เดือนมีนาคม เป็นเดือนที่ทั่วโลกต่างพากันร่วมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ Blue Ribbon. Stop Colon Cancerหลายคนเริ่มเล็งเห็นความสำคัญและสนใจในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้นกันมากขึ้น แต่ก็มีอีกหลายต่อหลายคนอาจเริ่มมีอาการที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนไปสู่มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เป็นได้
ไอเกิล ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ ธวัช มงคลพร แพทย์อายุรกรรม โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มาให้ความรู้ เพื่อเท่าทัน และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาจารย์ธวัช ให้ความรู้ว่า ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยมากขึ้นในคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเองก็พบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ตามอุบัติการณ์ ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2012 ถ้าแบ่งเป็นเพศหญิง กับชายแล้ว ในเพศชาย มะเร็งปอดมาเป็นอันดับหนึ่ง อันดับที่สอง ได้แก่ มะเร็งสำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับมาเป็นอันดับสาม ส่วนในเพศหญิง มะเร็งเต้านมเข้าวินติดอันดับหนึ่ง อันดับสองตามมาด้วย มะเร็งปากมดลูก และอันดับสาม ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกแล้วค่ะ
ไม่ว่าจะมะเร็งลำไส้ใหญ่ อันดับสองในเพศชาย หรืออันดับสามในเพศหญิง ถือว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญไม่น้อยเลย นี่ถ้าเป็นนางงามได้ตำแหน่งรองอันดับหนึ่ง หรือรองอันดับสอง ก็คงจะเป็นที่น่าภูมิใจไม่ใช่น้อย เพราะหากอันดับหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ รองอันดับหนึ่ง และรองอันดับสองก็จะต้องขึ้นมาทำหน้าที่แทนตามลำดับ แต่นี่มันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ตำแหน่งอันดับสอง อันดับสามกันมานี่ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจเลยสักนิดว่าไหมคะ
เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่สามารถคัดกรองและเฝ้าระวังได้ ด้วยการส่องกล้อง ซึ่งในปัจจุบัน มีนวัตกรรมล้ำๆ และเทคนิคใหม่ๆ ที่สามารถตรวจ คัดกรองโรค และให้การรักษาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น เรียกว่า นวัตกรรม NICE (Narrow Band Image International Colorectal Endoscopic Classification) ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบก้อนเนื้อได้ในระยะเริ่มแรกแม้ก้อนเนื้อยังไม่นูนขึ้นมา ช่วยให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น จึงทำให้การรักษาแม่นยำขึ้นด้วย ย่นเวลาในการผ่าตัด ทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อน และถ้าตรวจพบความผิดปกติของลำไส้ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องผ่าตัดเกินความจำเป็น
ที่ผ่านมา แพทย์ใช้วิธีส่องกล้องทั่วไปโดยใช้แสงสีขาวในการส่องดูลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ทำให้ดูติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติไม่ชัดเจน ต่อมาได้มีการนำสีย้อมมาใช้กับกล้องส่องเพื่อให้เห็นรูปแบบของการวางตัวของเซลล์ในติ่งเนื้อได้ชัดเจนมากขึ้น แต่การใช้วิธีย้อมให้ติดสีใช้ระยะเวลานาน ล่าสุด จึงได้มีการพัฒนาเปลี่ยนสเปกตรัมของแสงที่ใช้ในการส่องกล้องให้แคบลงทำให้เกิดสีเขียวฟ้า ทำให้เห็นภาพเสมือนกับการย้อมสี จึงทำให้เห็นเยื่อบุลำไส้ที่สงสัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เห็นไหมล่ะคะว่าเทคโนโลยีเขาล้ำกันไปขนาดไหนแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้มะเร็งลำไส้ใหญ่เข้ามากล้ำกลายเราได้ง่ายๆ นะคะ
อาจารย์ธวัช กล่าวเสริมว่า “การส่องกล้องด้วยวิธี NBI ทำให้เห็นรูปแบบการเรียงตัวของเซลล์เนื้อเยื่อลำไส้ได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในสมัยก่อน นำไปสู่การแยกติ่งเนื้อว่าเป็นติ่งเนื้อธรรมดา ติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือเป็นติ่งเนื้อที่อยู่ในระยะเป็นมะเร็งแล้ว ซึ่งการเรียงตัวของเซลล์เนื้อเยื่อแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
ชนิดที่ 1 เซลล์เนื้อเยื่อของติ่งเนื้อยังมีการเรียงตัวปกติ ดังนั้น แพทย์จะเพียงเฝ้ารอดูไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดเพราะมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายน้อยมาก
ชนิดที่ 2 การเรียงตัวของเซลล์เนื้อเยื่อมีลักษณะเป็นเส้นคล้ายกับตาข่าย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ในอนาคต ดังนั้น แพทย์จะทำการตัดติ่งเนื้อออกทันที โดยใช้ขดลวดหรือมีดไฟฟ้าชนิดพิเศษ
ชนิดที่ 3 เซลล์เนื้อเยื่อมีลักษณะขยุกขยุยไม่เป็นระเบียบ ปรากฏลักษณะของเซลล์มะเร็ง กรณีนี้ แพทย์จะไม่ตัดติ่งเนื้อนี้ด้วยวิธีส่องกล้อง แต่จะต้องปรึกษาเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมต่อไป”
เพราะการส่องกล้องนั้นมีประโยชน์แบบนี้นี่เอง ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับโปรแกรมการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ขึ้นมา โดยดูว่าในลำไส้ใหญ่มีติ่งเนื้อหรือไม่ ถ้ามีก็ตัดทิ้งและนำชิ้นเนื้อมาตรวจก่อนที่จะเป็นมะเร็ง และหากเป็นมะเร็ง ก็จะพบว่าเป็นมะเร็งในระยะต้นๆ ซึ่งรักษาได้หายขาด เพราะโดยส่วนใหญ่มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเริ่มต้นจากติ่งเนื้อ (Polyp) ก่อน และเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ติ่งเนื้อนี้อาจกลายเป็นมะเร็งได้ พบบ่อยในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี จะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสิ่งที่น่าตกใจไม่น้อยเมื่อข้อมูลล่าสุดพบว่า 1 ใน 7 คน ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอายุน้อยกว่า 50 ปี ซึ่งตอนนี้ทางฝั่งอเมริกาเองก็กำลังสนใจในประเด็นนี้อยู่ และอาจจะเตรียมวางแผนที่จะให้เริ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แทนอายุ 50 ปี อย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
แต่สำหรับคนที่ในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือกลุ่มคนที่มีโรคบางโรคที่จะไปเพิ่มโอกาสเสี่ยง เช่น คนที่มีติ่งเนื้อโดยเฉพาะในลำไส้ใหญ่ คนที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังนั้น ควรมาทำการตรวจคัดกรองกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ อย่างถ้าคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้เอาอายุของคนที่เป็นมะเร็งในเครือญาติที่ใกล้ชิดติดกันลบด้วย 10 เช่น หาก คุณพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตอนอายุ 45 ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 35 เพราะฉะนั้น คุณลูกเมื่อมีอายุ 35 ปี ก็ควรทำการส่องกล้องเลย โดยไม่ต้องรอให้อายุถึง 50 ปี
สุดท้ายอาจารย์ขอฝากเคล็ดที่ไม่ลับในการปราบมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้อยู่หมัด “อยากให้ทุกคนหมั่นดูแลและสังเกตตัวเอง ว่ามีอาการปวดท้องเรื้อรังหรือไม่ ถ่ายผิดปกติไปจากเดิมหรือเปล่า มีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่ ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบมาพบหมอทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ลดการรับประทานอาหารประเภทสัตว์เนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ที่สำคัญใครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรมาทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง เพื่อป้องกันและรักษาได้ในคราวเดียวกัน การส่องกล้องอาจสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ก็จริง แต่โอกาสเกิดนั้นน้อยมากแค่ 1-2 คนใน 1,000 คน ถ้าอายุถึงแล้วก็ควรจะส่อง เพราะถ้าเจอมะเร็งในระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดก็มาก ค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่านะครับ”
เอ้า…เรามาช่วยกัน Blue Ribbon. Stop Colon Cancer ให้ได้อย่างที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเค้าทำกันแล้ว และมาช่วยกันลบสถิติของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่กันดีกว่าค่ะ เรื่องมะเร็งนี่อย่าให้ได้ติดอันดับกันเลยจะเป็นการดีที่สุดค่ะ
http://www.aiglemag.com/home/ปราบมะเร็งลำไส้ใหญ่