Make Appointment

มาทำความรู้จักกับ…โรคมะเร็งเต้านมให้มากขึ้นกันดีกว่า

17 Jan 2017 เปิดอ่าน 1925

โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่ามีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ  20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวันที่สำคัญพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีการเพิ่มมากขึ้นทุกปี สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้นไป โดยมีช่วงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ 35-55 ปี

มะเร็งเต้านม คืออะไร?

มะเร็งเต้านม เริ่มต้นเกิดจากความผิดปกติที่เซลล์จากเซลล์ เยื่อบุท่อน้ำนมส่วนปลายของเต้านม แบ่งตัวเพิ่มจำนวนแบบผิดปกติขึ้นจนโตเป็นก้อน กลุ่มของเซลล์มะเร็งดังกล่าวจะเติบโตแล้วลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นก็มีการลุกลามแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย มะเร็งชนิดนี้พบได้มากในเพศหญิงแต่ก็สามารถพบมากในเพศชายเช่นเดียวกัน

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พบมะเร็งเต้านมมากขึ้น แต่พบว่าความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามความเจริญของบ้านเมืองที่มากขึ้นด้วย นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้ชีวิต (life style change) ที่ออกไปในแนวใกล้เคียงกับประเทศตะวันตกกันมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันมากขึ้น ได้แก่ อาหารฟาสต์ฟูดทั้งหลาย การลดการบริโภคอาหารพวกผัก ผลไม้  การใกล้ชิดกับสารก่อมะเร็งมากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นมลพิษในท้องถนน สารปนเปื้อนในอาหาร มลพิษในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกิน การสูบบุหรี่  ดื่มเหล้า การเปลี่ยนแปลงของภาวะการเจริญพันธุ์ เช่น คนรุ่นใหม่มีประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วขึ้นกว่าเดิม การเป็นโสด ไม่มีบุตร หรือการตั้งครรภ์ครั้งแรกกันในอายุที่มากขึ้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง การใช้ยาคุมกำเนิด/ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยทองกันมากขึ้น เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงยุคใหม่ทั้งสิ้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม

  • เป็นเพศหญิง อายุ 40 ปี ขึ้นไป
  • ประวัติเป็นมะเร็งเต้านม โดยเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาแล้ว หรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
  • การใช้ฮอร์โมนเพศ ยาคุมกำเนิด
  • ไม่ได้แต่งงานหรือแต่งงานโดยไม่มีบุตร หรือคลอดบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี
  • อายุเมื่อเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก และอายุที่หมดประจำเดือน คือ เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย (50 ปี)
  • ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ผู้ที่มีฐานะดีจะพบมะเร็งเต้านมสูงกว่าเพราะมีโอกาสบริโภคอาหารหลากหลายที่ไม่มีผลดีต่อสุขภาพ หรืออาจเป็นผลจากความเครียดจากการทำงาน
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • เคยเป็นโรคบางชนิดของเต้านม
  • สตรีซึ่งหมดประจำเดือนแล้ว และมีน้ำหนักมาก

มะเร็งเต้านมสามารถป้องกันได้หรือไม่

โรคมะเร็งเต้านมยังไม่สามารถป้องกันได้

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือควบคุมได้

  1. ภาวะอ้วน :  ภาวะอ้วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน   ถึงแม้รังไข่จะหยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว  แต่ก็พบว่ายังมีปริมาณฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำที่ถูกสร้างจากเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย  ดังนั้นหากมีภาวะอ้วนก็จะทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยง    ภาวะอ้วนในผู้หญิงวัยที่มีประจำเดือนอยู่ไม่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง กลับกันความอ้วนอาจลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนได้
  2. อาหาร :  ควรบริโภคอาหารประเภท พืชผัก ผลไม้ ร่วมกับหลีกเลี่ยง อาหารประเภทไขมัน เนื้อสัตว์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
  3. การออกกำลังกาย  : แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสอ 45-60 นาที  4-5 วันต่อสัปดาห์
  4. การดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์
  5. การสูบบุหรี่
  6. การทานยาเม็ดคุมกำเนิด
  7. การทานเสริมฮอร์โมนในสตรีวัยทอง
  8. ความเครียด

การป้องกันวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม การทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เพื่อที่จะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

มะเร็งเต้านมมีอาการอย่างไรบ้าง ?

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนที่เต้านมมากที่สุด อย่างไรก็ตามอาจมีอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น มีของเหลวไหลออกจากหัวนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไหลออกจากเต้านมข้างเดียวและจุดเดียว และของเหลวที่ไหลออกมานั้นมีสีคล้ายเลือด อาการหัวนมบุ๋มข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาการเจ็บเต้านมก็อาจเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เนื่องจากส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งเต้านมมักจะไม่เจ็บ นอกจากนี้ก็จะมีผู้ป่วยบางรายที่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องมีแผลแตกที่เต้านม

การวินิจฉัย…มะเร็งเต้านม

การที่แพทย์จะทราบว่าท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น แพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยโรคโดย

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. การตรวจทางภาพวินิจฉัย เช่น การตรวจเต้านมโดยใช้แมมโมแกรมการตรวจโดยอัลตราซาวด์
  3. การตรวจทางพยาธิวิทยา คือ การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปทำการตรวจ

การตรวจเต้านม…มีประโยชน์อย่างไร ?

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน จะทำให้ท่านทราบว่าท่านมีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณเต้านมหรือไม่ หากท่านยังมีรอบเดือนอยู่ควรตรวจเต้านมในวันที่ 10 หลังจากมีรอบเดือนวันแรก เพราะเป็นวันที่เต้านมมีความตึงน้อยที่สุด ดังนั้นหากมีความผิดปกติในเต้านมจะมีโอกาสตรวจพบได้ง่ายที่สุด สำหรับท่านที่ไม่มีรอบเดือนไม่ว่าจะจากสาเหตุที่ตัดมดลูกไปแล้ว แต่ยังไม่ตัดรังไข่ หรือจากตัดทั้งมดลูกและรังไข่ หรือหมดรอบเดือนตามธรรมชาติ ท่านอาจจะตรวจทุกวันที่ 1 ของเดือน

การตรวจทางภาพวินิจฉัย

ใช้สำหรับค้นหามะเร็งเต้านม ซึ่งการตรวจที่สำคัญและใช้เป็นประจำ คือ การตรวจโดยใช้แมมโมแกรม และตรวจโดยอัลตราซาวนด์ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่การตรวจโดย 2 วิธีข้างต้นไม่สามารถบอกได้ อาจต้องใช้วิธีอื่นช่วย เช่น การตรวจโดยการเอกซเรย์สนามแม่เหล็กเอมอาร์ไอ (MRI)

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม…ทำได้อย่างไร ?

มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังคลำก้อนไม่ได้ และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และเนื่องจากยังไม่สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือ การตรวจวินิจฉัยให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งทำได้โดยการตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน การตรวจเต้านมโดยแพทย์ การทำแมมโมแกรม  และการตรวจโดยอัลตราซาวนด์ โดยมีข้อแนะนำการตรวจเต้านมดังนี้

  1. หากท่านอายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนและให้แพทย์ตรวจทุก 3 ปี
  2. หากท่านอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนและให้แพทย์ตรวจทุกปี และทำแมมโมแกรมทุกปี

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม แล้วมีวิธีการรักษามะเร็งเต้านมอย่างไรบ้าง ?

ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านม เป็นการรักษาแบบผสมผสาน มีทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การให้ยาต้านฮอร์โมน การรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ การรักษาจะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่จะใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่แล้วถ้ามาในระยะเริ่มต้นการรักษามักทำด้วยวิธีการผ่าตัดก่อน โดยเป้าหมายของการผ่าตัด

  1. การผ่าตัดเพื่อขจัดก้อนเนื้อร้ายที่เต้านม
  2. การผ่าตัดในส่วนของต่อมน้ำเหลืองรักแร้ที่อาจมีมะเร็งแพร่กระจายเข้าไป

ซึ่งการผ่าตัดมี…

วิธีที่ 1 คือ การตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ไปตรวจ (modified radical mastectomy) ถือเป็นมาตรฐานดั้งเดิมในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมอยู่ช่วงหนึ่ง ผู้ป่วยก็จะไม่มีหน้าอก คือ แบนราบ หลังผ่าตัด และมีอาการชาผิวหนังหน้าอกตรงที่เคยเป็นเต้านมอยู่ก่อน

วิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ โดยการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเหลือเต้านมที่ปกติเอาไว้ ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองไปตรวจซึ่งวิธีนี้จำเป็นต้องได้รับการฉายแสงร่วมด้วย ผลการรักษาจึงจะเท่ากับการผ่าตัดวิธีแรก ฉะนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมปัจจุบันไม่ต้องกังวลว่าจะต้องถูกตัดเต้านมทุกรายเพราะมีโอกาสที่จะผ่าตัดแบบเก็บเต้านมได้สูงมากขึ้น

ในปัจจุบันนี้เราพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นส่วนหนึ่ง จะยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ดังนั้นหากผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกหมดในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกคน ก็เท่ากับว่า มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งถูกผ่าโดยไม่จำเป็น และจะเกิดภาวะแทรกซ้อน คือแขนบวมตามมาได้ แนวคิดนี้เป็นที่มาของการตรวจต่อมน้ำเหลืองให้ทราบก่อนว่ามีเซลล์มะเร็งกระจายเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองรักแร้แล้วหรือยัง (sentinel lymph node biopsy) หากยังไม่แพร่กระจาย ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเลาะต่อมน้ำเหลืองออกมา หากพบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไปแล้ว  ก็จำเป็นต้องผ่าต่อมน้ำเหลืองออกมา

นอกจากการผ่าตัดที่มุ่งเน้นการรักษาโรคให้หายแล้ว ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการรักษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นมากด้วย ปัจจุบันมีการนำเทคนิควิธีการด้านศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม เพื่อให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดออกมาดีที่สุด   จึงมีวิธีการสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ในผู้ป่วยที่ต้องตัดเต้านมทั้งเต้า โดยการย้ายไขมันและกล้ามเนื้อบางส่วนจากบริเวณหน้าท้อง หรือสีข้างลำตัว  หรือการใช้ถุงซิลิโคนมาใส่บริเวณที่ผ่าตัดเต้านม ซึ่งจะกระทำไปพร้อมๆกับการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม  ทำให้ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยยังคงมีเต้านมที่มีรูปลักษณ์สวยงาม สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

การเสริมเต้านมจะทำให้มีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?

การเสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคน ซึ่งภายในอาจเป็นน้ำเกลือ หรือซิลิโคน ก็ตามไม่ได้ทำให้โอกาสของการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้นกว่าปกติ แต่จะเป็นปัญหารบกวนในการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวน์ เนื่องจากถุงเหล่านี้จะทำให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยลดลง เพราะฉะนั้นหากแพทย์ผู้วินิจฉัยสงสัยว่าผู้ที่เสริมเต้านมด้วยถุงซิลิโคนจะเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์ก็จะส่งไปตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติม

โดย : พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ

ขอบคุณบทความจาก : https://www.samitivejhospitals.com/th/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1/