“น้องซัน....เช้านี้ฉี่รดที่นอนอีกแล้วลูกแม่”
ผ้าปูที่นอนเปียกชุ่ม กับเจ้าตัวน้อยวัยประถมเป็นเรื่องที่เกิดบ่อยกับหลายๆ ครอบครัว บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามปัญหามองดูเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากเลยวัยมาแล้ว การฉี่รดที่นอนบ่อยๆ ถือเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ลูกน้อยอาจมีปัญหาและความผิดปกติของร่างกายและจิตใจก็เป็นได้
ปัสสาวะรดที่นอนในเด็กถือว่าผิดปกติหรือไม่
แพทย์หญิง เสาวนีย์ พิชัยรักษ์พร แพทย์ผู้ช่วยอาจารย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วการปัสสาวะรดที่นอนนั้นเป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งจะถือว่าเป็นความผิดปกติก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นในเด็กที่ควรจะควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะได้แล้วแต่เด็กยังคุมไม่ได้ (คือเป็นในเด็กที่มีอายุอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป) โดยที่การปัสสาวะรดที่นอนนั้นเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกัน 3 เดือน และไม่ได้เป็นผลมาจากการใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุเฉพาะของการเกิดปัสสาวะรดที่นอน แต่น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่
- พันธุกรรม ซึ่งพบว่าภาวะปัสสาวะรดนั้นมีอุบัติการณ์เกิดซ้ำในครอบครัวได้สูง
- ความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน ADH ( ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณปัสสาวะ)
- การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งบางรายอาจพบว่ากระเพาะปัสสาวะมีความสามารถในการกักเก็บปัสสาวะได้น้อยกว่าปกติ เด็กจะรู้สึกปวดปัสสาวะถึงแม้มีปริมาณปัสสาวะไม่มาก
- การนอนหลับ ภาวะปัสสาวะรดที่นอนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของวงจรการนอนหลับ และนอกจากนี้ยังพบว่าการปัสสาวะรดที่นอนนั้นมีความสัมพันธ์กับปัญหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วย(OSA)คืออุบัติการณ์ของปัสสาวะรดจะสูงขึ้นในเด็กที่มีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ ถ้ามีการรักษาภาวะ OSA ก็มีส่วนทำให้อาการปัสสาวะรดดีขึ้นได้
- มีความล่าช้าของพัฒนาการในการควบคุมการปัสสาวะ คือเกิดจากความล่าช้าของพัฒนาการของระบบประสาทการควบคุมความสามารถในการบังคับปัสสาวะ
- ท้องผูก อาจเป็นสาเหตุของปัสสาวะรดที่นอนได้โดยเกิดจากก้อนอุจจาระกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ความจุของกระเพาะปัสสาวะลดลง
- ภาวะทางจิตใจ ความเครียดอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการปัสสาวะรดเป็นมากขึ้นได้ หรือทำให้อาการกลับมาเป็นใหม่ในเด็กที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว แต่ปัญหาทางจิตใจนั้นไม่ใช่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดปัสสาวะรดที่นอน
ภัยร้าย จากการฉี่รดที่นอน
นอกจากนี้ แพทย์หญิง เสาวนีย์ พิชัยรักษ์พร ยังเตือนไปถึงพูดปกครองที่มีอยู่ยังอยู่ในภาวะฉี่รดที่นอนว่า การที่ลูกน้อยนอนชุ่มแฉะอยู่บนที่นอนบ่อยๆ อาจเกิดโรคที่อาจนำมาด้วยอาการปัสสาวะรดได้ เช่น : การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ/ความผิดปกติของโครงสร้างของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ/ โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน เบาจืด เป็นต้น/โรคของระบบประสาทที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการปัสสาวะ/ความผิดปกติของการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ เช่นความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการปัสสาวะ ซึ่งโรคต่างๆดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาจำเพาะ ฉะนั้น ถ้าผู้ป่วยมาด้วยปัสสาวะรดที่นอนก็ควรจะต้องแยกโรคเหล่านี้ออกไป
ตรวจอะไรบ้างถ้า หนูน้อยมาด้วยปัสสาวะรดที่นอน
สำหรับการตรวจวินิจฉัยสำหรับหนูน้อยวัยประถมที่ยังพบปัญหาฉี่รดที่นอนอยู่ แพทย์หญิงเสาวนีย์ พิชัยรักษ์พร กล่าวว่า ก่อนอื่นก็ควรจะต้องมีการซักประวัติในรายละเอียดของการปัสสาวะ เช่นในเรื่องของความถี่ ปริมาณ อาการที่พบร่วมอื่นๆ เช่น ปัสสาวะแสบขัด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ หรือมีปัสสาวะหยดซึม เป็นต้น นอกจากนี้อาจจะต้องถามถึงปัญหาการขับถ่ายอุจจาระ เช่น อาการท้องผูก เป็นต้น และควรจะต้องถามถึงปริมาณของน้ำที่เด็กดื่มในแต่ละวันด้วย และรายละเอียดของปริมาณน้ำที่เด็กดื่มในแต่ละช่วงวัน คือบางรายมีการดื่มน้ำมากในช่วงเย็นหรือก่อนเข้านอน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดปัสสาวะรดที่นอนได้มากขึ้น
- นอกจากซักประวัติแล้วก็ควรต้องตรวจร่างกายด้วย ต้องมีการตรวจหน้าท้อง เพื่อคลำหาก้อนในช่องท้อง
ตรวจบริเวณหลัง เพื่อดูลักษณะบ่งชี้ถึงความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการปัสสาวะได้ เช่น มีรอยบุ๋มที่ผิวหนังเหนือกระดูกสันหลัง เป็นต้น ต้องมีการตรวจระบบประสาท อย่างละเอียด เช่นดูความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การรับรู้ความรู้สึก เป็นต้น และที่สำคัญควรจะต้องตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศด้วยเพื่อมองหาความผิดปกติทางกายภาพ
- ซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้วก็ต้องมีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป โดยการส่งตรวจปัสสาวะ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ง่าย และสามารถแยกโรคได้หลายอย่าง เช่น เบาหวาน เบาจืด การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้
- ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ก็พิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่น ในรายที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ก็พิจารณาทำ ultrasound ไต ถ้ามีปัญหาหยุดหายใจตอนนอนก็พิจารณาส่ง sleep study เป็นต้น
ถึงแม้ว่าภาวะปัสสาวะรดที่นอนนั้นส่วนมากจะหายได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบทั้งต่อเด็กและครอบครัว ทั้งในด้านจิตใจและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ฉะนั้นเด็กที่มีปัญหานี้จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ แพทย์หญิง เสาวนีย์ พิชัยรักษ์พร มีเคล็ดลับช่วยลูกไม่ให้ฉี่รดที่นอนไว้ดังนี้
1.การให้ความรู้ แก่ผู้ปกครองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของพัฒนาการในการควบคุมการขับถ่าย โดยจะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เด็กไม่ได้แกล้งทำหรือจงใจทำ ฉะนั้นจึงไม่ควรลงโทษ หรือตำหนิ หรือล้อเลียน แต่ควรแสดงความเข้าใจ และเป็นกำลังใจ สนับสนุนในการรักษาของเด็ก
2.การปรับพฤติกรรมโดยใช้แรงจูงใจทางบวก คือ มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กจะได้รับเมื่อไม่ปัสสาวะรดที่นอน รวมทั้งสิ่งที่เด็กจะต้องปฏิบัติถ้าปัสสาวะรดที่นอน โดยให้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก เช่น เด็กจะได้ sticker ติดในปฏิทินเพื่อสะสมแลกรางวัลในวันที่ไม่ได้ปัสสาวะรดที่นอน แต่ถ้าปัสสาวะรดที่นอนก็ต้องเก็บผ้าปูที่นอนแล้วเปลี่ยนเอง
3.การใช้เครื่องปลุกเตือนปัสสาวะรด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบัน คือจะติดเครื่องมือซึ่งเป็นเครื่องที่มีขั้วไฟฟ้าติดไว้กับกางเกงในของเด็ก เมื่อปัสสาวะมาถูกขั้วไฟฟ้าจะทำให้มีสัญญาณดังขึ้น ปลุกเด็กตื่น การรักษาให้ได้ผลนั้นจะต้องใช้เครื่องมือนี้เป็นประจำสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลา 3-5 เดือน และหยุดใช้ได้เมื่อเด็กสามารถควบคุมไม่ให้ป้สสาวะรดได้ประมาณ 1 เดือน ในประเทศไทยเครื่องมือดังกล่าวยังใช้ไม่แพร่หลาย อีกทั้งมีราคาค่อนข้างสูง
4.การฝึกกระเพาะปัสสาวะ คือ ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ ในช่วงกลางวันและเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะให้เด็กฝึกกลั้นไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
5.ปรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยปรับให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้นในช่วงเช้าถึงบ่าย และลดการดื่มน้ำในช่วงเย็น โดยเฉพาะช่วง 2 ชม.ก่อนเข้านอนควรมีการจำกัดปริมาณน้ำ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน แอลกอฮอล์
6.การรักษาท้องผูก
7.การใช้ยา ซึ่งจะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่เด็กไม่ได้อยู่บ้าน ต้องไปอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เช่น เด็กไปเข้าค่าย เป็นต้น ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะปัสสาวะรดที่นอนนั้นมี 2 รูปแบบ คือยากินแบบเม็ด และยาพ่นจมูก ซึ่งการเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www2.manager.co.th/family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000077404