ผื่นผ้าอ้อม คือผื่นที่ขึ้นในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากการสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ
ระบาดวิทยา
ผื่นผ้าอ้อมพบได้บ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 3-18 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่สวมใส่ผ้าอ้อมมากกว่าวัยอื่น เมื่อเด็กเลิกใส่ผ้าอ้อมก็จะพบผื่นผ้าอ้อมลดลงเรื่อย ๆ พบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
สาเหตุ
สาเหตุของผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากสารสัมผัสมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญสุดคือความเปียกชื้น จากการที่ผิวหนังในบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมสัมผัสกับปัสสาวะและ/หรืออุจจาระเป็นเวลานาน ๆ หนังกำพร้าจะเปื่อย เมื่อมีการเสียดสีกับผ้าอ้อม และถูกสารระคายเคืองโดยเฉพาะเอนไซม์จากอุจจาระทำให้ผิวหนังมีภาวะเป็นด่างเพิ่มมากขึ้น แล้วถูกทำลายได้ง่าย ในระยะแรกที่เริ่มเป็นผื่นเกิดจากการระคายเคือง เมื่อผื่นเป็นหลายวันอาจมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนจุลชีพประจำถิ่น ร่วมกับภูมิต้านทานที่ผิวลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณนี้ได้ง่ายขึ้นทั้งจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
อาการ
ผื่นผ้าอ้อมจากการสัมผัสสารระคายเคืองจะขึ้นเป็นผื่นแดงตามส่วนนูนที่สัมผัสกับผ้าอ้อมที่เปียกชื้น ได้แก่ บริเวณต้นขาด้านใน ก้น ท้องน้อยและบริเวณอวัยวะเพศ
อาการที่พบส่วนใหญ่รุนแรงไม่มาก ผิวหนังจะมีผื่นแดงน้อย ๆ ถ้าอาการรุนแรงปานกลาง ผื่นจะแดงมากขึ้น ขนาดและรอยถลอกกว้างขึ้น เด็กเริ่มมีอาการเจ็บ เมื่ออาการรุนแรงมาก ผื่นจะแดงจัด อาจเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง รอยถลอกอาจขยายเป็นบริเวณกว้าง หรือกลายเป็นแผลลึก ทำให้เด็กมีอาการเจ็บ งอแง ไม่สบายตัว และปัสสาวะลำบากได้
ในรายที่เป็นผื่นมานานเกิน 3 วัน อาจมีการติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการของผู้ป่วย โดยต้องแยกจากโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดในตำแหน่งนี้ ได้แก่ โรคติดเชื้อแคนดิดา, ผื่นแพ้ชนิดอื่น, สะเก็ดเงิน, ผดร้อน, ผื่นจากการเสียดสีตามซอกพับ (intertrigo), การติดเชื้อแบคทีเรีย, หิด และภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น
การดูแลผื่นผ้าอ้อม
หลักการดูแลผื่นผ้าอ้อมจากการสัมผัสที่ดีที่สุดคือควรป้องกันไม่ให้เกิดผื่นเป็นสิ่งที่ดีกว่าปล่อยให้เกิดผื่นขึ้นแล้วจึงให้การรักษา การป้องกันสามารถทำได้โดยดูแลผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมอย่างถูกต้อง แนะนำให้ผู้ปกครองทำความสะอาดผิวเด็กด้วยน้ำเปล่าก็เพียงพอ เพราะสามารถที่จะชำระล้างปัสสาวะออกได้ อาจใช้สบู่อ่อนของเด็กที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนใกล้เคียงผิวหนังล้างเฉพาะบริเวณที่เปื้อนอุจจาระ หลังจากนั้นใช้น้ำล้างสบู่ออกให้หมด แล้วซับด้วยผ้าเบา ๆ ให้แห้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้แป้งเด็กทาผิวเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
นอกจากนี้ผู้ปกครองควรพยายามดูแลให้ผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมให้แห้งอยู่เสมอโดยหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ ทุกครั้งที่ทราบว่าผิวเปียกชื้น โดยเฉพาะหลังจากที่เด็กขับถ่าย ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสกับสารเคมีจากอุจจาระ ปัสสาวะ และสารเคมีอื่น ๆ ได้ด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรปล่อยให้ผิวหนังทารกได้สัมผัสอากาศบ้าง ไม่ปิดอับอยู่ในผ้าอ้อมตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังจากที่เด็กขับถ่ายใหม่ ๆ เพราะจะยังไม่ถ่ายอีกในทันที
หลังจากทำความสะอาดผิวแล้วแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวทาบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมก่อนใส่ผ้าอ้อมใหม่ เป็นการป้องกันไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับสารเคมี ความชื้นและช่วยลดลดการเสียดสี การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวหนังที่เหมาะสมจะช่วยลดผื่นบริเวณนี้ได้
การเลือกผ้าอ้อม
การใช้ผ้าอ้อมถือเป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กทารกอย่างมาก การเลือกชนิดผ้าอ้อมมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดผื่นได้ ถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปควรเลือกชนิดที่สามารถดูดซับความชื้นได้ดี (super-absorbent disposable diaper) โดยผิวด้านที่สัมผัสผิวหนังเด็กยังคงแห้งอยู่เสมอ วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยให้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปดูดซับความชื้นได้สูง มีการระบายอากาศได้ดี ทำให้ไม่อับ ผู้ปกครองควรเลือกขนาดผ้าอ้อมให้พอดีกระชับกับตัวเด็ก ถ้าขนาดเล็กมากจะเกิดการเสียดสีตามบริเวณขอบยางยืดรอบขาและเอว ผ้าอ้อมที่ขนาดใหญ่เกินไปไม่กระชับจะไม่สามารถเก็บอุจจาระและปัสสาวะที่ถูกดูดซับไม่หมดเอาไว้ได้ ทำให้รั่วออกไปปนเปื้อนภายนอก
การเลือกผลิตภัณฑ์ทาบริเวณที่ส่ผ้าอ้อม
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาเพื่อดูแลบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมจำนวนมาก ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน วิธีการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบริเวณนี้จึงมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการดูดซึมสารต่าง ๆ ได้สูงกว่าบริเวณอื่น เมื่อมีการใส่ผ้าอ้อมร่วมด้วยทำให้สภาพแวดล้อมเหมือนการถูกปิดทับ เกิดการดูดซึมสารเพิ่มมากขึ้น จึงต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติเพื่อหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถลดการเสียดสี ป้องกันการซึมผ่านของสารระคายเคือง มีประสิทธิภาพดี ช่วยปกป้องผิว ปลอดภัยสำหรับการใช้กับผิวทารก จะสามารถช่วยป้องกันและรักษาผื่นผ้าอ้อมได้ ข้อแนะนำที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้พิจารณาจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นว่ามีส่วนประกอบหลักเป็นสารใด รูปแบบการเตรียม (preparation) และคุณสมบัติอื่น ๆ
คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ทาบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมที่ดี ได้แก่
ส่วนประกอบหลัก ซึ่งแสดงอยู่ที่ฉลากของผลิตภัณฑ์นั้น ควรเป็นสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสมานผิว คล้ายสารให้ความชุ่มชื้นกับผิวหนังตามธรรมชาติ สามารถให้ความชุ่มชื้นที่เหมาะสม
รูปแบบผลิตภัณฑ์ ควรอยู่ในรูปขี้ผึ้ง (ointment) จะสามารถลดการเสียดสี ลดการสูญเสียน้ำออกไปทางผิวหนัง ป้องกันการซึมผ่านของสารระคายเคืองจากภายนอก และความเปียกชื้นโดยเฉพาะจากปัสสาวะและอุจจาระได้ดีกว่าครีมและโลชั่น
ความปลอดภัย ควรมีความปลอดภัยสูงสำหรับทารกซึ่งผิวหนังบอบบางและการดูดซึมสารที่มาสัมผัสสูงกว่าวัยอื่น โดยเฉพาะถ้ามีข้อมูลยืนยันว่าผ่านการทดสอบทางคลินิกแล้วจะเชื่อถือได้มากขึ้น
ส่วนประกอบอื่น ไม่ควรมีส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดอันตรายและการระคายเคืองต่อผิวของทารก เช่น สารที่อาจเป็นพิษ, น้ำหอม, สี, สารกันเสีย (preservative), รวมทั้งสารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็น
คุณสมบัติทางกายภาพอื่น ๆ เช่น ทาง่าย หลังการใช้แล้วควรล้างทำความสะอาดออกได้ง่าย
ส่วนประกอบหลักที่ใช้ทาเพื่อดูแลบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน สารที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลดีที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สังกะสี (zinc oxide), titanium oxide, และ dexpanthenol
Dexpanthenol
Dexpanthenol เป็นสาร pro-vitamin B5 เมื่อซึมผ่านผิวหนังเข้าไป จะถูกเปลี่ยนเป็น panthotenic acid (vitamin B5) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยในการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง การสร้างเส้นใยคอลลาเจนและการสร้างไขมันที่จะช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น เมื่อทาเคลือบที่ผิวหนังจะป้องกันการสัมผัสกับสารระคายเคืองจากภายนอกได้ดี เพราะ dexpanthenol ลดการสูญเสียน้ำอย่างพอเหมาะ กระตุ้นให้มีการสมานแผล รูปแบบของผลิตภัณฑ์ทำให้เคลือบผิวอยู่ได้นาน จึงป้องกันการสัมผัสกับสารระคายเคืองได้ดี แม้อยู่ในรูปขี้ผึ้งแต่สามารถทำความสะอาดล้างออกได้ง่าย จึงมีคุณสมบัติสามารถช่วยป้องกันผิวหนังไม่ให้เกิดผื่นผ้าอ้อมจากสารสัมผัสได้ และยังใช้ในการรักษาผื่นผ้าอ้อมที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วย โดยสามารถลดอาการแดงและการอักเสบของผิวหนังได้
เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ส่วนประกอบหลักเป็นสังกะสี ถ้าอยู่ในรูปแบบ paste คือ zinc paste จะติดผิวแน่น ล้างออกยากจนอาจทำให้ผิวหนังทารกถลอกได้
ยาทารักษา
เมื่อให้การดูแลป้องกันผิวอย่างดีแล้วยังมีผื่นเกิดขึ้นก็ควรได้รับการรักษา ถ้าเป็นผื่นแดงเพียงเล็กน้อยการใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้ผื่นดีขึ้นได้ ถ้าผื่นแดงอักเสบรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะเลือกใช้ยาทาภายนอกตามความรุนแรงของผื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ที่มีฤทธิ์อ่อน ทาบาง ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาการก็จะดีขึ้น ถ้าลักษณะผื่นผ้าอ้อมเกิดจากการระคายเคืองเพียงอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาทาฆ่าเชื้อ แต่ถ้ามีอาการแสดงถึงการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น เป็นเชื้อราก็ต้องให้รักษาการติดเชื้อนั้นด้วยผื่นจึงจะดีขึ้น ในกรณีที่มีสาเหตุอื่นที่อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้ เช่น ท้องเสีย ก็ต้องรักษาต้นเหตุนั้นด้วย ถ้าอาการเป็นมากหรือผู้ปกครองมีความวิตกกังวลควรปรึกษาแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทาเองเพราะอาจมีอันตรายได้
สรุป
การดูแลรักษาผิวหนังบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมอย่างถูกต้อง ควรทำความสะอาดและรักษาผิวหนังให้แห้งอยู่เสมอ เลือกผ้าอ้อมที่มีการดูดซับได้ดีแล้วหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เมื่อเปียกชื้น ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทาเคลือบผิวที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดอุบัติการณ์การเกิดผื่นบริเวณนี้ได้
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวาณี วิสุทธิ์เสรีวงศ์
*ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bepanthenthai.com/th/articles/diaper-dermatitis/