Make Appointment

ปัสสาวะเป็นเลือดในเด็ก

29 Nov 2016 เปิดอ่าน 22999

อาการเด็กปัสสาวะเป็นเลือด ไม่ได้เป็นโรคแต่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ตอนนี้ร่างกายมีความผิดปกติ ควรมาพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยกันต่อไปว่ามีองค์ประกอบใดร่วมอยู่บ้าง และมีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงไร มาดูสาเหตุของปัญหา เพื่อเข้าใจและดูแลลูกน้อยได้เหมาะสม

 รู้จัก เข้าใจอาการปัสสาวะเป็นเลือด

อาการปัสสาวะเป็นเลือดในเด็กเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นความผิดปกติทางปัสสาวะของเด็กที่พบได้บ่อย และเป็นหนึ่งในสาเหตุต้นๆ ที่ผู้ปกครองวิตกกังวลและพาเด็กมาพบคุณหมอ โดยทั่วไปมักจะพบภาวะนี้ในเด็กช่วงวัยเรียนประมาณ 5-15 ปีขึ้นไป พบได้น้อยมากในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี โดยจะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็ยังมีภาวะปัสสาวะมีเลือดปนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งภาวะหลังมักตรวจพบโดยบังเอิญ เป็นภาวะที่พบบ่อยกว่าภาวะปัสสาวะเป็นเลือดที่มองเห็นด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะภาวะใด ก็มักจะเป็นสาเหตุของความวิตกกังวลของพ่อแม่ถึงภาวะการทำงานของไตและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมา และอาจเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งในการหาโรคเดียวกันของบุคคลในครอบครัวร่วมด้วยได้

 สาเหตุของอาการ

 1. ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในเด็ก ซึ่งมีอาการหลักๆ ที่ช่วยในการสังเกต ดังต่อไปนี้

 

  • มีไข้
  • ปัสสาวะแสบขัด ปวดขณะปัสสาวะ
  • ปวดหลัง ซึ่งมักจะพบในเด็กโตมากกว่า
  • ปัสสาวะไม่สุด 
  • ปัสสาวะบ่อย

  นอกจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะแล้ว ยังสามารถแยกสาเหตุรองลงมา ได้แก่ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ, บาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศหรือตามระบบทางเดินปัสสาวะ, การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ, กรณีภาวะแคลเซียมออกมามากในปัสสาวะ, นิ่วตามทางเดินปัสสาวะ หรือความผิดปกติของเส้นเลือดที่ทางเดินหรือกระเพาะปัสสาวะเอง ซึ่ง 2 ภาวะหลังถือว่าพบในเด็กได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ยังไม่รวมภาวะไตอักเสบที่พบได้พอสมควรเช่นกัน และคุณหมอมักจะนึกถึงอยู่เสมอหากเกิดภาวะนี้ ก็คืออาการปัสสาวะเป็นเลือดหรือปัสสาวะแดง 

 ทั้งนี้ ต้องแยกจากสาเหตุอื่น ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือดที่ไม่ได้เกิดจากระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่

  • ภาวะปัสสาวะแดง เป็นเพียงการเปลี่ยนสีของปัสสาวะ ไม่ได้มีความผิดปกติของไต อาจเกิดจากอาหารที่เรารู้จักกันมากก็จะเป็น Beet root สีผสมอาหาร กลุ่มยาบางชนิด เช่น ยาต้านวัณโรคบางชนิด ยาขับเหล็ก ยาต้านมาเลเรียบางชนิด และกลุ่มยาเคมีบำบัด ซึ่งกลุ่มยานี้มักได้ประวัติที่ชัดเจนของการใช้ร่วมด้วย
  • โรคพันธุกรรม ที่เรียกว่า โรคพันธุกรรมทางเมตาบอลิก ซึ่งส่วนหนึ่งจะได้รับการคัดกรองแต่กำเนิด และโรคบางกลุ่ม ซึ่งมักมีประวัติ อาการร่วม และการตรวจร่างกายอย่างอื่นที่หมอสามารถแยกการวินิจฉัยได้
  • กลุ่มโรคเลือด มักพบในเด็กที่มีโรคประจำตัวทางด้านนี้อยู่ แต่อาจไม่ทราบหรือตรวจพบมาก่อน มาตรวจพบภายหลัง เช่น ธาลัสซีเมียบางกลุ่ม G-6-PD ที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงเมื่อมีภาวะเครียดของร่างกาย เช่น ไข้ การติดเชื้อในร่างกาย การได้รับอาหารหรือยาบางชนิด ซึ่งสองกลุ่มหลังนี้จะมีผลต่อผู้ป่วย G-6-PD ทำให้มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ปัสสาวะแดงเป็นเลือดได้ หรือแม้แต่ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดหรือเกล็ดเลือดเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งของปัสสาวะเป็นเลือดได้เช่นกัน กลุ่มนี้ถึงไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางไตและระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรงแต่ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อไต และทำให้เกิดไตวายฉับพลันได้ ซึ่งควรรีบมาพบหมอเช่นกัน

 2. ระบบทางเดินปัสสาวะและไต สามารถแยกหลักๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่มีภาวะฉุกเฉิน เป็นกลุ่มที่มีไตอักเสบฉับพลัน โดยเด็กมักจะมีภาวะตาบวม ขาบวม หรือตัวบวม ร่วมกับความดันโลหิตสูง และการทำงานของไตที่แย่ลง ซึ่งกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพราะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ชักจากความดันโลหิตสูง และสามารถเกิดไตวายฉับพลันที่ต้องการการล้างฟอกไตฉับพลัน และการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังต่อไป
  • กลุ่มที่ไม่ฉุกเฉิน ในกลุ่มนี้ สามารถใช้สีปัสสาวะมาช่วยในการแยกแบบง่ายๆ ได้แก่ 

ปัสสาวะเป็นเลือดสีแดงสด กลุ่มนี้มักบ่งชี้ว่ามีเม็ดเลือดแดงหรือเลือดออกมาจากระบบทางเดินปัสสาวะและบริเวณข้างเคียงโดยตรง ซึ่งสามารถมาจาก ท่อเปิดของทางเดินปัสสาวะ, ท่อทางเดินปัสสาวะ, กระเพาะปัสสาวะ, ท่อไตซึ่งต่อระหว่างไตและกระเพาะปัสสาวะ และกรวยไต สาเหตุตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ 
  • ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • บาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศหรือตามระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ สาเหตุนี้ทั้งจากการบาดเจ็บโดยตรงที่รุนแรง หรือในกลุ่มที่มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด เมื่อได้รับการกระทบโดยตรงก็จะทำให้มีเลือดออกในปัสสาวะได้ 
  • กรณีภาวะแคลเซียมออกมาในปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • นิ่วตามทางเดินปัสสาวะ 
  • ความผิดปกติของเส้นเลือดที่ทางเดินหรือกระเพาะปัสสาวะ
  • ก้อนเนื้อร้ายในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งในเด็กถือว่าพบน้อย

ปัสสาวะออกสีน้ำตาล, สีโค้กหรือสีน้ำล้างเนื้อ กลุ่มนี้มักเกิดจากความผิดปกติที่ไตจากไตอักเสบชนิดฉับพลันหรือเรื้อรังซึ่งได้แยกจากกลุ่มที่มีภาวะฉุกเฉินมาแล้ว กลุ่มนี้มีทั้ง ไตอักเสบทางพันธุกรรม ไตอักเสบที่ทราบสาเหตุ เช่น ไตอักเสบหลังการติดเชื้อ และไตอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อผลการทำงานของไต ซึ่งจะมีกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถดำเนินโรคไปสู่ภาวะไตวายได้ และหมอต้องติดตามผู้ป่วยในระยะยาว รวมทั้งซักประวัติและตรวจเพิ่มเติมทั้งผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวตามที่ผลการตรวจชี้นำ

 Running or March Haematuria  เป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลหรือสีโค้ก โดยที่ไตไม่ได้มีการอักเสบ พบในเด็กโตจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่เล่นกีฬาที่มีการซ้อมหรือออกกำลังอย่างหนักซ้ำๆ เช่น Jogging คาราเต้ เด็กนักเรียนที่ฝึกวิชาทหาร การฝึกตีกลองวงดุริยางค์ กลุ่มนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากการบาดเจ็บของเม็ดเลือดแดงในเส้นเลือดฝอยส่วนปลาย มักเป็นมือหรือเท้าซ้ำๆ อย่างรุนแรง ทำให้มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงส่งผลให้มีสีปัสสาวะแดง มักจะเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 วัน มีการพยากรณ์โรคดี ไม่มีผลเสียต่อการทำงานของไต อย่างไรก็ตาม ก็มีการศึกษารายงานผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายฉับพลันได้ 
 

สรุป

ดังนั้น ควรมาพบคุณหมอ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย เพื่อแยกภาวะที่เป็นอันตรายและเพื่อการดูแลติดตามใกล้ชิด ส่วนการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการหรือการหาสาเหตุ มักขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีประวัติและการตรวจร่างกายสนับสนุนหรือเข้าได้กับภาวะใด ซึ่งเบื้องต้น ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจปัสสาวะเพื่อดูลักษณะเม็ดเลือดแดงและความผิดปกติร่วม การตรวจเพาะเชื้อปัสสาวะ การตรวจปริมาณหรืออัตราส่วนแคลเซียมในปัสสาวะ การตรวจเลือดโดยทั่วไปและจำเพาะต่อโรคที่คิดถึง รวมทั้งค่าการทำงานไต และอัลตร้าซาวด์ร่วมในกรณีที่สงสัยลักษณะโครงสร้างไตที่ผิดปกติหรือนิ่วร่วมด้วย ส่วนการสืบค้นอื่นเพิ่มเติมก็ขึ้นกับหลักฐานที่สนับสนุนเบื้องต้นว่า บ่งชี้ให้นึกถึงสาเหตุใด

          สำหรับการรักษาจะเห็นได้ว่าสาเหตุของภาวะนี้มีมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า เหตุของโรคคืออะไรและรักษาจำเพาะตามสาเหตุนั้น 

 

 บทความโดย พ.ญ.นันทิยา ประวิทย์สิทธิกุล กุมารเวชกรรม โรคไตเด็ก