Make Appointment

ภาวะสมองเสื่อมและความจำถดถอย

21 Sep 2016 เปิดอ่าน 2037

ภาวะสมองเสื่อมเริ่มที่จะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขและทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพบได้ประมาณ 4% ในกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี และพบได้ถึง 20% ในกลุ่มอายุมากกว่า 85 ปี จะเห็นได้ว่ายิ่งอายุมากการเกิดภาวะสมองเสื่อมก็มากขึ้น ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการ แพทย์ได้เอื้อให้อายุขัยของมนุษย์มีเวลาที่ยาวขึ้น โรคเรื้อรังต่าง ๆ
สามารถรักษาและทำให้มีชีวิตยืนยาว ได้มากขึ้น ในประเทศไทยถ้านับย้อนกลับไปเมื่อ หลายทศวรรษที่ผ่านมาค่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยนั้นประมาณ 45-50 ปี แต่ในปัจจุบันพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของผู้ชายไทย ประมาณ 69 ปี และผู้หญิงประมาณ 71 ปี และนั้นเองทำให้พยากรณ์ได้ว่าในอนาคตอาจพบการเกิดภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย
ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

ภาวะสมองเสื่อมคือ ภาวะที่สมรรถภาพในการทำงานของสมองลดลง เช่นความสามารถในการจำลดลง การตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่แย่ลง ความชาญฉลาดไหวพริบที่ถดถอยไปจากเดิม อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติไม่สมเหตุผล การทำกิจวัตรประจำวันได้แย่ลง เป็นต้น โดยจะมีอาการที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงถดถอยเป็นเดือน ๆ ถึง ปี ซึ่งสาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อมนั้น มีได้หลายสาเหตุ

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

ในข้อมูลทางการแพทย์พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม มีดังต่อไปนี้

1.ความผิดปกติและเสื่อมสภาพของเซลล์สมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์

2.โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง

3.ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดร่วมกับโรคทางสมองอื่น ๆ เช่น โรคพาร์กินสันที่เป็นมาหลายปี โรคฮันติงตั้น เป็นต้น

4.ภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามิน b

5.โรคติดเชื้อทางสมองบางชนิด เช่น โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง วัณโรคขึ้นสมอง

6.ยา สุราและสารพิษ เช่น การใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การติดสุราและยาเสพติด การได้รับสารพิษเช่น ตะกั่ว คาร์บอนมอนนอกไซด์

7.โรคเนื้องอกหรือมะเร็งในสมอง

8.โรคเรื้อรังในระบบร่างกายอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคไตวาย โรคตับวาย เป็นต้น

9.โรคนอร์มอล เพรสเชอร์ ไฮโดรเซฟา ลัส (normal pressure hydrocephalus) เป็น โรคที่ขนาดของช่องน้ำในโพรงสมองใหญ่กว่าปกติแต่มีความดันในโพรงสมองปกติ ทำให้มีอาการเดินลำบาก มีอาการสมองเสื่อม กลั้นปัสสาวะ ไม่ได้

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าปัจจุบัน สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ อันดับรองลงมาคือ โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการภาวะสมองเสื่อมอาจมีความรู้สึกว่าจำอะไรได้แย่ลงโดยเฉพาะเรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การตัดสินใจแย่ลง หรือบางครั้ง ผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ผู้ใกล้ชิดอาจสังเกตได้ว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่นอารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่นโกรธง่าย หงุดหงิดง่าย พฤติกรรมผิดปกติ เช่น ถามเรื่องเดิม ๆ บ่อย ทำอะไรซ้ำ ๆ พูดถึงแต่คนที่คุ้นเคยในอดีต

มีการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลงในกิจวัตรประจำวัน เช่นเคยทำอาหารทุกวัน อาจเริ่มที่จะไม่ทำเหมือนเดิม เคยอ่านหนังสือทุกวัน เริ่มที่จะไม่อ่าน การดูแลตัวเอง เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน อาจทำด้วยตัวเองไม่ได้ การสื่อสารพูดคุยอาจคุยกันไม่รู้เรื่อง ถามอีกอย่างตอบอีกอย่าง

ถ้ามีอาการดังกล่าวควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม ความจำเสื่อมจริงหรือไม่ และหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

เมื่อมีอาการสงสัยภาวะสมองเสื่อมและได้พบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดเพื่อหาข้อมูลการดำเนินโรคและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความสำคัญมากในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปและระบบประสาท การทดสอบสมรรถภาพสมอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น การตรวจเลือด การตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หรือเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการทำเอกซเรย์อาจไม่จำเป็นต้องตรวจทุกรายขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยและการวินิจฉัยของแพทย์

หลักการรักษา

การรักษาภาวะสมองเสื่อมคงต้องรักษาที่สาเหตุ เช่น ถ้ามีสาเหตุจากการได้ยากดประสาท การหยุด ยาอาจทำให้ภาวะสมองเสื่อมดีขึ้น ได้ หรือสาเหตุสมองเสื่อมจากโรคไทรอยด์ต่ำ การรักษาโรคไทรอยด์ต่ำให้ปกติก็อาจทำให้ภาวะสมองเสื่อมกลับมาปกติได้ ส่วนสาเหตุที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ได้แก่ กลุ่มโรคความเสื่อมของเซลล์สมอง อย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง นั้นอาจเน้นไปในแนวทางการรักษาตามอาการมีทั้งการให้ยาและการปรับพฤติกรรม เพื่อชะลอความเสื่อมของสมองและลดภาวะโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจในการดำเนินโรค เพื่อให้พร้อมที่จะปรับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยและญาติให้สอดคล้องกัน และการดูแลเรื่องสุขภาพจิตเนื่องจากทั้งผู้ป่วยและญาติที่เผชิญกับภาวะนี้อาจมีทั้งความเครียด กังวล ซึมเศร้า ได้

การป้องกัน

ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาตามสาเหตุแล้วพบว่า ถ้าเราใช้ชีวิตดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เพียงพอ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีโทษต่อร่างกาย การปลอดจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่เครียด ไม่กังวลใช้สมองมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักศีลธรรมในการดำเนินชีวิตได้ดี ตั้งแต่กำเนิด จนถึงวัยชรา ก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมลดลงไปได้มาก

บทสรุป

ภาวะสมองเสื่อมนั้นแม้ว่าจะทำให้เกิดปัญหามากมายต่อการดำเนินชีวิตผู้ป่วยและญาติ จนอีกในไม่ช้าอาจเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ถ้าผู้ป่วยและญาติตลอดจนสังคมทุกฝ่ายมีความเข้าใจและให้ความสำคัญนั้น อาจทำให้การดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเป็นไปได้อย่างด้วยดีและมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลโดย นพ.กฤติ รื่นอารมณ์ อายุรแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2.

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://110.164.68.234/news_raja/index.php?mode=topicshow&tp_id=1401