Make Appointment

ท้องผูก แก้ได้

25 Aug 2016 เปิดอ่าน 3239

ในอดีตพบจำนวนผู้มีปัญหาท้องผูกอยู่ที่ร้อยละ 7 แต่ปัจจุบันตัวเลขกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วคืออยู่ที่ร้อยละ 25 ในสหรัฐอเมริกาได้มีการคำนวณทางการเงิน ซึ่งผลปรากฏว่าผู้ที่มีอาการท้องผูกจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหานี้

ความหมายของ “ท้องผูก”
     คนส่วนใหญ่ เข้าใจว่า“ท้องผูก” หมายถึง การถ่ายอุจจาระลำบาก ไม่ถ่ายทุกวัน และอุจจาระแข็ง จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า “เราจำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวันจริงหรือ?” ความจริงคือไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ใดๆ ที่ต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน เพียงแต่คนที่มีอาการอาจเกิดความเครียดเอง จากการศึกษาพบว่า เมื่ออายุมากขึ้นความถี่ของการถ่ายอุจจาระจะน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนจำนวนผู้ที่ถ่ายอุจจาระวันละครั้งอย่างสม่ำเสมอมีไม่ถึงร้อยละ 50 ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปการถ่ายอุจจาระระหว่าง 3-21 ครั้ง/สัปดาห์ ถือว่าปกติ

      ทางการแพทย์ “ท้องผูก” หมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ และมีลักษณะถ่ายยาก เบ่ง รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด อุจจาระเป็นก้อนแข็ง แบ่งเป็น “ท้องผูกแบบครั้งคราว” และ “ท้องผูกเรื้อรัง” โดยผู้ที่เข้าข่ายท้องผูกเรื้อรังคือผู้ที่มีอาการท้องผูกมานานกว่า 6 เดือนขึ้นไป

ท้องผูกเป็นเพียงอาการของโรค
     การที่ไม่ถ่ายอุจจาระทุกวันหรือเบ่งไม่ออก นานๆ ครั้ง หรือเป็น ”ท้องผูกเป็นครั้งคราว” ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ แก้ไขได้ด้วยการกินผักผลไม้มากขึ้น หรือกินยาถ่ายเป็นครั้งคราว แต่ท้องผูกที่เกิดขึ้นเป็นประจำเป็นความผิดปกติ

     1. อาการท้องผูก แบ่งง่ายๆ ออกเป็น
     • ท้องผูกที่เกิดไม่นานกว่าหกเดือน เป็นท้องผูกที่อาจมีสาเหตุอื่นๆ กลุ่มนี้แพทย์ต้องหาสาเหตุ เช่น เกิดจากยา แพทย์อาจให้ยารักษาเบื้องต้นคนกลุ่มนี้ก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษ เช่นการส่องลำไส้ใหญ่

      • โรคท้องผูกเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการท้องผูกมานานกว่า 6 เดือน โดยมีการกำหนดว่าต้องอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ ได้แก่ การถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ อุจจาระแข็ง เบ่งไม่ออก ถ่ายไม่สุด ต้องใช้น้ำฉีด สวน หรือนิ้วช่วย และเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ครั้งของการถ่าย จึงจัดว่าเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง

      • โรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสีย และลำไส้แปรปรวนชนิดท้องผูก ผู้ป่วยจะรู้สึกอึดอัดมากกว่าปกติ มีปัญหาปวด จุก แน่นท้อง อยากถ่าย และเริ่มเป็นกังวลถ้าไม่ถ่าย อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

      2. อาการที่มีเหตุมาจากอื่นๆ ได้แก่
      • การรับประทานยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หลายตัวมีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก

      • โรคทางสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน ยาที่ใช้รักษาโรคนี้ส่งผลต่ออาการท้องผูกแทบทุกตัว นอกจากนี้ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตที่ต้องนอนอยู่บนเตียงเฉยๆ จะมีโอกาสท้องผูกได้ง่าย

      • ลำไส้อุดตัน โดยอาจมีเนื้องอกไปอุดลำไส้ ทำให้ท้องผูก

      • โรคอื่นๆ ที่พบบ่อยได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีอาการถ่ายผิดปกติ ส่วนใหญ่จะถ่ายยาก ถ่ายลำบาก เข้าเกณฑ์ท้องผูก

เมื่อท้องผูกจะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างไรบ้าง
     โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากท้องผูกพบได้หลายแบบ โดยโรคแทรกซ้อนที่ชัดเจนคือ ริดสีดวงทวาร เกิดจากการเบ่งอุจจาระแรงๆ บ่อยๆ นอกจากนี้การมีอุจจาระค้างที่ปลายทวารนานๆ ยังส่งผลให้ลำไส้ใหญ่เป็นแผลได้อีกด้วย ก้อนอุจจาระที่แข็งเกินไปอาจทำให้ทวารหนักฉีกขาดเป็นแผล

      ในกรณีที่ท้องผูกเรื้อรังเป็นระยะเวลานานมากๆ พบว่าลำไส้ใหญ่จะขยายตัวจนไม่สามารถบีบรัดได้เต็มที่ กลายเป็นโรคลำไส้ใหญ่พองตัวไม่ทำงาน อาจพบ โรคลำไส้มีรูพรุน นอกจากโรคแทรกซ้อนตามที่กล่าวมา ท้องผูกยังทำให้หลายคนติดการสวนอุจจาระซึ่งพบได้บ่อยมาก เพราะเมื่อสวนแล้วอุจจาระออกมาจะรู้สึกสบาย แต่ถ้าทำบ่อยๆ จะทำให้ติด หากไม่สวนก็ถ่ายไม่ออก ในขณะที่มีอีกจำนวนหนึ่งที่ติดยาถ่าย ต้องรับประทานเป็นประจำเพื่อบีบให้อุจจาระออกมา และไม่ถ่ายอุจจาระเองถ้าไม่กินยา และเกิดลำไส้อักเสบเรื้อรังจากยาถ่าย

คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาท้องผูก

      • ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสท้องผูกมากขึ้น
      • ผู้หญิง มีโอกาสท้องผูกมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า
      • ผู้ด้อยการศึกษาหรือมีฐานะยากจน เพราะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพได้น้อยกว่าคนอื่นๆ จึงมีโอกาสท้องผูกมากกว่า
      • ผู้ที่ได้รับใยอาหารไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มน้ำน้อย
      • ผู้ที่ออกกำลังกายน้อย
      • ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก

การวินิจฉัย
      แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อแยกว่าอาการท้องผูกที่เกิดขึ้นเป็นโรคอื่นหรือไม่ เช่น โรคทางสมองและระบบประสาท โรคที่เกิดจากทางเดินอาหารตีบ หรือเกิดจากยารักษาโรคอื่นๆ หากไม่มีสัญญาณอันตรายใดๆ เป็นเพียงแค่อาการท้องผูกทั่วไป แพทย์อาจจะให้ยารักษาเท่าที่จำเป็น รวมทั้งให้คำแนะนำในการปรับอาหารและชีวิตประจำวัน ในกรณีที่เป็นอาการท้องผูกที่เกิดจากโรคอื่น ก็มุ่งไปที่การรักษาโรคนั้นๆ แต่ถ้าพบว่ามีสัญญาณอันตรายร่วมด้วย ก็จะต้องทำการตรวจพิเศษเป็นขั้นตอนต่อไป สัญญาณอันตรายดังกล่าว ได้แก่

      • อ่อนเพลีย ซีดลง เพราะเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าต้องมีแผลอะไรบางอย่างที่ทำให้ร่างกายเสียเลือดเรื้อรัง
      • อุจจาระมีเลือดหรือมีการเปลี่ยนแปลงจากถ่ายเหลวเป็นก้อน จากถ่ายก้อนเป็นเหลว สลับไปมา
      • น้ำหนักลด
      • อายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
      • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

      ดังนั้นเมื่อพบสัญญาณอันตราย อย่ารอช้า ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด สำหรับใครที่มีอาการท้องผูกมานานกว่า 6 เดือน แต่ไม่มีสัญญาณอันตรายดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในข่ายร้ายแรง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

การรักษา
      • การรักษาเบื้องต้น เมื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆไปแล้วโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย หากพบว่าอาการท้องผูกเกิดจากยาที่รับประทาน แพทย์จะให้หยุดยาชนิดนั้นก่อน จากนั้นจึงรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยารักษาและให้คำแนะนำเรื่องอาหารและการปรับพฤติกรรม ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรทำการตรวจด้วยการส่องลำไส้ใหญ่ หรือทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม

      • การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ
      - การตรวจการเคลื่อนตัวลำไส้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูล (ข้างในไม่ใช่ยาแต่เป็นสารทึบรังสี) เมื่อรับประทานเข้าไป แคปซูลจะแตกเป็นเม็ดเล็กๆ หากเอกซเรย์ดูจะเห็นเป็นจุดขาวๆ แพทย์จะตามดูการเคลื่อนตัวของเม็ดเล็กๆ เหล่านี้ ด้วยการตรวจด้วยเอกซเรย์ เพื่อตรวจการเคลื่อนตัวของลำไส้
      - การวัดการขับบอลลูน วิธีการตรวจทำโดยใส่บอลลูนเข้าไปทางทวารหนัก เป่าลมเข้าไป ดูว่าผู้ป่วยจะปวดถ่ายเมื่อไหร่ แล้ววัดความดันลมที่เป่าเข้าไปจนกระทั่งผู้ป่วยปวดถ่ายว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ถ้าเป่าลมเข้าไปจนเกินแล้วยังไม่ปวด แสดงว่าปลายทวารหนักมีปัญหาการขับถ่าย
      - การตรวจการเบ่งอุจจาระ เพื่อดูความปกติของการเบ่งอุจจาระ โดยการสวนสารทึบแสงข้าทวารหนัก และเอกซ์เรย์ดูการเบ่งขณะที่เบ่งอุจจาระ
      - การวัดการบีบตัวของทวาร เพื่อดูการทำงานของลำไส้ใหญ่และทวารหนักว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่

คนที่ท้องผูกควรเริ่มต้นดูแลอย่างไรด้วยตนเอง
     • อันดับแรกคือ อย่าอั้นอุจจาระ เมื่อปวดให้ถ่ายทันที และควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา แนะนำให้นั่งถ่ายตอนเช้าประมาณ 5-10 นาที เบ่งเบาๆ (ไม่ออกไม่เป็นไร) ฝึกทุกวันให้เป็นนิสัย
      • ควรดูแลตัวเองให้ได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอ ในชีวิตประจำวันอาจได้รับใยอาหารจากอาหารที่รับประทานเข้าไปไม่เพียงพอ สามารถรับประทานใยอาหารเสริมเพิ่มเติมได้ แต่ควรเลือกใยอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งนี้อย่าคาดหวังว่าใยอาหารจะทำให้ท่านดีขึ้นทันที ต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน จึงจะได้ผล
      • ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อให้ลำไส้บีบตัวได้ดี
      • ดื่มน้ำมากๆ อาจช่วยได้บ้างในกรณีของคนที่ท้องผูกเนื่องจากดื่มน้ำน้อย
      • ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ เพื่อรับยาเท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขอาการ

สรุป
      การไม่ถ่ายอุจจาระทุกวันไม่ใช่อาการท้องผูก และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในร่างกาย แต่ถ้าอยู่ในข่ายท้องผูกและมีสัญญาณอันตราย เช่น ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อุจจาระมีเลือดปน อายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ทุกคนควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารและดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นวิธีป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกอย่างได้ผล

 

นพ.จรินทร์ โรจน์บวรวิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_152.html