เด็กทารกจะมีโอกาสหายได้เองหรือไม่?
ระบบภูมิคุ้มกันของทารกและเด็กเล็กยังมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก โอกาสหายจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เองมีน้อยมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้การติดเชื้อแย่ลง หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
หากรักษาหายแล้วจะมีผลกระทบอื่นๆ บ้างไหม
ผลกระทบจะขึ้นอยู่กับภาวะแทรกซ้อนด้วย เช่น หากติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจทำให้มีปัญหาด้านระบบประสาทตามมา มีอาการชักหรือมีพัฒนาการช้ากว่าปกติได้
7 ข้อ ป้องกันลูกทารกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ป้องกันภาวะเสี่ยงตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์
ว่าที่คุณแม่ควรไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตตนเองว่าช่วงที่ตั้งครรภ์มีอาการผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติควรรีบแจ้งแพทย์เจ้าของครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกค่ะ
- “ล้างมือ” ทุกครั้งก่อนสัมผัสตัวทารก
เมื่อลูกคลอดมาแล้ว ผู้ใหญ่ทุกคนรวมถึงเด็กๆ ควรล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสทารกค่ะ เพราะมือที่ไม่สะอาดสามารถนำเชื้อโรคไปให้ทารกได้
- เลี่ยงการพาลูกไปที่ชุมนุมชน
ไม่ควรพาลูกแรกเกิดไปในที่มีคนหนาแน่น เนื่องจากมีเชื้อโรคค่อนข้างมาก
- หากไม่สบาย ควรอยู่ห่างทารก
ผู้ที่ไม่สบายควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมหรือเล่นกับเด็กทารกค่ะ หากผู้ดูแลทารกไม่สบาย ควรล้างมือทุกครั้งก่อนจับตัวทารกและใส่หน้ากากอนามัย
- ไม่ควรให้ใครหอมแก้มลูกทารก
ผู้ใหญ่อาจเป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูก เมื่อหอมแก้มเด็กทารกอาจทำให้ทารกติดเชื้อได้ หากแต่งหน้า อาจทำให้ทารกระคายเคืองจากสัมผัสของเครื่องสำอางได้ค่ะ
- เมื่อลูกอายุถึงเกณฑ์ควรพาไปฉีดวัคซีนตามนัด
วัคซีนบางชนิดสามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ด้วยค่ะ เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดี วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ เป็นต้น
- ให้ลูกกินนมแม่
นมแม่เป็นนมที่ดีที่สุดและเชื่อกันว่าจะเสริมสร้างให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. วิริยาภรณ์ จันทร์รัชชกูล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช สาขาศรีนครินทร์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.amarinbabyandkids.com/parenting/baby/neonatal-sepsis/4/