนี้ ได้มีการคิดค้นสารทดสอบ ไฮ เซนซิทีฟ โทรโปนิน ที ซึ่งเป็นการทดสอบ โทรโปนิน ที ความไวสูง /โทรโปนิน ความไวสูง ในการวินิจฉัยภาวะหัวใจวายที่ช่วยให้ตรวจพบและวินิจฉัยได้เร็วขึ้น
       
       นพ.วศิน ให้ข้อมูลว่า ในการวินิจฉัยว่า คนไข้เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือภาวะหัวใจวายนั้น ก็ต่อเมื่อตรวจพบระดับของสารโทรโปนินจากหัวใจ เนื่องจากโทรโปนินเป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และจะถูกหลั่งออกมาในกระแสเลือดเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย
       
       “แม้ว่าจะมีการใช้การตรวจหาสารบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายมานานแล้ว หากแต่ที่ใช้กันอยู่ยังมีความแม่นยำไม่เพียงพอต่อการตรวจหาความเข้มข้นของสารโทนโปนินในกระแสเลือด ตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานสากลใหม่ โดยจะมีค่าความแปรปรวนน้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์ ณ ระดับของโทรโปนที่ตรวจวัดได้สูงสุด 99 จาก 100 คนในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรง” 

  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ให้ภาพการทดสอบว่า ทำได้โดยเจาะเลือดมาตรวจ ผ่านกระบวนการทดสอบด้วย โทรโปนิน ที ความไวสูง ในห้องแล็บ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที แต่ถ้ารวมขั้นการตรวจทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งห้องแล็ปจะส่งผลกลับมาว่าได้ค่าเท่าไร ซึ่งโทรโปนิน ความไวสูงนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ แต่เป็นการพัฒนาจากเดิมให้สามารถให้ค่าออกมามีความแม่นยำตามที่ผู้เชี่ยวชาญต้องการให้เป็น คือ ไม่ว่าจะใช้ทดสอบกี่ครั้งค่าที่ได้นั้นจะคงที่ โดยในการวินิจฉัย คือ ถ้าได้ค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ถือว่าไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเลย แต่ถ้าค่าออกมาสูงกว่าค่าที่กำหนดไว้ แสดงว่า มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น
       
       “การทดสอบด้วยวิธีนี้ จะสามารถพยากรณ์คนไข้ได้ว่า อยู่ในภาวะใด การวินิจฉัยของแพทย์จะไม่อาศัยการทดสอบนี้เพียงอย่างเดียว แต่จะรวบรวมหลักฐานอื่นประกอบด้วย เช่น อาการของคนไข้ กราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ร่วมด้วย คนไข้บางส่วนอาจจะขาดเลือดเฉยๆ แต่กล้ามเนื้อหัวใจไม่มีความเสียหายหรือไม่ตาย แต่คนไข้ส่วนหนึ่งที่ขาดเลือดอย่างรุนแรงจนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจมีความเสียหายหรือตาย โดยกล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายจะมีความเสียหายในระดับที่ต่างกัน คือ อาจจะตายเพียงไม่กี่เซลล์ จนกระทั่งตายหลายกรัม”
       
       นพ.วศิน อธิบายเพิ่มอีกว่า “การวินิจฉัยของแพทย์ มีความจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่ามีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจหรือไม่ เนื่องจากมีการรักษาที่ต่างกัน คนไข้ซึ่งขาดเลือดฉับพลัน แต่ว่าไม่มีการเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ จะได้รับการรักษาแบบหนึ่ง ส่วนคนไข้ที่ขาดเลือดฉับพลันเหมือนกันแต่รุนแรงกว่าและมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ก็จะได้รับการรักษาอีกแบบหนึ่ง การทดสอบที่แม่นยำจะทำให้รู้ผลที่ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น ถือเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาซึ่งการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม แพทย์ควรศึกษารายละเอียดถึงวิธีใช้ที่เหมาะสมและถูกต้อง ก่อนจะนำไปใช้จริง เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา” คุณหมอคนเก่งทิ้งท้าย

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000072752