มดลูกและรังไข่ เป็นอวัยวะสำคัญ อยู่ในอุ้งเชิงกรานของคุณผู้หญิง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์หรือดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์
โดยปกติแล้วมดลูกจะอยู่ตรงกลางของช่องเชิงกราน มีขนาดเล็กประมาณลูกชมพู่ มีหน้าที่สำคัญ คือ รองรับการตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้ใช้มดลูกทำหน้าที่นี้ อาจเกิดจากการที่มีการศึกษาเล่าเรียนยาวนานกว่าในอดีตจนลืมแต่งงาน บางท่านสนุกกับการทำงานจนล่วงเลยวัยที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์และมีบุตร นอกจากนี้มดลูกยังเป็นตัวบ่งบอกสภาวะของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายด้วย กล่าวคือ ในช่วงที่ร่างกายยังมีฮอร์โมนเพศหญิงสมบูรณ์อยู่ก็จะมีเลือดระดูหรือประจำเดือนทุกเดือน แต่เมื่อก้าวเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดระดูแล้ว ก็จะไม่มีเลือดประจำเดือนอีกต่อไป
สำหรับรังไข่นั้น เป็นอวัยวะขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดถั่วอัลมอนด์ มีอยู่ 2 ข้าง ที่ด้านซ้ายและด้านขวาของมดลูก ทำหน้าที่ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ และผลิตฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชาย ที่สำคัญคือ ทำให้มีเสียงที่ไพเราะอ่อนหวาน ผิวพรรณนุ่มนวลน่าสัมผัส และที่สำคัญคือ มีหน้าอก และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทองแล้ว ก็หมายความว่ารังไข่จะหยุดทำงานต่าง ๆ เหล่านี้โดยสิ้นเชิง
มีเหตุใดที่ทำให้คุณผู้หญิงไม่มีมดลูก รังไข่
สาเหตุที่พบคือ
1. ความผิดปกติแต่กำเนิด มักเกิดจากสารพันธุกรรมในร่างกายผิดปกติ ทำให้ไม่มีการเจริญของมดลูกหรือรังไข่ ภาวะนี้จะทำให้เด็กผู้หญิงไม่โตเป็นสาว หรือมีการเติบโตเป็นสาวที่ไม่สมบูรณ์ เช่น มีหน้าอกแต่ไม่มีเลือดระดู เป็นต้น ความผิดปกตินี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. ความผิดปกติในภายหลัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยกว่า มักเกิดจากการที่มีโรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับมดลูกหรือรังไข่ เช่น เป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง การมีเลือดออกผิดปกติจากมดลูก หรือมีการตกเลือดหลังคลอดจนต้องตัดมดลูกเพื่อหยุดเลือด เป็นต้น
เกิดอะไรถ้าไม่มีมดลูก รังไข่
ขึ้นอยู่กับช่วงอายุที่คุณผู้หญิงจำเป็นต้องสูญเสียอวัยวะทั้ง 2 อย่างนี้ไป คือ
ถ้าเป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือยังมีการตกไข่อยู่
หากสูญเสียมดลูกเพียงอย่างเดียว จะไม่มีเลือดระดู และไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก แต่ยังคงมีฮอร์โมนเพศหญิงตามปกติ
กรณีสูญเสียรังไข่เพียงข้างเดียว จะยังคงมีฮอร์โมนเพศ มีการตกไข่ สามารถตั้งครรภ์ได้ และมีเลือดระดูได้ตามปกติค่ะ
ถ้าสูญเสียรังไข่ทั้งสองข้าง เป็นผลทำให้ขาดทั้งเซลล์สืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศหญิง แต่ยังคงมีมดลูกอยู่สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต โดยจำเป็นต้องใช้เซลล์ไข่จากหญิงอื่น และมีเลือดระดูได้ในกรณีที่
ได้รับฮอร์โมนทดแทนจากแพทย์
หากสูญเสียมดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง จะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ รวมทั้งไม่มีเลือดระดู และขาดฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนจากแพทย์
ถ้าเป็นช่วงวัยทองหรือวัยที่หมดระดูไปแล้ว
ในวัยนี้ถ้ามีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นที่มดลูกหรือรังไข่ก็ตาม แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดออกทั้งหมด เนื่องจากว่าคุณผู้หญิงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทั้ง 2 อวัยวะนี้อีก ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณผู้หญิงไม่ยินยอมหรือการผ่าตัดนั้นมีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคประจำตัวหลายอย่าง หรือไม่สามารถดมยาสลบได้นาน เป็นต้น และเมื่อตัดเอาอวัยวะทั้ง 2 อย่างนี้ออกไปแล้ว ก็ไม่ได้สร้างความผิดปกติใด ๆ เนื่องจากว่า อวัยวะทั้ง 2 อย่างนี้ได้หยุดทำงานไปแล้ว
อาการเมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิง
อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิงนี้ ไม่ได้พบในคุณผู้หญิงทุกคนนะคะ หรือเมื่อเกิดขึ้น ความรุนแรงของอาการก็ไม่เท่ากันในแต่ละคนอีกด้วย และก็ยากที่จะคาดเดาว่า ใครมีอาการมากหรือน้อย
อาการที่อาจเกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1.ด้านร่างกาย
บางท่านจะมีอาการร้อนวูบวาบตามหน้าอกและลำตัว เหงื่อออกง่ายและขี้ร้อนผิดปกติ ผิวพรรณเริ่มแห้งเหี่ยวขึ้น หน้าอกมีขนาดเล็กลง เวลามีเพศสัมพันธ์จะรู้สึกว่าเจ็บหรือแสบในช่องคลอด และเวลาถ่ายปัสสาวะอาจมีอาการแสบขัดบริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะได้ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากน้ำเมือกที่หล่อเลี้ยงบริเวณจุดซ่อนเร้นมีลดลงนั่นเอง
2.ด้านจิตใจ
บางท่านอาจหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ เบื่อหน่ายคนรอบตัวและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน บางท่านอาจมีอาการซึมเศร้า โลกรอบตัวมีแต่สีเทาๆ – ดำ ๆ และนอนไม่ค่อยหลับ
ทำอย่างไรเมื่อขาดฮอร์โมนเพศหญิง
โดยปกติแล้วเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันควร แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาจะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการรักษา
สำหรับรูปแบบของฮอร์โมนทดแทนนั้นมีอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็นแบบรับประทาน แปะผิวหนัง ทาผิวหนัง หรือสอดในช่องคลอด การที่จะเลือกใช้ฮอร์โมนทดแทนรูปแบบใดนั้น ก็ต้องพิจารณาจากอาการที่มีรวมทั้งโรคประจำตัวต่าง ๆ และเศรษฐานะทางการเงินด้วย เนื่องจากฮอร์โมนทดแทนบางชนิดมีราคาแพงมาก
หมออยากจะบอกว่า อย่ากังวลจนเกินไปนัก การที่คุณผู้หญิงไม่มีมดลูกหรือรังไข่นั้น ไม่ได้สร้างความผิดปกติให้เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าต้องสูญเสียอวัยวะนั้น ๆ จากสาเหตุใด อายุเท่าไหร่ และได้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างไร ที่สำคัญที่หมออยากจะเน้นคือ ถ้ามีความจำเป็นแล้ว “เสียอวัยวะดีกว่าเสียชีวิต” นะคะ
พญ.ปัทมา เชาว์โพธิ์ทอง สูตินรีแพทย์
* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9500000089905