Make Appointment

มะเร็งปอด

02 Sep 2016 เปิดอ่าน 4931

แม้ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่มะเร็งปอดก็สามารถหายได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม รวมถึงยังสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังที่ผู้อ่านจะได้เรียนรู้จากเรื่องนี้

     อย่างที่เราทราบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรไทย โดยหนึ่งในมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย คือ มะเร็งปอด (lung cancer) ซึ่งเป็นมะเร็งที่คนไทยเป็นมากเป็นอันดับ 3 โดยมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี ถ้าแบ่งออกตามเพศจะพบว่า เพศชายเป็นมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี ขณะที่ในเพศหญิงจะพบบ่อยเป็นอันดับ 4 รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร

ชนิดของมะเร็งปอด
     การแบ่งมะเร็งปอดออกเป็นกลุ่มๆ จะช่วยประเมินการดำเนินโรค และเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะกับมะเร็งปอดแต่ละชนิด เนื่องจากมะเร็งที่มีลักษณะทางพยาธิวิทยาแตกต่างกันจะมีวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน โดยมะเร็งปอดสามารถแบ่งออกได้กว้างๆ เป็น 2 ประเภทคือ

1. มะเร็งที่เกิดจากเนื้อปอดเอง (primary lung cancer) เป็นมะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อของปอด
ซึ่งมีการแบ่งชนิดย่อยออกไปตามลักษณะทางพยาธิวิทยาเป็น
     - มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non small cell carcinoma) เป็นมะเร็งปอดที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยชาวไทย คือ ประมาณร้อยละ 80 โดยยังสามารถแบ่งชนิดออกไปตามลักษณะที่ตรวจพบจากชิ้นเนื้ออีก เช่น adenocarcinoma, squamous cell carcinoma
     - มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell carcinoma) พบได้ประมาณร้อยละ 20 ของมะเร็งปอดที่พบในประชากรไทย
     - มะเร็งปอดชนิดอื่นๆ ที่พบไม่บ่อย เช่น carcinoid tumor ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีลักษณะเฉพาะและพบได้น้อย

      2. มะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น (metastatic lung cancer) เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีเลือดและน้ำเหลืองมาเลี้ยงเป็นปริมาณมาก ดังนั้นมะเร็งจากอวัยวะอื่นจึงมีโอกาสแพร่กระจายมาที่ปอดได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ การรักษามะเร็งปอดที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่นจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด แต่ส่วนมากมักจะแสดงว่า มะเร็งได้ลุกลามไปมาก และมักรักษาไม่หายขาดแล้ว

สาเหตุการเกิดมะเร็งปอด
      มะเร็งปอดเกิดจากเนื้อเยื่อที่แบ่งตัวผิดปกติ ทำให้มีการเติบโตของเนื้อเยื่อและลุกลามไปยังอวัยวะอื่น สาเหตุของมะเร็งปอดที่พบได้บ่อย คือ ร่างกายได้รับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งอย่างต่อเนื่อง โดยสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้กลไกการควบคุมการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์ของปอดมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติขึ้น ภาวะที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดของการเกิดมะเร็งปอด คือ การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด เนื่องจากในควันบุหรี่จะมีส่วนประกอบมากมายหลายชนิด และพบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogens) มากกว่า 62 ชนิด เช่น น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจึงมีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 10-20 เท่า ส่วนผู้ที่รับควันบุหรี่จากสิ่งแวดล้อม (second-hand smokers) ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่อย่างชัดเจน เช่น หญิงที่อาศัยอยู่กับสามีที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นร้อยละ 24 รวมถึงพบว่าผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดมากขึ้นเช่นกัน จากสถิติพบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของชายไทยที่เป็นมะเร็งปอดจะมีประวัติการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาก่อน ส่วนในเพศหญิงพบว่า ประมาณร้อยละ 50 มีประวัติสูบบุหรี่ ซึ่งการสูบบุหรี่น่าจะยังเป็นปัญหาสำคัญในการเกิดมะเร็งปอดของคนไทย เนื่องจากข้อมูลล่าสุดยังพบว่า คนไทยสูบบุหรี่มากกว่า 11 ล้านคน โดยร้อยละ 40 ของประชากรไทยเพศชายสูบบุหรี่ ส่วนในเพศหญิงถึงแม้ว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำประมาณร้อยละ 2 แต่ปัจจุบันวัยรุ่นทั้งหญิงและชายสูบบุหรี่มากขึ้น จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดในอนาคต

      นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดมากขึ้น ได้แก่ การได้รับแร่ใยหิน (asbestos) จากการหายใจ ซึ่งมักจะได้รับจากการทำงาน โรคเรื้อรังในปอดบางชนิด เช่น พังผืดในปอด (pulmonary fibrosis) แต่ภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุที่พบบ่อย

     ด้วยเหตุนี้ แนวทางสำคัญที่สุดของการป้องกันการเป็นมะเร็งปอด คือ การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการสัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง โดยการหยุดสุบบุหรี่จะทำให้ผู้ที่เคยสูบมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลดลงทันที เพียงแต่ว่าหากเป็นผู้ที่สูบมานานจะต้องใช้เวลาหลังเลิกบุหรี่ประมาณ 15-20 ปี กว่าที่ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดจะลดลงมาเท่ากับคนปกติที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะที่การหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองที่มักพบในที่ทำงานหรือสิ่งแวดล้อม และการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งปอดลงได้เช่นกัน

อาการแสดงของมะเร็งปอด
     อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะมะเร็งปอดจะเกิดจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ อาการที่เกิดเฉพาะที่ เกิดจากการที่มะเร็งปอดมีการขยายตัวขึ้นในปอด ซึ่งจะทำให้มีอาการระคายเคือง จึงมีอาการไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นก็จะรบกวนการทำงานของปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย นอกจากนี้ เมื่อมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ก็จะมีอาการแสดงเฉพาะของอวัยวะนั้น เช่น มีอาการปวดกระดูก ปวดศีรษะ เป็นต้น

      อย่างไรก็ตาม ในมะเร็งปอดระยะแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ไอเรื้อรัง หรือบางครั้งมีอาการไอเป็นเลือดเล็กน้อย เนื่องจากมะเร็งปอดยังมีขนาดเล็กอยู่และไม่ก่อให้เกิดอาการมากนัก แต่ที่สามารถตรวจพบว่ามีมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ส่วนมากจะเป็นการตรวจพบจากการตรวจภาพรังสีทรวงอก (การเอกซ์เรย์ปอด) ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าสังเกตว่ามีอาการผิดปกติของระบบหายใจ (โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เช่น มีประวัติสูบบุหรี่มานาน หรือมีประวัติรับควันบุหรี่มือสอง) มีอาการไอต่อเนื่องกันเกิน 3 สัปดาห์โดยไม่มีสาเหตุอื่น หรืออาการไอที่เป็นอยู่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ไอมากขึ้น หรือมีเสมหะปนเลือด หากเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยควรทำการปรึกษาแพทย์เสมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเหล่านั้น

     ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า การพยายามค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจร่างกายด้วยภาพรังสีจะช่วยให้พบมะเร็งได้เร็วขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติการสูบบุหรี่มาต่อเนื่อง แพทย์มักแนะนำให้มีการตรวจภาพรังสีทรวงอกอย่างน้อย 1 ครั้งทุกปี แม้ว่าความผิดปกติของภาพเอกซ์เรย์ไม่จำเป็นต้องเกิดจากมะเร็งปอดเสมอไป ซึ่งแพทย์จะมีแนวทางในการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว แต่ข้อมูลที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง คือ การเปรียบเทียบภาพเอกซ์เรย์ที่ทำใหม่กับภาพเอกซ์เรย์เดิมที่เคยทำไว้ เพราะจะทำให้แพทย์ทราบว่า มีความเปลี่ยนแปลงของรอยโรคที่พบในปอดหรือไม่ ดังนั้นการเก็บภาพเอกซ์เรย์ปอดที่เคยทำไว้เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันกับภาพเอกซ์เรย์ใหม่จะมีความสำคัญในการให้การวินิจฉัยของแพทย์เป็นอย่างมาก

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปอด
     การวินิจฉัยมะเร็งปอดจะเริ่มจากอาการของผู้ป่วยร่วมกับภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ ส่วนการยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งปอดควรจะต้องได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยการนำเนื้อเยื่อปอดบริเวณที่มีความผิดปกติมาตรวจ เพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เสมอ เนื่องจากอาการและภาพรังสีทรวงอกไม่มีความจำเพาะว่า จะต้องเป็นมะเร็งปอดเสมอไป การตรวจชิ้นเนื้อจึงมีความจำเป็นมากในการบอกว่าความผิดปกติที่ตรวจพบเกิดจากมะเร็งแน่นอนหรือไม่ และเป็นมะเร็งชนิดใด ซึ่งแนวทางในการนำเนื้อเยื่อมาตรวจทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดลม การใช้เข็มเจาะ หรือการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม หลังจากนั้นแพทย์จะมีการประเมินเพิ่มเติมว่า ขณะนั้นผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของโรคด้วยการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซ์เรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจกระดูก (PET scan) เพื่อจะประเมินระยะของโรค และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

แนวทางการรักษามะเร็งปอด
     การรักษามะเร็งปอดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ ชนิดของมะเร็งปอด ขอบเขตการกระจายของโรค และสภาพทั่วไปของผู้ป่วย โดยการรักษาหลักของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย คือ การผ่าตัดเอาปอดส่วนที่มีมะเร็งออกไป ซึ่งแพทย์จะประเมินก่อนการผ่าตัดว่า ผู้ป่วยมีสมรรถภาพปอดสมบูรณ์เพียงพอที่จะรับการผ่าตัดหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่า ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยมีสมรรถภาพปอดที่เพียงพอ การผ่าตัดถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงสุดถึงร้อยละ 60-70 แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากโรคมีการกระจายออกไปนอกขอบเขตของการผ่าตัด หรือผู้ป่วยไม่มีความพร้อมในการผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

      ส่วนการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก มักจะใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของมะเร็งปอดต่อการรักษาด้วยสองวิธีนี้มักไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในช่วงแรก แต่มีโอกาสที่โรคจะกำเริบมากขึ้นในอนาคต ส่วนผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดก็จะคล้ายคลึงกับยารักษามะเร็งอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดยาที่แพทย์เลือกใช้

      นอกจากนี้ปัจจุบันยังมียาชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่กลไกในเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย ก็เป็นวิธีการรักษาที่อาจจะเหมาะสมกับผู้ป่วยบางราย ซึ่งผู้ป่วยและญาติควรปรึกษาและหาข้อมูลจากแพทย์ผู้ให้การรักษาเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการรักษา รวมถึงยังมีส่วนประกอบที่สำคัญของการรักษามะเร็งปอดในระยะที่มีการกระจายของโรคไปแล้ว คือ การรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เช่น การให้ยาเพื่อลดอาการปวด การให้ออกซิเจนเพื่อลดอาการเหนื่อย เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด แม้จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ

* ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.healthtoday.net/thailand/disease/diisease_116.html