Make Appointment

น่าแปลก ทำไมนักฟุตบอลเสียชีวิตคาสนามกันมากนะ (Men's Health)

08 Sep 2016 เปิดอ่าน 1795

หลาย ๆ คนที่เป็นทั้งคอบอลหรือแม้แต่ดูบอลไม่เป็น น่าจะเคยได้ยินข่าวเรื่องนักฟุตบอลเสียชีวิตในระหว่างการแข่งขันเนื่องจากหัวใจล้มเหลวอยู่บ้าง ฟังดูแล้วก็น่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อยว่าทำไมนักฟุตบอลซึ่งเป็นผู้ที่ต้องออกกำลังกายเป็นประจำเสมออยู่แล้ว ถึงเป็นโรคหัวใจกันมาก ทั้งที่บางคนไม่มีประวัติเคยเป็นโรคร้ายนี้มาก่อนด้วยซ้ำไป ดังนั้น วันนี้เราจึงนำเรื่องราวที่น่าสนใจนี้มาตีแผ่ให้ทราบกัน

สาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเสียชีวิต

          สาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเสียชีวิตมักเกิดจากปัญหาของหัวใจ โดยส่วนใหญ่เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบนำคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้นักกีฬาเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก ก่อนจะเสียชีวิตลง โดยจำนวนเกินครึ่งของนักกีฬาที่เสียชีวิตไม่เคยมีอาการเตือนมาก่อน ซึ่งเหตุการณ์การเสียชีวิตจากโรคหัวใจในนักกีฬานั้นถือว่าน้อยมาก กล่าวคือพบแค่ 2 คนในนักกีฬา 100,000 คน แต่เนื่องจากคนเหล่านี้อายุยังน้อย หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ จึงเป็นเรื่องที่สะเทือนใจสำหรับคนทั่วไป

 กล้ามเนื้อหัวใจมีปัญหาอย่างไรถึงทำให้มีอาการ

          ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือระบบการนำคลื่นไฟฟ้าทำงานมีปัญหา ก็จะมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต นำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง ซึ่งกลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำให้เกิดปัญหาในนักกีฬานั้นเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ ในแง่ของการวินิจฉัย แพทย์ต้องอาศัยข้อมูลหลายด้านมาประกอบกัน เพราะในนักกีฬาที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็มีการหนาตัวขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยที่ไม่เป็นโรคได้เช่นกัน

          การออกกำลังกายอย่างหนักอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลร่วมด้วย เช่น การเสียสมดุลของระดับเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระดับโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำ การใช้สารเสพติด การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่มากผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดอาการจะทำให้มีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ

โดนกระแทกบริเวณหน้าอกก็ทำให้หัวใจวายได้

          มีภาวะหนึ่งที่เรียกว่า คอมโมติโอ คอร์ดิส ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ จากการถูกกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณทรวงอกด้านหน้า ซึ่งในกีฬาฟุตบอลอาจไม่ค่อยพบ แต่มักพบในกีฬาชนิดอื่น ๆ อาทิ กีฬาต่อสู้ เบสบอล ฮอกกี้ เป็นต้น ซึ่งนอกจากเกิดการโดนกระแทกแล้ว ช่วงเวลาที่ถูกกระแทกต้องเป็นเสี้ยววินาทีที่จำเพาะมากจริง ๆ ของจังหวะการเต้นของหัวใจพอดี เรียกได้ว่าต้องดวงตกด้วยนั่นเอง

 วิธีป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในนักกีฬา

          สิ่งสำคัญในการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคหัวใจคือ การตรวจคัดกรองนักกีฬา ก่อนการฝึกซ้อมหรือก่อนการเซ็นสัญญา ซึ่งการตรวจนี้ไม่ได้จำเพาะเฉพาะเรื่องโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาวะอื่น ๆ โดยที่การคัดกรองปัญหาของหัวใจนั้นต้องพิจารณาจากประวัติของนักกีฬา การตรวจร่างกาย และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งนักกีฬาที่มีโรคหัวใจอาจเคยมีอาการผิดปกติระหว่างการเล่นกีฬามาก่อน เช่น หน้ามืด หมดสติ ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น อีกทั้งอาจพบประวัติการเสียชีวิตจากโรคหัวใจของสมาชิกในครอบครัว

 จะช่วยชีวิตนักกีฬาได้อย่างไร

          สิ่งสำคัญมากที่สุดคือการเตรียมทีมแพทย์ที่อยู่ข้างสนามให้พร้อม เพื่อที่จะได้รีบเข้าไปช่วยเหลือนักกีฬาได้ทันท่วงที สำหรับในประเทศไทยที่การแข่งขันกีฬาอาชีพกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ความพร้อมทางการแพทย์ในสนามแข่งขัน เพราะถึงแม้ปัญหาในลักษณะนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจหมายถึงชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้

          ปัจจุบันมีอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือที่มีชื่อย่อว่า เครื่องเออีดี (AED) ซึ่งหลักการจะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจที่ใช้ในโรงพยาบาลอย่างที่เรามักจะเห็นในละครทีวี เครื่องเออีดีมีขนาดเล็กสามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย การใช้งานจะมีแผ่นนำไฟฟ้ามาแปะไว้ที่ทรวงอกของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจพบแล้วจะบอกเลยว่าผู้ป่วยมีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะหรือไม่ โดยมีเสียงพูดออกมาด้วย และหากจำเป็นต้องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าก็สามารถทำได้ง่ายโดยกดปุ่มที่เครื่อง ทำให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วสามารถใช้เครื่องนี้ได้ปัจจุบันในสนามบินนานาชาติทุกแห่ง รวมทั้งสนามกีฬานานาชาติชั้นนำ มักจะมีเครื่องนี้ติดตั้งกันไว้แล้ว

          ทั้งนี้การกระตุ้นหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านบุคลาการ และเครื่องมือทางการแพทย์นี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้

เรื่อง ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://fb.kapook.com/men-46155.html